“ไส้เดือนฉกจวัก” เพลงไทยสมัยกรุงศรีฯ ไพเราะจนร.6 เลื่อนชั้นเป็น “นาคราช”

ชื่อสัตว์หลายชนิดมีการหยิบยืมมาใช้ตั้งแป็นชื่อของเพลงไทยจำนวนมาก เช่น เต่ากินผักบุ้ง, ปลาทองเถา, จระเข้หางยาว, โหมโรงเต่าทอง, ค้างคาวกินกล้วย, ระบำงูกินหาง ฯลฯ แม้แต่สัตว์ที่น่าขยะแขยงอย่าง “ไส้เดือน” ก็ได้รับเกียรติให้มีชื่ออยู่ในทำเนียบเพลงไทย แถมยังเป็นเพลงที่ทั้งมีความไพเราะ และความเก่าแก่อีกด้วย ชื่อเพลงที่ว่านั้นมีชื่อเต็มว่า เพลงไส้เดือนฉกจวัก เพลงไทยเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเพลงสั้นๆ ร้องด้วยจังหวะเร็วๆ (ชั้นเดียว) นิยมใช้ในการแสดงละคร โดยเฉพาะเมื่อถึงบทโกรธแค้น ที่มาจากการตัดพ้อต่อว่า การปะทะคม ซึ่งชื่อของเพลงก็คงเป็นการตั้งล้อเลียนท่าทางของตัวละครนั่นเอง

เพลงไส้เดือนฉกจวัก ได้รับความนิยมมากกว่า 200 ปี ก็ถึงคราวเปลี่ยนชื่อใหม่

รัชกาลที่ 6 มีรับสั่งว่า เพลงไส้เดือนฉกจวัก นี้มีความไพเราะดีอยู่ แต่ชื่อไม่เพราะ จึงพระราชทานชื่อเสียใหม่ว่า เพลงนาคราช และเพลงนาคราชก็เหมือนเพลงไทยอื่นในวงการดนตรีของไทย ถ้าเห็นว่าเพลงใดมีความไพเราะก็จะนำเพลงนั้นมาทำให้มีความวิจิตรมากขึ้น

ในปี 2477 หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรในเวลานั้น แต่งละครประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งชื่อ “พระนเรศวรประกาศอิสรภาพ” ซึ่งต้องใช้เพลงไทยเก่าๆ บรรจุลงในบทร้อง ครั้งนั้นหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ต้องการเพลงไทยที่ท่วงทำนองคล้ายเพลงนาคราชนี้ แต่ไม่ต้องการจังหวะเร็วมาก (อย่างเพลงชั้นเดียว) จึงนำเพลงนาคราชชั้นเดียวของเก่ามายืดขึ้นเป็นจังหวะปานกลาง (อัตราสองชั้น) และเรียก เพลงนาคราช 2 ชั้น ที่ทำขึ้นใหม่ว่า เพลงนาคราชแผ่พังพาน

อีก 20 ปี (พ.ศ. 2497) หลวงประดิษฐไพเราะนำเพลงนาคราชแผ่พังพานมายืดขึ้นไปอีกหนึ่งเท่าตัว กลายเป็นเพลง 3 ชั้น ที่มีลีลาแช่มช้าแต่องอาจผึ่งผาย เมื่อนำมาบรรเลงต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากเพลง 3 ชั้น ต่อด้วย 2 ชั้น และจบลงที่เพลงชั้นเดียว ก็กลายเป็นเพลงนาคราชเถา ที่เสมือนถ่ายทอดลีลาของนาคราชที่เลื้อยอย่างช้าๆ แล้วจึงค่อยๆ เร็วขึ้นจนถึงที่สุด จึงตั้งชื่อเพลงเถานาคราชนี้ว่า เพลงนาคราชแผลงฤทธิ์

แม้เพลงไส้เดือนฉกจวักจะเปลี่ยนชื่อเป็นเพลงนาคราชมานานแล้ว แต่ก็ยังมีนักดนตรีบางส่วนนิยมเรียกชื่อเพลงนี้ว่า ไส้เดือนฉกจวัก เช่นเดิม แต่เมื่อเพลงนี้กลายเป็นเพลงเถาก็ไม่ได้เรียกว่า เพลงไส้เดือนฉกจวักเถา แต่เรียกว่า เพลงไส้พระจันทร์เถา โดยคำว่า “เดือน” นั้นเปลี่ยนมาใช้คำว่า “พระจันทร์” แทน

บทร้องของเพลงไส้พระจันทร์เถา หรือเพลงนาคราชแผลงฤทธิ์นี้ ตัดตอนจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนเณรแก้วจะเข้านอน แต่ด้วยคิดถึงนางพิมพิลาไลย จึงหยิบผ้าสไบที่นางถวายกัณฑ์เทศน์ออกมา แล้วก็คิดต่อไปว่าจะหาทางเขียนเพลงยางติดมือ เวลาไปบิณฑบาตก็จะเอาเพลงยาวติดไปแอบส่งให้นางพิมพิลาไลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล. “ไส้เดือนกับเพลงไทย” ใน,  สยามสังคีต พิมพ์ครั้งแรก 2524, สำนักพิมพ์เจ้าพระยา


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2563