พิธีศพของชาวอีสานในอดีต วิธีรักษาศพ-เก็บกระดูก เขาทำกันอย่างไร

ชาวอีสาน พิธีเผาศพตามประเพณีแบบพื้นเมืองสองฝั่งโขง ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป เขียนสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5

จากความทรงจำของ ดร. ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์* ได้อธิบาย พิธีศพ” ของชาวอีสานในอดีตผ่านหนังสือ “อีสานเมื่อวันวาน” (จิรัชการพิมพ์, 2546) โดยอธิบาย “พิธีศพ” ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อมีคนตายลง ญาติจะต้องอาบน้ำศพ แต่งตัวให้ศพและตราสังตามประเพณี จากนั้นนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี “ชักอนิจจา” ซึ่งเหมือนกับพิธีบังสุกุลของภาคกลาง

ระหว่างนั้นต้องหาไม้มาทำโลง ต้องทำพิธีเซ่นโลงด้วยหัวปลาและเครื่องเลี้ยงผีอื่น ๆ อีกด้วย ทำโลงเสร็จก็ให้คนถามว่าโลงนี้เป็นของใคร แล้วก็มีคนตอบว่าเป็นของคนตายชื่อนั้นชื่อนี้ เสร็จแล้วก็เอามีดฟันโลงให้มีเสียงดังโป๊ก ถามตอบคำถามอีกสองสามข้อ ก็เอามีดฟันโลงอย่างเดิม เสร็จแล้วก็นำศพบรรจุในโลง นิมนต์พระสงฆ์มาชักอนิจจาอีกครั้ง

ดร. ก่อ อธิบายขั้นตอนต่อไปของพิธีศพว่า “…การรักษาศพของคนสมัยนั้นไม่ดี เขาจึงไม่เก็บศพไว้ที่บ้านนาน สมัยนั้นยาฉีดไม่มี น้ำแข็งก็ไม่มี ชาวบ้านจึงใช้แต่ปูนขาว และยาสูบรองศพ หรือโปรยไว้ข้างศพ ถ้าหา ‘หมอมนต์’ ได้ ก็ขอให้หมอมาเป่ามนต์กันเน่าให้ คนที่ฐานะดีอาจเก็บศพไว้สามวันหรือห้าวัน ซึ่งถ้าเก็บไว้นานถึงขนาดนี้ กลิ่นศพจะแรงขึ้นตามลำดับ ทนกันแทบไม่ไหว แต่ชาวบ้านก็ไปช่วยงานกันเต็มบ้าน เพราะเห็นแก่คนตายหรือเจ้าภาพ

คนจนอาจเก็บศพไว้ที่บ้านพอให้ข้ามคืน เสร็จแล้วยกศพไปป่าผีหลอก (ป่าช้า – ผู้เขียน) จะเผาเลยก็ได้ ในกรณีที่เผาก็ไปหาฟืนในป่าช้า ทำเป็นกองฟอน นิมนต์พระ 5 รูป ไปชักอนิจจา แล้วก็เผากันเลย ในกรณีที่จะฝังไว้ก่อนก็ขุดหลุมไว้ นิมนต์พระชักอนิจจาแล้วก็ฝัง เวลาฝังเขาจะเอาด้ายขาวโยงจากโลงขึ้นมาปากหลุม ให้ด้ายโผล่พ้นดินประมาณหนึ่ง ด้ายขาวนี้ทำไว้เป็นทางขึ้นลงของผี สำหรับรายที่ฝังไว้ก่อนเขาจะเก็บไว้เป็นปี กะว่าเหลือแต่กระดูกจึงจะขุดขึ้นเผา…”

สำหรับคนที่ตายเป็น “ผีตายโหง” “ผีตายทั้งกลม” และ “ผีทารก” นั้น คนอีสานไม่นิยมเผา ผีทารกใส่ลงหม้อฝังดินได้เลย ส่วนผีตายโหงกับผีตายทั้งกลมจะฝังดินไว้นานนับสิบปีถึงจะขุดขึ้นมาเผา แต่ส่วนใหญ่จะไม่เผา เชื่อว่าถ้าเผาแล้ว ลูกหลานอาจตายด้วยเหตุเดียวกัน

ในระหว่างที่เก็บศพไว้ที่บ้าน จะมีการ “งันเรือนดี” คือชาวบ้านจะมาอยู่เป็นเพื่อนเจ้าของบ้าน ทำการละเล่นสนุกสนาน เช่น หมากเก็บ ไม้แก้งขี้ช้าง หมากกินเสือกินหมู หมากหาบ หมากข้วมตาเวน และไพ่ เจ้าของบ้านก็ทำอาหารเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญ

การงันเรือนดีนี้ทำตลอดคืน พอพระสงฆ์สวดมนต์เสร็จก็ลงมืองันเรือนดีไปจนถึงสว่าง ใครง่วงก็หาที่นอนตามสะดวก ตื่นมาก็สนุกสนานกันต่อ ใครหิวก็ไปหาอาหารกินตามสะดวก เพราะเจ้าของบ้านเตรียมของต้อนรับไว้ให้แล้ว

คนมีอันจะกินทำงันเรือนดีสามคืนบ้าง ห้าคืนบ้าง เจ็ดคืนบ้าง แต่สำหรับคนยากคนจน อาจทำงันเรือนดีเพียงคืนเดียว ทั้งนี้สุดแท้แล้วแต่เจ้าภาพหรือญาติผู้ตาย

เมื่อเผาศพเสร็จแล้ว ก็จะต้องเก็บกระดูก มีขั้นตอนไม่แตกต่างจากภาคกลางมากนัก ต้องนิมนต์พระสงฆ์ไปชักอนิจจา ใช้ไม้เขี่ยกระดูกให้เป็นรูปคน หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกก่อน แล้วเซ่นไหว้ เวลาเขี่ยกระดูกต้องระมัดระวังไม่ให้สัมผัสกระดูก เชื่อว่าถ้าโดนเข้าไปจะกลายเป็นคนมือร้อน ปลูกอะไรไม่ขึ้น หลังจากนั้น ใช้ไม้เขี่ยกระดูกให้เป็นรูปคน หันศีรษะไปทางทิศตะวันออก เซ่นไหว้อีกครั้ง แล้วเอากระดูกใส่หม้อดินนำไปฝากไว้ที่วัด

โดยส่วนใหญ่จะเอาหม้อดินนั้นฝังดิน นำเสาต้นเล็ก ๆ ปักตรงที่วางหม้อ ให้เสาโผล่พ้นดินสูงประมาณเอว บางคนก็นำหม้อดินนี้ไปฝากพระสงฆ์ที่สนิท พระท่านก็เก็บไว้บนกุฏิบ้าง เก็บไปบนศาลาวัดบ้าง นานไปหาญาติไม่พบ พระท่านก็เอาไปวางไว้ตามโคนต้นโพธิ์หรือฝังดินให้

สำหรับเถ้าถ่านและกระดูกส่วนอื่นที่ไม่ต้องการก็นำฝังดิน เวลาฝังต้องเอาด้ายขาวโยงจากก้นหลุม ให้โผล่พ้นขึ้นมาเหมือนกับการฝังศพ บางคนนำไม้ไผ่ปักบนหลุม หรือนำธงที่ทำด้วยกระดาษปักติดไว้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


*ดร. ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ หรือศาสตราจารย์ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2465 ที่อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เรื่องพิธีศพของชาวอีสานจากเรื่องเล่าของดร. ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ นี้ จึงเป็นประเพณีท้องถิ่นในแถบอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งอาจมีรายละเอียด ความเชื่อ หรือวิธีการแตกต่างกับพื้นที่ภาคอีสานส่วนอื่น


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2563