สตี พิธีเผาภรรยาม่ายทั้งเป็นพร้อมศพสามีที่เสียชีวิต

ภาพเขียน พิธีสตี พิธีกรรม ประเพณี ใน อินเดีย
ภาพเขียน พิธีสตี ที่มีการเผาภรรยาม่ายทั้งเป็นพร้อมศพสามี

ข่าวแพร่สะพัดไปทั่วอินเดีย เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2530 ว่ามีการประกอบยัชญพิธีที่เรียกว่า “พิธีสตี” ในหมู่บ้านเดโอราลา อำเภอสิการ์ รัฐราชาสถาน อินเดีย

ในพิธีนี้ หญิงม่ายวัย 18 ปี ชื่อ รูป กังวาร ได้เข้าไปในกองไฟเผาศพสามี เธอได้สังเวยชีวิตเพื่อเป็นการแสดงความภักดีและความกล้าหาญ สามีของเธอชื่อ มาล ซิงห์ อายุ 24 ปี เป็นราชบุต (Rajuts) คือคนในวรรณะกษัตริย์ เขาเสียชีวิตด้วยโรคท้อง ที่จริงสามีภรรยาคู่นี้แต่งงานกันมาได้เพียง 8 เดือน พวกราชบุต เป็นนักรบที่กล้าหาญ เป็นวีรบุรุษ สตรีในวรรณะนี้ก็เป็นที่เชื่อกันว่ามีความกล้าหาญ

ในขณะที่พิธีกำลังดำเนินไป พวกราชบุตหนุ่มจำนวนหนึ่งก็ถือดาบเดินรอบๆ บริเวณพิธี เพื่อป้องกันการขัดขวางจากบุคคลภายนอก หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เมื่อข่าวแพร่ออกไป ก็มีคนจำนวนมากที่มีความเชื่อศรัทธาในพิธีสตีหลั่งไหลมาแสดงความเคารพสถานที่ประกอบพิธี โดยถือว่าที่นั่นเป็นบุณยสถาน ควรแก่การเดินทางไปแสวงบุญ ส่วนผู้ประกอบพิธีก็ประกาศจะสร้างโบสถ์ขึ้นตรงที่เผาศพนั้น เพื่อเป็นอนุสาวรีย์และได้เรี่ยไรเงินจากผู้เดินทางมาแสวงบุญ พร้อมกันนั้นก็จัดจำหน่ายรูปภาพหญิงสาวกำลังนั่งประคองศพสามีอยู่กลางกองเพลิงที่กำลังลุกท่วม

นอกจากนี้ ผู้ประกอบพิธียังได้ประกาศจะจัดงานใหญ่ที่เรียกว่า “จุนรี มโหตตสวะ” ขึ้นในวันที่ 16 กันยายน 2530 เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ตาย และเป็นการหาทุนสร้างโบสถ์ต่อไป

ข่าวข้างต้นนี้ทำให้ชาวอินเดียมีความคิดแปลกแยกเป็น 2 ฝ่าย คือเห็นด้วย และคัดค้าน ฝ่ายที่เห็นด้วยก็จะอ้างคัมภีร์และประเพณีโบราณของฮินดูเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า การกระทำของม่ายสาว รูป กังวาร เป็นการฏิบัติตามประเพณีทางศาสนา เป็นการแสดงความกล้าหาญและความภักดีอย่างยิ่งยวด เขาถือว่าสามีเป็นเทพองค์หนึ่ง การสังเวยด้วยชีวิตจึงเป็นความดี นอกจากนี้ยังถือว่า รูป กังวาร ผู้เข้าพิธีสตีได้กลายเป็นมหาเทวีสตีมาตา ควรแก่การสนับสนุนให้สร้างโบสถ์เป็นที่ระลึกและกราบไหว้บูชาตรงที่ประกอบพิธีสตี ซึ่งเรียกว่า “สตีสถล”

ส่วนฝ่ายที่คัดค้านซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตำหนิว่า พิธีสตี เป็นฆาตกรรม เป็นพิธีที่ผิดกฎหมาย ถูกสั่งห้ามมานานแล้ว ผู้ที่เห็นดีเห็นงามกับพิธีนี้ก็คือผู้สนับสนุนให้เกิดฆาตกรรม ผู้ที่ประกอบพิธีนี้คือ ฆาตกร ควรถูกจับมาลงโทษ

พิธีสตี มาจากไหน?

คนฮินดูที่เลื่อมใสพิธีสตีอ้างว่า พิธีนี้มามาตั้งแต่สมัยโบราณ สืบต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เขาอ้างว่าพิธีสตีมีอยู่ในคัมภีร์ฤคเวท เป็นคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ที่สุดของ อินเดีย ในคัมภีร์ฤคเวทมณฑลที่ 10 บทสวด (สูกตะ) ที่ 18 ซึ่งกล่าวถึงพิธีศพของชาวอารยัน มีข้อความที่ชี้ให้เห็นว่าสตรีที่สามีตายจะนอนเคียงข้างศพสามีบนเชิงตะกอน นอกจากนี้มีข้อความในบทสวดเดียวกันนั้นว่า

“ขออย่าให้สตรีเหล่านี้กลายเป็นหญิงม่าย ขอให้ภรรยาที่ดี ผู้ตกแต่งร่างกายด้วยน้ำมัน และถือน้ำมันเนย จงสังเวยตนเองแด่พระอัคนี ขอให้สตรีผู้เป็นอมตะ ผู้ไม่ไร้บุตรและสามี ผู้ประดับกายด้วยรัตนาภรณ์ จงเข้าไปในไฟซึ่งมีน้ำเป็นแหล่งกำเนิด” (ฤคเวท 10.18.7)

ข้อความนี้ทำให้เข้าใจว่า พิธีสตี มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ คือตั้งแต่สมัยฤคเวทซึ่งเชื่อกันว่าไม่ต่ำกว่าประมาณ 1,500 ปี ก่อน ค.ศ.

แต่ผู้ที่มีความเห็นคัดค้านพิธีสตีแย้งว่า การตีความคัมภีร์ฤคเวทอย่างนั้นยังไม่ถูกต้อง ฝ่ายนี้ยืนยันว่าตัวอักษรสุดท้ายในบทฉันท์บทนี้คือ อคฺเน ที่แปลว่าในไฟ นั้น ที่จริงเป็น อเคฺร ซึ่งแปลวว่า ล่วงหน้าไปก่อน แต่คำนี้มาถูกแก้เป็น อคฺเน ในภายหลัง อันที่จริง คำทั้งสองนี้ถ้าเขียนเป็นตัวอักษรเทวนาครีจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก [ภาพประกอบที่ 1] ฝ่ายที่เห็นว่าควรจะเป็น อเคฺร ตีความไว้ดังนี้

ภาพประกอบ 1

“ ขอให้สตรีเหล่านี้ ผู้ซึ่งสามีมีชีวิตอยู่ ผู้มีสามีที่ดี ผู้แต้มแต่งจักษุด้วยน้ำมันเนย จงเข้าไปสู่เรือนของตน ขอให้สตรีเหล่านี้ ผู้ปราศจากน้ำตา ผู้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ผู้เป็นเจ้าของสมบัติอันดีงาม จงล่วงหน้ามาสู่เรือนก่อนคนทั้งปวง”

(อิมา นารีรวิธวาะ สุปรีตฺนีราญฺชเนน สรฺปิษา สํ วิศนฺตุ / อรศฺรโว นมีวาะ  สรตฺนา  อา โรหนฺตุ ชนโย โยนิมเคฺเร // ฤคเวท 10.08.7 //)

ผู้เขียนเห็นด้วยกับฝ่ายหลัง คือน่าเป็น อเคฺร มากกว่า อคฺเน ถ้าพิจารณาตามหลักไวยากรณ์ภาษาสันสฤตทั้งสมัยพระเวท และสันสฤตมาตรฐาน คำที่จะแปลว่า ในไฟ จะต้องมีรูปเป็น อคฺนา หรือ อคฺเนา คำว่า อคฺเน ไม่มีในไวยากรณ์ เพียงแต่ใกล้เคียงกับคำว่า อคฺเนะ ซึ่งแปลว่า จากไฟ  หรือ ของไฟ ส่วนคำว่า อเคฺร นั้นถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ทุกประการ คัมภีร์ฤคเวทที่พิมพ์เผยแพร่อยู่ในปัจจุบันนี้ก็พิมพ์เป็น อเคฺร แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจพิสูจน์ได้แน่นอนว่า ระหว่าง อคฺเน กับ อเคฺร คำไหนเป็นของเดิม และคำไหนเป็นคำที่แก้ใหม่ เพราะคัมภีร์ฤคเวทนั้นได้รับการสืบทอดมาโดยการท่องจําแบบมุขปาฐะ ต่อมาสมัยหลังจึงมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และได้รับการตีพิมพ์ในศตวรรษนี้เอง

ฉันท์บทที่ 8 ในบทสวดเดียวกันนี้มีใจความว่า

“ดูก่อนสตรี ขอให้เธอจงลุกขึ้นจากที่นั่น จงเป็นห่วงบ้านเรือนของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เธอกำลังนอนอยู่เคียงข้างสามีผู้สิ้นชีวิตแล้ว จงออกมาจากที่นั้นเถิด เพราะว่าเธอยังมีชีวิตอยู่เพื่อบุตรหลานที่เกิดจากความสัมพันธ์กับสามีผู้ซึ่งเคยจูงมือเธอในพิธีวิวาห์ และให้กำเนิดบุตรแก่เธอ”

(อุทีรฺษฺว นารฺยภิ ชีวโลกํ คตาสุ เมตมุป เศษ เอหิ / หสฺตคฺราภสุย ทิธิ โษสฺต เวทํ ปตฺยูรฺชนิตฺวมภิ สํ พภูว // ฤคเวท 10.18.8//)

ข้อความข้างบนนี้แสดงให้เห็นว่า ในพิธีศพสมัยโบราณ ภรรยาของผู้ตายคงจะนอนเคียงข้างศพสามีบนเชิงตะกอนที่เตรียมจะเผาจริง แต่พราหมณ์จะเรียกให้ลุกขึ้นและให้ออกจากที่นั้น โดยการสวดบทสวดดังกล่าว

ความพิสดารเกี่ยวกับพิธีสตีที่ยังมีอีกมาก ในคัมภีร์อื่นๆ ของฮินดู เช่น อุปนิษัท คฤหยสูตร เป็นต้น แต่คัมภีร์เหล่านั้นแต่งขึ้นในสมัยหลังจากคัมภีร์ฤคเวท และส่วนใหญ่จะเป็นการตีความและการขยายความจากคัมภีร์ฤคเวทอีกต่อหนึ่ง

สมัครใจเผาตัวเอง หรือถูกจับไปเผา?

ขอย้อนกลับมาถึงพิธีสตีที่เกิดขึ้นในอินเดียเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2530 อีก ในขณะที่คนฮินดูจำนวนมาก ประกอบด้วยญาติพี่น้องฝ่ายสามีของ รูป กังวาร และคนอื่นๆ รวมทั้งภรรยาของพวกราชบุตต่างสรรเสริญความกล้าหาญของเธอ บางคนออกความเห็นว่า การที่ รูป กังวาร เลือกเอาความตายนั้น ดีกว่าการมีชีวิตอยู่

เพราะถ้าเธอมีชีวิตอยู่ก็จะมีสภาพเหมือนตกนรกทั้งเป็น เธอจะกลายเป็นคนนอกวรรณะ แต่งงานใหม่ไม่ได้ ถูกกีดกันจากสังคม ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ต้องกินอาหารหลังคนอื่น กินอาหารดีๆ ไม่ได้ ถูกห้ามประดับกายด้วยของมีค่า และห้ามแต่งกายด้วยเสื้อผ้าดีๆ ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมงานรื่นเริง จะไปตักน้ำจากบ่อร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ซ้ำร้ายเธอจะต้องกลายเป็นหญิงบำเรอความใคร่ของผู้ชายทุกคนในครอบครัว

นี่เป็นวิถีชีวิตของหญิงม่ายของพวกราชบุต

แต่เมื่อเธอเลือกเอาความตาย เธอก็จะได้รับการสรรเสริญให้เป็นมหาเทวี หรือสตีมาตา และมีคนกราบไหว้บูชาต่อไป

แต่ผู้เห็นเหตุการณ์บางคนเปิดเผยว่า รูป กังวาร ไม่ได้นั่งประคองศีรษะศพสามีของเธออย่างที่ปรากฏในรูปที่จัดจำหน่าย รูปดังกล่าวนั้นเป็นการตัดต่อซึ่งเห็นได้ชัดเจน ที่จริงเธอถูกทับอยู่ใต้กองฟืน

คนจำนวนมากที่มาร่วมงานศพไม่รู้ตัวว่าได้รับเชิญให้มาร่วมพิธีสตี เข้าใจว่าเป็นเพียงพิธีเผาศพธรรมดา รอบๆ เชิงตะกอน พวกราชบุตถือดาบเดินคุมเชิงไปมา ครั้นประกอบพิธีสาดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปและจุดไฟเผาก็ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือของหญิงสาวจากใต้กองไฟ ในเวลาเดียวกัน พระก็สวดฉันท์คายตรี ตีกลอง มีผู้เป่าสังข์ในพิธีทําให้กลบเสียงร้องที่ดังมาจากกองไฟ ผู้ประกอบพิธีได้สาดน้ำมันเข้าไปทำให้ไฟลุกโชติช่วงเพิ่มขึ้นอีก ผู้มาร่วมงานที่เพิ่งรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็ถอยออกจากพิธีด้วยความละอายอดสู เพราะไม่อาจช่วยหญิงสาวได้

การเปิดเผยดังกล่าวเป็นข้อชวนให้สงสัยว่า รูป กังวาร สมัครใจเข้าพิธีสตีหรือไม่ หรือว่าเธอถูกพวกคลั่งลัทธิจับไปเผาทั้งเป็นกันแน่ อย่างไรก็ตาม ไม่อาจจะสืบหาพยานได้แน่ชัด เพราะผู้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านต่างก็นิยมเลื่อมใสพิธีนี้ คงเป็นการไม่ปลอดภัยสำหรับคนในสังคมเช่นนั้นที่จะเปิดเผยความจริง

ถ้ามองดูพื้นฐานทางครอบครัวของสามีภรรยาคู่นี้ก็จะเห็นว่าไม่ใช่ครอบครัวที่ล้าสมัยหรือหัวเก่า สุมาร์ ซิงห์ บิดาของ มาล ซิงห์ ผู้ตาย เป็นครูประจำโรงเรียนในหมู่บ้าน มาล ซิงห์เองสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสังคมศาสตร์ ส่วน รูป กังวาร เรียนถึงชั้นที่ 10 ซึ่งเทียบเท่ากับชั้น ม.4 ของการศึกษาไทย บิดาของเธอ คือ บาล ซิงห์ ราโถเร เป็นเจ้าของกิจการเดินรถขนส่ง ในเมืองชัยปุระ รัฐราชาสถาน

ความจริง พิธีสตี ถูกสั่งห้ามไปเมื่อ 160 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่อังกฤษยังปกครองอินเดีย แต่มีผู้กล่าวว่าปัจจุบันนี้ก็ยังมีการแอบประกอบพิธีนี้อยู่ตามชนบทห่างไกล ที่หมู่บ้านเดโอราลานั้น รูป กังวาร นับเป็นรายที่ 4 ที่เข้าพิธีสตี ส่วนรายที่ 3 ของหมู่บ้านนี้เกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีมาแล้ว

ถึงวันที่ 16 กันยายน 2530 ก็มีการจัดงาน จุนรี มโหตสวะ ขึ้น มีผู้คนจากทั่วประเทศมาร่วมงานประมาณ 5 แสนคน เงินที่มีผู้ร่วมบริจาคได้ประมาณ 3 ล้านรูปี คณะกรรมการจัดงานก็เตรียมดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นตรง สตีสถล ต่อไป ในงานนั้น มีบุคคลสำคัญของรัฐมาร่วมด้วยกัลยาณ ซิงห์ กัลวี ผู้นำพรรคชนตาประจำรัฐราชาสถาน เป็นต้น

เมื่อมีเสียงคัดค้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางรัฐบาลก็เข้าไปเกี่ยวข้อง มีการจับกุมบุคคลที่ประกอบพิธีสตีซึ่งประกอบด้วย สุมาร์ ซิงห์ บิดาของ มาล ซิงห์ ผู้ตาย และน้องชายของมาล ซิงห์ อีก 2 คน คือ ภูเปนทร์ ซิงห์ และปุษเปนทร์ ซิงห์ นอกจากนี้ ญาติบางคน พระผู้ดำเนินพิธี และช่างตัดผมที่ทำหน้าที่โกนผมให้ผู้ประกอบพิธีก็ถูกจับ ทีแรกข้อหาเป็นเพียงการยุยงส่งเสริมให้คนฆ่าตัวตาย แต่ต่อมาเพิ่มเป็นข้อหาฆาตกรรม พร้อมกันนั้น ทางการได้ประกาศห้ามการก่อสร้างโบสถ์ หรืออนุสาวรีย์ใดๆ ขึ้นตรงจุดสตีสถลนั้น แต่ปัญหาก็คงจะยืดเยื้อต่อไปอีก เพราะพวกราชบุตเตรียมสู้คดีนี้โดยใช้เงินทุนซึ่งมีผู้บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกจับ และเพื่อให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นตรงสตีสถลในที่สุด

การเผาคนทั้งเป็นนั้น ไม่ว่าผู้ถูกเผาจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าสลดใจ

ยิ่งถ้าปรากฏว่าผู้ถูกเผาไม่ได้สมัครใจ แต่ถูกผู้มีกำลังเหนือกว่าฉุดคร่าจับไปเผาเพราะความงมงายในลัทธิศาสนาด้วยแล้ว ก็ถือว่าเป็นความเหี้ยมโหด และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

แต่ใครบ้างจะนึกถึงว่าในสังคมที่เคร่งศาสนาที่มีคนอวดตัวเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ดูถูกการบริโภคเนื้อสัตว์ กลับนิยมชมชอบและเลื่อมใส การฆ่าผู้หญิงโดยจับไปเผาทั้งเป็น แล้วอุปโลกน์ขึ้นเป็น “มหาเทวี” หรือ “สตีมาตา”…?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เอกสารอ้างอิง :

Rigveda Samhita. vol. IV. 2nd ed. Poona: Vedic Research Institute, 1983.

Reed, Elizabeth A. Hindu Literature. Delhi : Nag Publishers, 1979.

Balashankar, R. “A Grotesque Scenario.” The Week (October 4-10, 1987):- 9-11.

Raghavan, C.V.V. “Shocking Sati.” Frontline India’s National Magazine (October 3-16, 1987) : 100-105.

Panjiai, P. “Sati A Pagan Sacrifice.” India Today (October 15, 1987): 98-105.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สตี : หญิงม่ายเผาตัวเอง หรือถูกจับไปเผา?” เขียนโดย ประเทือง ทินรัตน์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2531


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2565