ที่มา “พิธีลอยอังคาร” ลอยทำไม เหตุใดเรียกเถ้ากระดูกว่า “อังคาร” ?

ลอยอังคาร
พิธีลอยอังคาร "หม่อมน้อย" ม.ล. พันธุ์เทวนพ ที่ปากน้ำ ปราณบุรี (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 26 กันยายน 2565)

“ลอยอังคาร” คือพิธีกรรมที่ญาติมิตรของผู้วายชนม์ปฏิบัติเพื่อเป็นการส่งดวงวิญญาณ โดยเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งในการส่งให้ผู้ล่วงลับไปสู่ภพภูมิที่ดีและมีความสงบร่มเย็นเหมือนดั่งสายน้ำ

ที่มาของพิธีลอยอังคารบ้างว่าเกิดจากในอดีตบางชุมชนหรือพื้นที่ยังไม่มีการสร้างเมรุหรือตะกอนเผาศพ เมื่อปล่อยเถ้าถ่านและเถ้ากระดูกที่เหลือจากการเผาศพทิ้งไว้ก็จะเป็นกองพะเนินขาวโพลนตามลานวัดหรือป่าช้า กลายเป็นทัศนะอุจาดแก่ผู้พบเห็น ซ้ำยังอาจถูกเหยียบย้ำจากผู้คนหรือสัตว์ จึงเกิดธรรมเนียมการเก็บเถ้าเหล่านั้นให้เรียบร้อย โดยเก็บส่วนหนึ่งไว้บูชาเพื่อการระลึกถึง และส่วนหนึ่งนำไปปล่อยลงในแม่น้ำ

ส่วนที่เก็บไว้มักเป็นชิ้นส่วนกระดูก เรียกว่า “อัฐิ” จะถูกบรรจุใน “โกศ” ส่วนที่นำไปโปรยลงน้ำคือเถ้า ซึ่งเถ้าเหล่านี้มีทั้งเถ้าถ่านและเถ้ากระดูกรวม ๆ กันอยู่ เรียกว่า “อังคาร”

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งว่าด้วยที่มาของพิธีลอยอังคาร มาจากคตินิยมแบบฮินดูจากประเทศอินเดีย เป็นวิถีปฏิบัติของชาวฮินดูที่มักเผาศพบนเชิงตะกอนริมแม่น้ำแล้วลอยเถ้าถ่าน-เถ้ากระดูกลงไปในแม่น้ำคงคา ไม่ได้เก็บกระดูกมารักษาไว้ โดยชาวอินเดียเชื่อว่าเป็นแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถช่วยชำระล้างบาปให้กับดวงวิญาณของเถ้าที่ลอยไปกับสายน้ำได้

ส่วนคตินิยมแบบพุทธว่าด้วยการเก็บอัฐิและอังคาร คือการสร้างพระเจดีย์ไว้สำหรับใส่อัฐิและเถ้าเหล่านั้น เรียกว่า “พระธาตุ” หรือ “พระธาตุเจดีย์” ซึ่งในอดีตจะนิยมกันในหมู่ชนชั้นสูง ส่วนชนชั้นล่างก็จะเก็บชิ้นส่วนดังกล่าวไว้ในโกศที่ขนาดเล็กกว่าและต้นทุนน้อยกว่า เมื่อวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานความเชื่อจากหลายคติและหลากศาสนา ทั้งฮินดู พุทธ และผี พิธีลอยลอยอังคารจึงถูกนำเข้ามาโดยเป็นที่ยึดถือกันในกลุ่มชนชั้นสูงที่รับคติฮินดูมาอย่างเข้มข้นตั้งแต่ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว ดังจะเห็นได้จากราชพิธีต่าง ๆ ในราชสำนัก

พิธีลอยอังคารยังถูกผูกเข้ากับคติทางพุทธศาสนาในเรื่องของ “การปล่อยวาง” และตระหนักรู้ถึง “สภาพเป็นจริง” ของสังขาร ในที่นี้คือเถ้ากระดูกซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย รวมถึงความเชื่อที่ว่าร่างกายของมนุษย์ทั้งหลายถูกสร้างจากธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ เมื่อร่างกายแตกดับ ธาตุทั้ง 4 ย่อมกลับสู่สภาพธาตุดั้งเดิม ดังผงธุลีของเถ้ากระดูกที่กลับคืนสู่ธรรมชาติโดยมีสายน้ำเป็นตัวนำพานั่นเอง

เหล่านี้จึงเป็นที่มาของความเชื่อว่าด้วย “พิธีลอยอังคาร” และยึดถือวิถีปฏิบัติดังกล่าวเพื่อส่งดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่สุขคติ สู่ภพภูมิที่ดี และพบพานความสงบร่มเย็น สำหรับพิธีลอยอังคารในไทยมักทำในแม่น้ำใหญ่สายหลักสายต่าง ๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง บ้างก็ลอยกลางท้องทะเล โดยจัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของพิธีศพ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ล่วงลับและญาติมิตรด้วยว่าจะประสงค์จะปฏิบัติหรือไม่ เพราะบางพื้นที่อยู่ห่างจากแหล่งน้ำใหญ่

โดยก่อนการนำเถ้าธุลีหรือ “อังคาร” ไปลอยตามวันที่กำหนด นิยมบำเพ็ญกุศลบังสุกุลก่อนนำอังคารลงเรือ พิธีบำเพ็ญกุศลนั้นจะกระทำก่อนพิธีลอยอังคารหลายวันหรือทำในวันลอยก็ได้ อังคารจะถูกห่อด้วยผ้าขาวหรือใส่โถก่อนห่อด้วยผ้าขาวเพื่อนำไปลอยหรือโปรยลงแหล่งน้ำ ส่วนการนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีจะอยู่ที่จำนวน 1-4 รูป ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ

สำหรับที่มาของการเรียกเถ้าที่เกิดจากการเผาศพว่า “อังคาร” นั้น มาจากคำยืมในภาษาบาลี-สันสกฤตว่า องฺคาร อ่านว่า อัง-คา-ระ แปลว่า “ถ่าน” ซึ่งหมายรวมทั้งถ่านที่ติดและไม่ติดไฟ จึงเรียกเถ้าถ่านและเถ้ากระดูกหลังการเผาศพว่า อังคาร นั่นเอง

คำว่า อังคาร ยังถูกนำไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะ เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่มีสีแดงฉานประดุจถ่านติดไฟในชื่อ “ดาวอังคาร” ก่อนนำไปเป็นชื่อวันประจำสัปดาห์คือ “วันอังคาร” ร่วมกับดาวดวงอื่น ๆ ด้วย คติฮินดูยังมีเทพองค์หนึ่ง ชื่อ “พระอังคาร” ซึ่งเป็นเทพแห่งสงคราม มีกายสีแดง 4 กร (มือ) เครื่องประดับสีแดงเพลิง และมีแกะเป็นพาหนะ (คติไทยมักให้พระอังคารทรงควายเป็นพาหนะ)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เรือด่วนเจ้าพระยา : พิธีลอยอังคาร (ออนไลน์)

ครูลิลลี่, ไทยรัฐออนไลน์ : ลอยอังคาร (ออนไลน์)

บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา : อังคาร


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2565