กินกับมากๆ กินข้าวน้อยๆ แนวคิดเรื่องกินเช่นนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่

กับข้าว อาหาร
ภาพประกอบจาก ห้องสมุดภาพมติชน

คำสอนในวงข้าวของสังคมเก่าเมื่อ 40-50 ปีก่อน คือ “อย่ากินกับข้าวเยอะ เดี๋ยวเป็นตานขโมย” (ตานขโมย คือ โรคซึ่งเกิดกับเด็ก มีอาการปวดท้อง ซึมหงอย พุงป่อง ก้นปอด กินจุไม่แต่อ้วน) หากความจริงที่กล่าวเช่นนั้น น่าจะมาจาก อาหารการกินไม่สมบูรณ์ และมีอยู่จำกัด, แต่ละครอบครัวมีลูกมาก, ความคิดเรื่องการประหยัด และไม่ต้องการให้กินทิ้งกินขวาง ฯลฯ แต่วันนี้ใครๆ เวลากินข้าว ใครๆ ก็บอกว่า “กินกับมากๆ กินข้าวน้อยๆ”

ใคร, อะไร, เมื่อไหร่ ที่เปลี่ยนความคิดเรื่องการกินของเราไปเช่นนี้

ความรู้เรื่องการกินตามหลักโภชนาการคนไทย เริ่มขึ้นพร้อมกับการรับรูปแบบการแพทย์ตะวันตกเข้ามาไทยประเทศ ตั้งแต่การสร้างโรงพยาบาลศิริราชเมื่อ พ.ศ. 2431

ความชัดเจนเรื่องโภชนาการเพิ่มมากขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรมีนโยบายด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาสาธารสุขของไทย มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินงานโครงการอาหารของชาติในปี 2477 ต่อมาในปี 2482 กรมสาธารณสุขได้จัดตั้ง “กองส่งเสริมอาหาร” มี นายแพทย์ยงค์ ชุติมา เป็นหัวหน้า

กองส่งเสริมอาหาร (กองบริโภคสงเคราะห์) เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้ ในการบริโภคตามหลักวิทยาศาสตร์แก่สาธารณะ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา จึงได้เขียนบทความ, บทบรรยายทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการบริโภคที่ถูกต้องโภชนาการ และจำนวนที่แนะนำให้ กินกับมากๆ กินข้าวน้อยๆ เช่น

“…ตามหลักอนามัยแผนใหม่ บรรดาผู้อยู่ในวัยกำลังเติบโต และหญิงมีครรภ์ หรือแม่ลูกอ่อน จักต้องกินกับมากๆ กินข้าวมากพอควร…”

“การกินดีคือกินผัก กินไม่เผ็ดจัด กินข้าวแต่พอควรย่อมบำรุงรักษาสุขภพไว้ได้ดี การกินเลว เช่น การกินข้าวมาก กินกับน้อย และกินเผ็ด ย่อมทำให้ป่วยง่าย และตายเร็ว”

“การกินอาหารอย่างที่เราสามัญชนข้าใจกันแต่ก่อนว่า อยากให้อ้วน อยากให้แข็งแรง ก็กินข้าวมากๆ นั้น นับว่าเป็นเข้าใจที่ผิดมาก เพราะสมัยนี้สมัยที่วิทยาศาสตร์รุ่งโรจน์ เราค้นคว้าได้หลักเกณฑ์แน่นอนแล้วว่า สิ่งที่สร้างสมสุขภาพให้สมบูรณ์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น อยู่ที่อาหาร คือต้องกินกับต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่กินข้าวมากๆ แต่อย่างเดียว ดังที่ข้าใจกันมาแต่ก่อนนั้น”

ฯลฯ

แล้วทุกคนควรจะกินข้าวมากหรือน้อยเท่าใด

นายแพทย์ยงค์อธิบายว่า “ตามหลักวิทยาศาสตร์ ข้าวก็คือน้ำมันเชื้อเพลิงนั่นเอง คือไม่ได้สร้างกระดูกเนื้อหนังให้แก่ร่างกาย แต่ข้าวมีหน้าที่สำคัญ คือทำให้เกิดกำลังงาน

ฉะนั้นสำหรับบุคคลใดๆ ไม่ว่าหนุ่ม หรือแก่ หญิง หรือชาย หากว่าต้องทำงานหนักตรากตรำ ออกกำลังกายมาก เช่น กรรมกรขับขี่ จักรยานสามล้อ กรรมกรลากรถ กรรมกรเหมืองแร่ นักกีฬาที่ใช้กำลังกายมาก และนักเดินทางไกล ควรจะกินข้าวมื้อละหลายจาน วันละหลายมือ ยิ่งกินข้าวจุได้ยิ่งดี เพราะจะได้เป็นกำลังงานสำหรับงานหนัก และทั้งจะช่วยเนื้อหนังในร่างกายมิให้ถูกเผา เป็นกำลังงาน

ผู้ที่ต้องทำงานหนักแต่กินข้าวน้อย จะทำให้โปรตีน (เนื้อหนัง) แห่งร่างกายของตนถูกเผาเป็นกำลังงาน ซึ่งสภาพเช่นนี้เป็นภัยอย่างยิ่งต่อร่างกาย เว้นเสียแต่สำหรับท่านผู้ที่อ้วนท้วม มีมันสำรองไว้ทั่วสรรพางค์กาย ซึ่งท่านเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องกินข้าวจุอย่างคนปกติมีรูปร่าง ‘เพรียวลม’ แม้ว่าต้องทำงานหรือออกกำลังกายมากๆ…”

นายแพทย์ยงค์ยังจำแนกอีกว่า บุคคลในช่วงอายุเท่าใด และมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป ควรกินข้าว กินกับ อย่างไรไว้ใน “ข้อแนะนำง่าย ๆ ในเรื่องอาหารการกิน”  สรุปได้ดังนี้

สำหรับคนหนุ่มสาวทั่วไปซึ่งมีอายุต่ำกว่า 25 ปี ควรกินกับมากๆ (ไข่ ปลา เนื้อ และเครื่องในสัตว์ต่างๆ และถั่วเหลือง) เพื่อบำรุงเนื้อหนังร่างกายให้เติบใหญ่สมส่วน และเพื่อบำรุงปัญญาให้เฉียบแหลม กินข้าวมากพอควรเพื่อเป็นกำลังงาน สำหรับงาน, กิจกรรม หรือการออกกำลังกาย ถ้าต้องทำงานหนักหรือบริหารร่างกายมากๆ ก็ยิ่งต้องเพิ่มปริมาณข้าวให้มากเพื่อเผาเป็นกำลังงาน

สำหรับหญิงมีครรภ์และหญิงแม่ลูกอ่อน ให้ปฏิบัติอย่างเดียวกันกับคนหนุ่มสาว เพราะหญิงมีครรภ์หรือแม่ลูกอ่อนเสีย โปรตีนและแร่เกลือต่างๆ ออกจากร่างกายของตนมากในการเลี้ยงลูกทั้งในครรภ์ และนอกครรภ์

สำหรับหญิงชายทั่วไปซึ่งมีอายุเกิน 25 ปี และทำงานหนัก เช่น ผู้ใช้แรงงาน หรือนักกีฬาที่ออกกำลังกายมากๆ (นักมวย, นักมวยปล้ำ) ควรกินข้าวมากๆ และบ่อยๆ วัน 4-5 มื้อ มื้อละปริมาณมาก เช่น 2-3 จาน เพื่อเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เผาเป็นกำลังงาน และเพื่อกันมิให้โปรตีนแห่งร่างกายของตนถูกเผาเป็นกำลังงาน

สำหรับคนซึ่งมีอายุเกิน 25 ปี แต่ไม่ทำงานหนัก ได้แก่ ผู้ทำงานนั่งโต๊ะ ไม่ตรากตรำ และไม่บริหารร่างกายมาก ควรกินกับพอควร ไม่น้อย แต่ก็ไม่มากเท่าคนหนุ่มสาว ข้าวก็ไม่ควรกินมาก เพราะไม่มีโอกาสที่จะเผาให้เป็นกำลังงานได้หมด ถ้าไม่ออกกำลังกายมากแล้ว ขืนกินข้าวมาก็จะอ้วนลงพุง

ฯลฯ

ไม่แต่เพียงให้ กินกับมากๆ กินข้าวน้อยๆ เท่านั้น ยังเร่งส่งเสริมให้กินอาหารพวก “โปรตีน” เพื่อส่งเสริมอนามัยของชาติไม่ให้ประชาชนเกิดภาวะ “บกพร่องโปรตีน” ซึ่งโปรตีนในเวลานั้นไม่ได้จำกัดเพียงโปรตีนจากเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโปรตีนจากพืชตระกูลถั่วต่างๆ โดยเฉพาะถั่วเหลือง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ชาติชาย มุกสง. “2475 กับการปฏิวัติรสชาติอาหาร: จากการกินเพื่ออยู่สู่การกินเพื่อชาติ และการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของรสชาติในสังคมไทยร่วมสมัย” ใน, จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย, สถาบันนโยบายการศึกษา 2556

ยงค์ ชุติมา. ประมวลบทความของนายแพทย์ยงค์ ชุติมา ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนายแพทย์ยงค์ ชุติมา ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 8 สิงหาคม 2507


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2563