กำเนิดเพลง “มนต์รักลูกทุ่ง” โดยไพบูลย์ บุตรขัน สู่หนัง-ละครดัง “ตั้ว ศรัณยู” รับบท “คล้าว”

ไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลง มนต์รักลูกทุ่ง
ไพบูลย์ บุตรขัน (ภาพจาก ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน) ฉากหลังเป็นภาพพื้นที่เกษตร ใช้ประกอบเนื้อหาเท่านั้น

ในบรรดาภาพยนตร์ไทยที่ได้รับความนิยมตลอดกาล ผลงาน “มนต์รักลูกทุ่ง” ย่อมต้องมีชื่อติดอันดับด้วยแน่นอน องค์ประกอบแทบทุกอย่างในเรื่องประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับเพลงประกอบ ซึ่งสร้างชื่อให้กับนักร้องที่ขับร้องด้วย หนึ่งในเพลงที่ขึ้นชื่อก็คือเพลงไตเติล “มนต์รักลูกทุ่ง” ซึ่งประพันธ์คำร้องโดย ไพบูลย์ บุตรขัน

เพลง “มนต์รักลูกทุ่ง” ทำให้ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ลูกศิษย์ของครูผู้เป็นนักร้องที่ได้รับเลือกให้ร้องบทเพลงนี้โด่งดังเป็นพลุแตกในยุคต้นทศวรรษ 2500 ขณะที่ภาพยนตร์ที่ฉายเมื่อ พ.ศ. 2513 ก็ประสบความสำเร็จ ถูกนำมาฉายซ้ำ และผลิตใหม่หลายเวอร์ชัน สำหรับฉบับละครโทรทัศน์เมื่อปี 2538 ผู้รับบท “คล้าว” ก็คือ ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง นั่นเอง

องค์ประกอบสำคัญในภาพยนตร์นี้คือบทเพลง และเพลงไตเติลนำนั้นก็เป็นฝีมือของนักแต่งเพลงแห่งยุคที่โด่งดังในเวลานั้น นั่นก็คือ ไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลงมือเยี่ยมในประวัติศาสตร์วงการเพลงไทย

แดน บุรีรัมย์ ผู้คร่ำหวอดวงการดนตรีลูกทุ่งเล่าไว้ว่า ในยุคที่เพลงของครูไพบูลย์ได้รับความนิยม ผู้สร้างภาพยนตร์มักให้ครูไพบูลย์เป็นผู้เขียนเพลงประกอบแทบทั้งสิ้น เมื่อ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ จะสร้างภาพยนตร์ “มนต์รักลูกทุ่ง” ก็ขอให้ครูไพบูลย์เขียนเพลงไตเติล

แดน บุรีรัมย์ เล่าไว้ว่า ช่วงที่ได้รับมอบหมายงาน ครูไพบูลย์เดินทางไปบ้านเกิดที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างอารมณ์และหาบรรยากาศที่เหมาะสม ครั้นไปถึงบ้านเกิดแล้วก็ไปนั่งที่ทุ่งนาหลังบ้าน เวลานั้นเป็นช่วงเย็นที่พระอาทิตย์กำลังตกดิน เป็นภาพที่สวยงาม ประกอบกับฝนตกลงมาพอดี ครูจึงเริ่มเขียนคำร้องว่า

“หอมเอย หอมดอกกระถิน รวยระรินเคล้ากลิ่นกองฟาง เห็ดตับเต่าขึ้นอยู่ริมเถาย่านาง มองเห็นบัวสล้างลอยปริ่มริมบึง

อยากจะเด็ดมาดมหอมหน่อย ลองเอื้อมมือค่อยๆ ก็เอื้อมไม่ถึง อยากจะแปลงร่างเป็นแมลงภู่ผึ้ง แปลงได้จะบินมาคลึงเคล้าเจ้าบัวตูมบัวบาน

หอมดินเคล้ากลิ่นไอฝน ครวญระคนหอมแก้มนงคราญ ขลุ่ยเป่าแผ่วพริ้วผ่านทิวแถวต้นตาล มนต์รักเพลงชาวบ้านลูกทุ่งแผ่วมา

ได้คันเบ็ดสักคันพร้อมเหยื่อ…”

เมื่อแต่งถึงท่อนนี้ก็เขียนต่อไม่ได้ เวลาผ่านไปหลายเดือนก็ยังเขียนแล้วลบ เขียนแล้วขีดฆ่า เขียนไม่เสร็จเสียที กระทั่งเจ้าของหนังมาทวงถามเร่งผลงานว่า ถ่ายหนังจะเสร็จแล้ว เพลงยังไม่เสร็จเสียที ครูจึงลงมือเขียนต่อจนจบ ท่อนต่อมาคือ

“มีน้องนางแก้มเรื่อนั่งเคียงตกปลา ทุ่งรวงทองของเรานั้นมีคุณค่า มนต์รักลูกทุ่งบ้านนาหวานแว่วแผ่วดังกังวาน

โอ้เจ้าช่อนกยูง แว่วเสียงเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ซ้ำหอมน้ำปรุงที่แก้มนงคราญ…”

ผลงานเพลงชิ้นนี้ แดน บุรีรัมย์ อธิบายว่า เป็นเพลงที่ครูไพบูลย์ใช้เวลาเขียนนานที่สุด แต่ก็กลายเป็นเพลงที่ทั้งสร้างชื่อให้ ไพรวัลย์ ลูกเพชร โด่งดังมากในยุคนั้น อีกทั้งยังถือเป็นผลงานประวัติศาสตร์ในเส้นทางการแต่งเพลงของครูไพบูลย์ มีความไพเราะทั้งคำร้องและทำนอง โดยได้ พีระ ตรีบุปผา เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ภายหลังก็มีงานภาพยนตร์ตามมาอีกหลายเรื่องด้วย

เพลงนี้ยังได้รับรางวัลเนื้อร้องและทำนองชนะเลิศ จากงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทานฯ พ.ศ. 2514 ได้รับรางวัลพระราชทานแต่งเพลงดีเด่น ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2532 และรางวัลพิฆเนศทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 1 ถึง 2 รางวัลคือ เพลงไทยลูกทุ่งยอดเยี่ยมด้านทำนอง และด้านคำร้อง เมื่อพ.ศ. 2539

เมื่อมาสร้างเป็นเวอร์ชันละคร นักแสดงนำอย่างศรัณยู วงษ์กระจ่าง ยังร่วมขับร้องเพลงประกอบด้วยตัวเอง อาทิ สิบหมื่น และ ทวงสัญญา ผลงานมนต์รักลูกทุ่ง ฉบับละคร เมื่อ 2538 ก็ส่งให้ศรัณยูโด่งดังในช่วงเวลานั้นเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง

แดน บุรีรัมย์. “จากดวงใจถึงครู” ใน ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย : ไพบูลย์ บุตรขัน. บริษัท เมโทรแผ่นเสียง-เทป (1981).


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2563