ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“วันตังจี่” เป็นวันปีใหม่เก่าแก่ที่สุดของจีน ส่วน “ตรุษจีน” เพิ่งเป็นวันปีใหม่เมื่อ 2,000 กว่าปีนี้เอง
“วันตังจี่” เป็นวันปีใหม่ของจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (503 ปีก่อนพุทธศักราช–พ.ศ. 322) นับเป็นเทศกาลปีใหม่เก่าแก่ที่สุดของจีน
“ตังจี่” เป็นชื่อของ 1 ใน 24 ฤดูกาลย่อย ๆ ของจีนที่แบ่งตามสภาวะอากาศ ตังจี่แปลว่า “จุดสูงสุดของฤดูหนาว” วันตังจี่เป็นช่วงเวลากลางคืนยาวที่สุด และมีช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด
ปกติวันตังจี่แต่ละปีจะตรงกับวันที่ 22 หรือ 23 ธันวาคม แต่ปีใดที่เดือนกุมภาพันธุ์มี 29 วัน เทศกาลตังจี่ก็จะเป็นวันที่ 21 ยกตัวอย่าง เช่น ปี 2564 เป็นอธิกมาส จะตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม ส่วนปี 2565 และ 2566 ตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม]
สาเหตุที่ถือวันตังจี่เป็นวันปีใหม่ เพราะตังจี่เป็นฤดูย่อยแรกที่จีนพบจากการวัดเงาแดด จึงถือวันตังจี่เป็นวันปีใหม่ตามหลักดาราศาสตร์ และใช้เป็นหลักบอกเวลาฤดูย่อยๆ อื่น นอกจากนี้เมื่อถึงวันตังจี่เกษตรกรก็เสร็จการทำนาทำไร่มีเวลาว่าง สำหรับการเฉลิมฉลอง และมีพืชผลบริบูรณ์ที่จะใช้เซ่นไหว้บรรพชนและเทพเจ้า
สำหรับเมืองไทยหลายคนรู้จักเทศกาลนี้ในชื่อว่า “เทศกาลขนมอี๋” บางคนเรียก “เทศกาลขนมบัวลอย” เพราะขนมประจำเทศกาล ที่มีชื่อจริงว่า “อี๊” แต่คนไทยออกเสียงเป็น “อี๋” นอกจากนี้ขนมอี๋ของจีนกับขนมบัวลอยของไทยก็ทำจากแป้งข้าวเหนียวเหมือนกัน, ปั้นเป็นลูกกลมเหมือนกัน ต่างแค่บัวลอยไทยใส่น้ำกะทิ ขนมอี๋ใส่แค่น้ำตาล
ขนมบัวลอยเป็นขนมประจำเทศกาลตังจี่ ที่แต่ละบ้านต้องทำไหว้บรรพบุรุษ และมีคำพูดว่า “กินขนมบัวลอยตังจี่ อายุเพิ่มขึ้นอีกปี” นอกจากนี้ขนมบัวลอยยังเป็นขนมมงคลที่ใช้ในงานแต่งงาน, งานวันเกิดและใช้รับรองญาติพี่น้องจากแดนไกลที่กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ฯลฯ
ส่วนวันตรุษจีนเพิ่งเปลี่ยนมาเป็นวันปีใหม่ของจีนในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (พ.ศ. 340-551) หรือประมาณ 2,000 กว่าปีนี้เอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ความเป็นมาของตรุษจีน เทศกาลอายุกว่า 2000 ปี เคยถูกปีใหม่สากลยึดเวที
- สารทจีน เทศกาลผียุคปัจจุบันในจีนและไทย ไหว้กันอย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2557
เสี่ยวจิว. ตัวตน คน ‘แต้จิ๋ว’, สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2554
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2561