ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“ตรุษจีน” เทศกาลสิ้นปีเก่า-ขึ้นปีใหม่ที่มีขึ้นเมื่อ 2,000 กว่าปีนี้ ทั้งรัฐบาลจีนเคยยกเลิกไปใช้ “ปีใหม่สากล” แทน
ภาพคนจีนนับแสนนับล้านเดินทางกลับประเทศในเทศกาลตรุษจีนก็ดี ภาพคนจับจ่ายซื้อของเซ่นไหว้มากมายสำหรับวันตรุษจีนก็ดี ฯลฯ เป็นใครก็อดคิดไม่ได้ว่า “ตรุษจีนเป็นเทศกาลยิ่งใหญ่”
แต่ในความจริงตรุษจีนเป็น เทศกาลหน้าใหม่ และมีชะตาที่ผกผันไม่น้อย
ก่อนที่จะมีการกำหนดให้ตรุษจีนเป็นเทศกาลปีใหม่นั้น จีนมีวันปีใหม่มาก่อนหน้าถึง 2 วันด้วยกัน
1. ตงจื้อ (ตั้งโจ๊ยะ-สารทขนมบัวลอย) เป็นวันสารทปีใหม่ตามปรากฏการณ์สำคัญของธรรมชาติที่กลางวันจะเริ่มยาวขึ้น หรือปีใหม่ทางดาราศาสตร์แบบจีนโบราณ ช่วงนี้เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วมีอาหารสมบูรณ์ที่สุด เป็นวันปีใหม่ของจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (503 ปีก่อนพุทธศักราช-พ.ศ. 322) นับเป็นเทศกาลปีใหม่เก่าแก่ที่สุดของจีน
2. ลี่ชุน (หลิบชุน-เริ่มวสันต์) เป็นวันปีใหม่ตามฤดูกาล และการเกษตร ตรงกับวันที่ 4 หรือ 5 กุมภาพันธ์ (ยกเว้นปีอธิกมาศ) เพราะหิมะเริ่มละลายเตรียมตัวทำนา การทำมาหากิน เดิมลี่ชุนเป็นเทศกาลปีใหม่ที่คึกคักกว่าวัน 1 ค่ำ เดือนอ้าย เพราะมีความสำคัญกับวิถีชีวิต ตั้งแต่ทางการใช้ปฏิทินไท่ชู (ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 439 ) เป็นต้นมา
ส่วนวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ ตามปฏทินจันทรคติของจีนโบราณ หรือ“วันตรุษจีน”นั้นไม่คึกคัก
เพราะสัมพันธ์กับธรรมชาติและวิถีชีวิตน้อยกว่าวันปีใหม่วันอื่น อีกทั้งเปลี่ยนไปตามปฏิทินของทางราชการด้วย ในสมัยโบราณวันขึ้นปีใหม่และสิ้นปีเก่าที่เรียกว่า “ตรุษจีน” นี้จึงมีความสำคัญน้อย และเพิ่งเปลี่ยนมาเป็นวันปีใหม่ของจีนในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (พ.ศ. 340-551) หรือประมาณ 2,000 กว่าปีนี้เอง
ตัวเทศกาลหลักของตรุษจีนคือวันสิ้นปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่ ปัจจุบันจีนยังแยกตรุษจีนออกเป็น 2 เทศกาล วันสิ้นปีเรียกว่า “ฉูซี่ (除夕) ตัดปี คืนสุดท้าย” วันขึ้นปีใหม่เรียกว่า “ชุนเจี้ย (春节 ) เทศกาลวสันต์” หรือ “หยวนตัน (元旦) ปฐมวาร”
ความจริงตัววันตรุษจีนคือวันสิ้นปี (วันไหว้ใหญ่ของตรุษจีนเมืองไทย) เพราะ “ตรุษ” แปลว่า ตัด คือ ตัดปี หรือ สิ้นปี เช่น ตรุษไทย คือวันแรม 15 ค่ำ สิ้นเดือนสี่ ขึ้น 1 ค่ำเดือนห้า เป็นปีใหม่ เปลี่ยน นักษัตร (แต่ปัจจุบันนิยมไปฉลองใหญ่ในวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันปีใหม่ เปลี่ยนจุลศักราช) ที่ปฏิทินเมืองไทยพิมพ์ว่าวัน 1 ค่ำเดือนอ้าย จีนเป็น “วันตรุษจีน” นั้นไม่ถูก แต่ก็ใช้กันมาจนชิน จนผิดกลายเป็นถูก ยากที่จะแก้ไขได้
ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ตรุษจีนเป็นเทศกาลอันเนื่องด้วยการบวงสรวงเพื่อการเกษตรเป็นสําคัญ ต่อมาในสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ (พ.ศ. 963-1132) จึงมีกิจกรรมอันเนื่องด้วยผีสางและไสยศาสตร์เพิ่มเข้ามา เช่น จุดประทัด เปลี่ยน ยันต์ไม้ท้อ ดื่มสุราถูซู เฝ้าปี ช่วงเวลาของเทศกาลก็ขยายยาวออกไปจนเชื่อม ตั้งแต่เทศกาลล่าปาไปจนถึงเทศกาลหยวนเซียว และสําคัญที่สุดของจีนตั้งแต่นั้นมา
สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161-1450) กิจกรรมในเทศกาลตรุษจีนวิวัฒน์จากการบวงสรวงทางการเกษตรและความเชื่อทางไสยศาสตร์มาเป็นกิจกรรมบันเทิง และวัฒนธรรมตามประเพณีเป็นสําคัญ การจุดประทัดมุ่งความสนุกสนานเฉลิมฉลองมากกว่าไล่ผี ตั้งแต่ราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ตรุษจีนเป็นเทศกาลมงคลเฉลิมฉลองใหญ่ร่วมกันของคนทั่วประเทศ
ถึงราชวงศ์หมิงและชิง เทศกาลตรุษจีนมีพัฒนาการไป 2 ด้าน คือ 1. มีกิจกรรมทางสังคมชัดขึ้น เช่น การคารวะอวยพรปีใหม่ ส่งบัตรอวยพรปีใหม่ 2. มีกิจกรรมด้านศิลปะและความบันเทิงมากขึ้น เช่น เชิดสิงโต เชิดมังกร มหรสพและการละเล่นรื่นเริงอีกมากมาย เป็นเทศกาลใหญ่คึกคักสนุกสนานที่สุดตลอดมาจนสิ้นราชวงศ์
เมื่อจีนเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐในปี พ.ศ. 2454 ได้พัฒนาประเทศไปตามแนวทางของชาติตะวันตก มรดกวัฒนธรรมจีนจำนวนมากถูกลดความสําคัญ จนถึงขั้นยกเลิกไปเลยก็มี เรื่องปฏิทินและเทศกาล รัฐบาลประกาศใช้ปฏิทินเกเกอเรียนของฝรั่งแทนปฏิทินเกษตรของจีน กําหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็น วันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นปีแรก เรียกว่าปฏิทินใหม่ ส่วนปฏิทินเกษตรเดิมให้เรียกว่าปฏิทินเก่า
วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 กระทรวงกิจการในประเทศ (มหาดไทย) เสนอหนังสือต่อคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกปฏิทินเก่าเด็ดขาด มีรายงานว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนปี พ.ศ. 2472 หลายถิ่นใช้อํานาจรัฐตรวจริบสินค้าของร้านขายของเทศกาลตรุษจีน
ปี พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลกําหนดวันหยุดราชการใหม่ วันเทศกาลดั้งเดิมของจีนมีวันตรุษจีนได้เป็นวันหยุดเพียงวันเดียว เทศกาลอื่นแม้ยังมีอยู่แต่รัฐไม่ให้ความสําคัญ
ถึงช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม พ.ศ. 2510-19 รัฐบาลประกาศว่า “เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิวัติและข้อเสนอมวลชน จึงยกเลิกวันหยุดตรุษจีน” สิ้นยุคปฏิวัติวัฒนธรรมแล้วตรุษจีนจึงกลับเป็นวันหยุดตามเดิม
อย่างไรก็ตามในยุคจีนใหม่ทั้งรัฐบาลก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์ไม่ให้ความสําคัญ ไม่ให้เวลาแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลอันเป็นมรดกจากอดีตของจีน นับจาก พ.ศ. 2455 เป็นต้นมาเป็นเวลาเกือบร้อยปี
จนกระทั่งวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2550 รัฐบาลจีนจึงประชุมมีมติเรื่อง “วันหยุดเทศกาลและวันหยุดราชการ” ว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป ให้เทศกาล ตรุษจีนเป็นวันหยุดยาว 7 วัน เทศกาลเช็งเม้ง, ขนมจ้าง(บ๊ะจ่าง) และ ไหว้พระจันทร์ หยุดเทศกาลละ 1 วัน
ในต่างประเทศตรุษจีนก็เป็นเทศกาลที่แพร่หลายมาก ในประเทศไทยแม้คนไทยที่ไม่มีเชื้อสายจีนบางคนก็พลอยทําตามไปด้วย เพื่อมิให้ลูกหลานดูตาเขากินเป็นสําคัญ ของไหว้ในเทศกาลก็แปรเปลี่ยนไป จากที่ไหว้ขนมเข่งก็นิยมใช้ขนมเทียนไหว้ด้วย ซึ่งเข้าใจว่าคนไทยจะคิดขึ้นเอง เพราะมีดังปรากฏชื่ออยู่ใน กาพย์ เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
แม้ในราชสํานักก็มีการพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยรัชกลที่ 3 นับเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสิบสองเดือน ดังที่รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชาธิบายว่า
สาเหตุของการพระราชกุศลดังกล่าวเกิดจากการที่ชาวจีนนําหมู เป็ด ไก่ และขนมต่างๆ มาถวาย รัชกาลที่ 3 ในเทศกาลตรุษจีนเป็นจํานวนมาก จึงมีรับสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์มาฉัน ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย 3 วัน วันละ 30 รูป โดยไม่มีการสวดมนต์ นอกจากนั้นยังโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์จัดขนมจีน มาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันทั้ง 3 วัน หลังจากพระฉันแล้วเลี้ยงข้าราชการ และทรงจ่ายเงินซื้อปลาปล่อยวันละ 10 ตําลึง
ต่อมารัชกาลที่ 4 จึงทรงยกเลิกขนมจีน โปรดให้ทำเกาเหลาเลี้ยงพระแทน และทรงปรับปรุงการพระราชพิธีไปบ้าง เช่น ทรงสร้างศาลาหลังคาเก๋งขึ้นหน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย พร้อมกับการมีเทวรูปตั้งบูชามีเครื่องเซ่นสังเวยตลอดเวลา 3 วัน ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กลับโปรดให้เลี้ยงขนมจีนตามแบบเก่า ปัจจุบันการพระราชกุศลนี้ยกเลิกไปแล้ว แต่ราชสกุลบางสกุลยังทำพิธีไหว้ตรุษจีนอยู่
ข้อมูลจาก
ถาวร สิกขโศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2557
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2562