ฝรั่ง-แขก-จีน-ไทย กับวิธี “กิน” ที่เหมาะสมกับอาหารของตนเอง

คนไทย กินข้าว เป็นกลุ่ม
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากภาพลายเส้นข้าราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพจากหนังสือ Travels in Siam, Cambodia and Laos 1858-1860 เขียนโดย Henri Mouhot

เพื่อนคนไทยที่เคยร่วมโต๊ะอาหารกับชาวไทยหรืออเมริกา (ที่ออกเป็นโต๊ะอาหารสมบูรณ์แบบตามประเพณี) อาจจะแปลกใจนิดหน่อยที่เห็นฝรั่งใช้มีดส้อมกินเนื้อกินผัก

แต่เมื่อจะกินขนมปังที่วางอยู่บนจานทางซ้ายมือนั้นจะใช้มือหัก ไม่ใช่มีดเป็นอันขาด

ทำไมหรือ?

ประเพณีนี้มิได้เกิดโดยบังเอิญหากมีความหมายที่สำคัญ

การกินของฝรั่ง

แต่เดิมนั้นฝรั่งกินเหมือนแขกคือจะมีแผ่นขนมปังคล้ายโรตีวางอยู่ต่อหน้าแต่ละคน กลางโต๊ะจะมีเนื้อย่างแลของต้มต่างๆ ต่างคนจะเฉือนเนื้อหรือตักของต้มราดลงไปบนโรตีของตน (แผ่นโต) แล้วใช้มือเปิบเข้าปากรวมทั้งฉีกโรตี (แผ่นโตๆ) เป็นชิ้นๆเข้าไปด้วย

(ภาพจาก https://www.matichonweekly.com)

ก็สกปรกมูมมามพอสมควร แต่สมัยนั้นไม่มีใครถือกันเพราะมือใครเปื้อน เมื่อไรก็ให้หมาใต้โต๊ะเลียให้สะอาดสะอ้านจนจับมือนางออกเต้นรำได้สบาย

การกินตามประเพณีเก่าของฝรั่งนี้เรียกว่า “การหักขนมปัง” (Breaking Bread) และถือกันว่าใครๆ  “หักขนมปัง” ด้วยกันแล้วจะต้องเป็นมิตรต่อกันอย่าให้ห้ำหั่นกันเลย

ต่อมาเมื่อประมาณ 4-5 ร้อยปีที่ผ่านมาในอิตาลีเกิดมีสังคม “ผู้ดี” คิดมีดส้อมขึ้นมาใช้ในวัง

ก็ใช้ในวังอิตาลีได้

แต่เมื่อแพร่ออกมาใช้ในที่อื่นเกิดเรื่องขึ้นมาทันที เพราะพวกร่วมโต๊ะมีมีดมีส้อมติดมือรอบโต๊ะอาหาร(กินเหล้ากันทุกมื้อ) ก็มักใช้มีดใช้ส้อมไล่แทงกัน

นอกจากนี้แล้วพกวกอนุรักษ์นิยมเห็นเครื่องมือใหม่นี้เป็นของปิศาจซาตาน “พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานอาหารโอชาและอุดมสมบูรณ์แล้วใครเล่าจะจองหองถึงขนาดไม่ยอมรับประทานด้วยมือ?”  การใช้มีดและส้อมจึงกลายเป็นเรื่องบาปไป

จนทุกวันนี้ผมก็กินอาหารฝรั่งก็ใช้มีดใช้ส้อม

แต่ผมไม่กล้าใช้มีดตัดขนมปัง และเห็นใครอื่นใช้มีดผมเสี้ยวไส้ มันเหมือนเอามีดแทงอกแม่โพสพ

การกินของแขก

น่าสนใจมากที่คนไทยส่วนใหญ่ (รวมทั้งอาจารย์คึกฤทธิ์) เห็นว่า “แขกกินสำรวม”

ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเพราะตามประเพณีนั้นโต๊ะอาหารแขกจะต้องจัดเหมือนโต๊ะอาหารไทยสมัยเก่า

นั่นคือ กับข้าวแต่ละจานบนโต๊ะอาหารจะต้อง แนม กัน

บนโต๊ะอาหารไทยตามประเพณี หากมีของเผ็ดมากก็ต้องมีไข่ต้มเปล่าๆ รับ หรือแกงขี้เหล็กจะต้องมีปลาสลิดแห้งแนม

สำรับอาหารเนปาล(ภาพจกากhttps://www.matichon.co.th)

บนโต๊ะอาหารแขกเช่นกัน กับข้าวแต่ละอย่างจะต้องแนมกันได้เช่นมีแกงไก่เผ็ดๆ แห้งๆ ก็ต้องมีปลาแห้ง, ผักคั่ว และแกงถั่วเละๆ

แขกเขาจะไม่เคล้ากันให้หมดแบบ “สำรวม” แต่จะเลือกเนื้อไก่ชิ้นหนึ่ง, ปลาแห้งซีกหนึ่งกับผักชนิดหนึ่ง แล้วใช้แกงถั่วเละๆ เป็นตัวเชื่อมคลุกกันกับข้าวให้ดีแล้วเปิบ เข้าปาก

อย่างนี้เห็นจะเรียกว่า “การกินสำรวม” ไม่ได้ เพราะเขาเลี่ยงกับที่แนม กันทั้งนั้น

การกินของจีน

อาหารของจีนเป็นที่อร่อยที่สุดของโลก ใครๆ ก็ยอมรับ คนจีนโดยมากมักกินกับทีละอย่างๆ โดยไม่ต้องการมีการแนมกันเลย

เป็นที่น่าสังเกตว่าในขณะที่แขก ฝรั่งและไทยเคยไม่มือเปิบนั้นคนจีนและศิษย์ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม ย่อมใช้ตะเกียบซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายแต่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะช่วยให้นำอาหารร้อนๆ เข้าปากโดยไม่ต้องเจ็บนิ้ว

แล้วทำไมชาติอื่นไม่คิดใช้ตะเกียบมั่ง?

ถ้าใครอยากรู้ว่าตะเกียบมีความเป็นมาอย่างไรอย่าถามผม แต่ขอเชิญชมการ์ตูนนี้เถิด (เขียนโดย Garry Larson ในชุดการ์ตูน The Far Side)

ผมไม่ทราบว่านักปราชญ์จีนสมัยหินเคยใส่แว่นตาดังเห็นในภาพการ์ตูนหรือไม่ แต่แน่นอนทีเดียวเป็นคนจีนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่คิดตะเกียบขึ้นมาจนได้

การกินของชาวสยาม

จะว่าชาวสยามปัจจุบันจนด้วยวัฒนธรรมก็เห็นเป็นไปไม่ได้ เพราะคนไทยทุกวันนี้รู้จักกินข้าวด้วยช้อนส้อมอย่างฝรั่งสมัยใหม่ ด้วยตะเกียบอย่างคนคนจีน และด้วยมืออย่างแขก และไทยลาวพื้นเมือง

วิธีการกินหลากหลายแบบนี้ก็เหมาะสมกับอาหารไทยปัจจุบันซึ่งหลากหลายยิ่งกว่าอาหารชาติใดๆ โดยมีของเดิม เช่น ข้าวเหนียว ส้มตำ ลาบ ซึ่งเหมาะที่ใช้มือป้อนเข้าปาก, ของแขกๆ เช่น แกงใส่กะทิ, ของที่ออกจีนๆ เช่นผัดต่างๆ กับต้มจืด ซึ่งเหมาะจะใช้ช้อนส้อม และของจีนแท้ๆ เช่นก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ซึ่งใช้มือกินไม่ได้เด็ดขาด

จึงเห็นได้ว่าคนไทยสามารถเลือกวิธีกินตามชนิดของอาหารที่สบายและเหมาะสม

แต่ผมอยากรณรงค์ชักชวนกันให้ใช้มือเปิบมากขึ้นโดยเฉพาะ ในกรณีที่ชนิดของอาหารอำนวยให้ทำเช่นนั้น แกงบางชนิด ของคั่วและยำต่างๆ ทั้งนี้เพราะนิ้วมือนั้นสามารถหยิบของที่แนมกัน แล้วเคล้าให้เข้ากับข้าวได้สนิททำให้อร่อยมากขึ้นหลายเท่า

รับรองว่าไม่ผิดหวัง อยู่ดีกินอิ่มเด๊อ !

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2562