ความเป็นมาของ “ตานก๋วยสลาก” ประเพณีทำบุญให้คนตาย ทำทานให้คนเป็น

ก๋วยสลาก ตานก๋วยสลาก กิ๋นข้าวสลาก ประเพณี ภาคเหนือ
"ก๋วยสลาก" ในประเพณีตานก๋วยสลาก ของภาคเหนือ (ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ)

“ตานก๋วยสลาก” หรือที่ภาษาไทยภาคกลางเรียกว่า “สลากภัต” เป็นประเพณีเนื่องในพระพุทธศาสนาที่กระทำสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ในภาคเหนือจะเรียกประเพณีต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น มีทั้ง ตานสลาก กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นก๋วยสลาก กิ๋นสลาก แต่ก็ล้วนหมายถึงประเพณีเดียวกัน แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปบ้างก็ตาม

ประเพณี ตานก๋วยสลาก มักทำกันตั้งแต่เดือน 12 เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านหยุดพักจากทำนา พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่ในวัดเพราะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา ผลไม้มากและกำลังสุก เช่นส้มโอ ส้มเกลี้ยง กล้วย อ้อย และยังเป็นช่วงที่ข้าวเปลือกหรือข้าวสารใกล้หมดยุ้งฉาง จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสม โดยมีความเชื่อว่าการตานก๋วยสลากนอกจากจะเป็นการทำบุญแก่ญาติผู้ล่วงลับแล้ว ยังเป็นการทำทานสงเคราะห์แก่คนยากไร้ ซึ่งถือว่ามีกุศลแรง

1 วันก่อนวันตานก๋วยสลาก จะมีการจัดเตรียมข้าวของ เรียกว่า “วันดา” หรือ “วันสุกดิบ” ชาวบ้านจะจัดเตรียมสิ่งของไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม ดอกไม้ ของใช้ มาจัดเตรียมใส่ “ก๋วย” ซึ่งเป็นตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายชะลอม จะรองก้นด้วยใบตองหรือกระดาษ หรือในปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นถังน้ำพลาสติกหรืออะลูมิเนียม เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ โดยวันนี้จะมีญาติสนิทมิตรสหายจากต่างหมู่บ้านมาร่วมกันจัดก๋วย

ก๋วยสลาก มีอยู่หลากหลายแบบหลายขนาด ตามแต่ความคิดสร้างสรรค์และกำลังศรัทธาของแต่ละคน แบ่งออกเป็น 2 แบบกว้าง ๆ คือ ก๋วยน้อย กับ ก๋วยใหญ่ มีก๋วยพิเศษ เช่น ก๋วยย้อมหรือสลากย้อม เป็นของหญิงสาวทำขึ้น เชื่อว่าเมื่อถวายแล้วจะทำให้ครอบครัวมีความสุข ในบางท้องที่โดยเฉพาะในกลุ่มไทยองก็จะมีข้าวของเครื่องใช้มากกว่าปกติ มีหวี กระจก แป้ง ผ้าเช็ดหน้า หรือของใช้ผู้หญิงอื่น ๆ และจะกางร่มไว้บนยอดสุด

ส่วนก๋วยโจ้ค (โจ้คหมายถึงโชค) เป็นก๋วยสลากขนาดใหญ่ อาจเป็นกระบะมีขาสูงแค่เอว หรือเป็นต้นสลากขนาดใหญ่สูงหลายเมตร มีต้นดอกหรือกิ่งไม้แขวนเครื่องใช้ต่าง ๆ หรืออาจเป็นกระบุงขนาดใหญ่มาก ปักด้วยต้นคาหรือหญ้าคาทำเป็นก้านยาวเพื่อแขวนสิ่งของต่าง ๆ หรือบางครั้งอาจทำเป็นบ้านขนาดย่อม ๆ หรือปราสาทแบบล้านนา นำข้าวของต่าง ๆ ใส่ในบ้าน โดยก๋วยโจ้คจะใส่ปัจจัยมากกว่าก๋วยชนิดอื่น ๆ และเชื่อว่ามีกุศลมาก

ก๋วยสลากในรูปแบบของบ้านหลังเล็ก เพื่ออุทิศให้กับญาติผู้ล่วงลับ (ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ)

ข้าวของเครื่องใช้ที่ใส่ในก๋วย โดยทั่วไปได้แก่ น้ำ ข้าวสุก ข้าวสาร อาหารสุก อาหารแห้ง แคบหมู แหนม ไส้อั่ว หมูหนึ่ง ปลานึ่ง นอกจากนี้จะมีพริก เกลือ หอมแดง กระเทียม เมี่ยง บุหรี่ หมาก พลู ปูน ยาสูบ เทียนไข สบู่ สมุด ดินสอ ยาสีฟัน ขนมต้ม ขนมเทียน ขนมชั้น หรือขนมชนิดอื่น ๆ ตามแต่สะดวก และยังมีดอกไม้รวมถึงผลหมากรากไม้ เช่น กล้วย อ้อย แต่ที่สำคัญที่สุดคือเงินที่จะต้องนำปักส่วนยอดก๋วย

เมื่อถึงวันตานก๋วยสลาก ชาวบ้านจะเขียน “เส้นสลาก” ซึ่งเป็นใบลานหรือใบตาล ในปัจจุบันบางที่ได้เปลี่ยนมาใช้กระดาษแทน โดยระบุข้อความลงไปในเส้นสลากว่าใครเป็นของ จะถวายทานไปหาบรรพบุรุษหรือญาติพี่น้องผู้ล่วงลับชื่ออะไร หรืออุทิศให้ผู้อื่นผู้ใด และระบุที่อยู่ว่าอยู่ส่วนไหนของวัดเพื่อให้พระสงฆ์หาพบโดยสะดวก จากนั้นจะนำเส้นสลากมากองรวมกันหน้าพระประธานในวิหาร ขณะที่ชาวบ้านจะนำก๋วยมารออยู่ด้านนอกอย่างคับคั่ง

พระสงฆ์อ่านเส้นสลาก (ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ)

ประเพณีนี้ไม่ได้จำกัดแค่คนในหมู่บ้านเดียว หากรวบรวมคนจากต่างหมู่บ้าน และญาติมิตรพี่น้องจากต่างถิ่นจำนวนมาก วัดที่เป็นเจ้าภาพจัดงานก็ต้องนิมนต์พระจากวัดอื่นมาช่วยรับเส้นสลาก ตานก๋วยสลาก จึงคับคั่งด้วยผู้คนจากสารทิศ และเมื่อพระสงฆ์ทำพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในวิหารแล้วเสร็จ จะนำเส้นสลากแบ่งให้กับพระสงฆ์ ชาวบ้านบางคนก็จะเดินหาเส้นสลากของตนเพื่อนิมนต์พระสงฆ์ให้มารับก๋วยได้สะดวก โดยไม่ต้องให้พระสงฆ์เดินตามหาให้วุ่นวาย เมื่อเจอเจ้าของเส้นสลากแล้ว พระสงฆ์จะให้ศีลให้พร หยาดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับที่มีชื่อในสลากนั้นก็เป็นอันเสร็จพิธี

ในช่วงเที่ยงจะมีการแจกจ่ายข้าวของเครื่องใช้ในก๋วยสลากให้กับชาวบ้านที่มารอรับ หรือนำไปแจกจ่ายสงเคราะห์ให้กับผู้ยากไร้อีกต่อหนึ่ง เพราะข้าวของเครื่องใช้ในก๋วยสลากมีมากเหลือเฟือสำหรับพระสงฆ์ ในอดีตจะแกะเอาข้าวของในก๋วยสลากมารับประทานร่วมกัน หรือในปัจจุบันบางท้องถิ่นจะมีการทำโรงทานเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้ก็มี

ประเพณี “ตานก๋วยสลาก” หรือ “สลากภัต” จึงเป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนาที่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างวัดกับชุมชน สร้างความสามัคคีในหมู่ญาติสนิทมิตรสหาย นอกจากจะเป็นการทำบุญให้คนตายยังทำทานให้คนเป็นอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ฉลอง พินิจสุวรรณ. (มกราคม, 2542). “ตานก๋วยสลาก” ประเพณีที่ใกล้สูญ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 20 (ฉบับที่ 3) : หน้า 58-59.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. (2542). กรุงเทพฯ : สยามเพรส แมเนจเม้นท์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2562