“ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ” ตำนานเมืองนครฯ และเรื่องผ้าสีชมพูห่มพระมหาธาตุของรัชกาลที่ 5

พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุ เมืองนครฯ
ภาพถ่ายเก่าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช (ภาพจาก www.europeana.eu)

ประเพณีที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองนครฯ นั้นมีหลายประเพณี หนึ่งในประเพณีที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครฯ คือประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุณ พระมหาธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เมืองนครฯ ทั้งนี้เพราะประเพณีนี้ไม่มีปฏิบัติกันที่ใดในประเทศไทย นอกจากเมืองนครฯ เท่านั้น

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุคือประเพณีที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันแห่ผ้าขึ้นห่มโอบรอบฐานพระมหาธาตุ ที่ประดิษฐานภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช มักกระทำกันในวันสำคัญทางพุทธศานา คือวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เมืองนครฯ
ขบวนพุทธศาสนิกชนกำลังแห่ผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ (ภาพจาก KOSIN SUKHUM / wikipedia)

ตำนานพระมหาธาตุเมืองนครฯ

การเรียกชื่อเจดีย์ของวัดมหาธาตุนั้นมีหลายชื่อ ในบทความนี้จะขอใช้คำว่า พระมหาธาตุ โดยพระมหาธาตุเป็นพุทธศาสนโบราณสถานสำคัญของไทย เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวนครฯ ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างที่แน่ชัด แต่มีตำนานกล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาสู่หาดทรายแก้ว เมื่อประมาณ .. 834 นางเหมชาลาและพระธนกุมารจึงได้สร้างพระมหาธาตุ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระมหาธาตุมีสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นแบบใด แต่พระมหาธาตุได้รับการก่อสร้างตกแต่งเพิ่มเติมอยู่เสมอ ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตรงกับสมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ เมืองนครฯ ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายมหายาน จึงสันนิษฐานว่าพระมหาธาตุอาจมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย

ต่อมา ราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ปฐมวงศ์ศรีธรรมโศกราช ได้นิมนต์คณะสงฆ์จากลังกามายังเมืองนครฯ และได้สถาปนาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ขึ้น จากนั้นจึงได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุ โดยสร้างสถูปลังกาครอบพระมหาธาตุองค์เดิม เป็นสถาปัตยกรรมแบบลังกาทรงโอคว่ำ ปากของระฆังติดกับพื้นกำแพงแก้ว ที่มุมกำแพงแก้วมีพระมหาธาตุจำลองประดิษฐานทั้งสี่มุม

การแสดงรำมโนราห์ในงานสมโภชพระมหาธาตุ วัดพระมหาธาตุ

ตำนานการแห่ผ้าพระบฏ

จากบทความแห่ผ้าขึ้นธาตุ มรดกจากราชวงศ์ศรีธรรมโศกราชอธิบายตำนานที่มาของการแห่ผ้าขึ้นธาตุว่า ไม่กี่วันก่อนจะเริ่มพิธีสมโภชพระมหาธาตุ ผ้าขาวผืนหนึ่งที่มีลายเขียนพุทธประวัติ เรียกกันว่าพระบตหรือพระบฏ ถูกคลื่นซัดขึ้นที่หาดปากพนัง ชาวบ้านจึงนำผ้าผืนนั้นถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช

เมื่อเจ้าพนักงานทำความสะอาดแล้วเสร็จปรากฏว่าลายเขียนนั้นก็ไม่เลือนหายไป ซักเสร็จจึงผึ่งไว้ในพระราชวัง และประกาศหาเจ้าของจนได้ความว่า พระบฏเป็นของพุทธศาสนิกชนคณะหนึ่งที่แล่นเรือมาจากเมืองหงสาวดี มีผขาวอริพงษ์เป็นหัวหน้าคณะจะนำพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่ถูกมรสุมพัดจนเรือแตกเสียก่อน

พุทธศาสนิกชนกลุ่มนั้นมีราว 100 คน รอดเพียง 10 คน ผขาวอริพงษ์ที่รอดชีวิตมาด้วยก็ยินดีถวายผ้าพระบฏให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงโปรดให้ชาวเมืองจัดเครื่องประโคมแห่แหนขึ้นห่มพระมหาธาตุ ในคราวเดียวกับการสมโภชพระมหาธาตุนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม จากหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้อธิบายตำนานเรื่องนี้ต่างออกไปเล็กน้อย กล่าวคือ คณะพุทธศาสนิกชนล่องเรือมาจากเมืองอินทรปัต ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงฝั่งเขมร จะนำพระบฏไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้ว ที่ลังกา และเข้ามาเมืองนครศรีธรรมราชในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ส่วนหัวหน้าคณะพุทธศาสนิกชนนั้นไม่ปรากฏชื่อ แต่เสียชีวิตไปเนื่องจากจมน้ำ

แม้ตำนานจากทั้งสองแหล่งที่มาจะเล่ารายละเอียดแตกต่างกัน แต่เล่าเรื่องราวไปในทิศทางเดียวกันคือ เรือของพุทธศาสนิกชนคณะหนึ่งที่กำลังจะไปลังกา เกิดเหตุเรือแตกกลางทะเล แล้วคลื่นได้ซัดผ้าพระบฏมาขึ้นที่ชายหาด ก่อนจะนำผ้าพระบฏไปห่มพระมหาธาตุในการสมโภชพระมหาธาตุ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เมืองนครฯ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 18 (ไม่ระบุปีที่ถ่ายภาพ)

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ในสมัยรัตนโกสินทร์

ในอดีตการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นไม่ปรากฏว่ามีกำหนดวันตายตัวว่าแต่ละปีจะต้องทำวันใด อาจจะกำหนดตามฤกษ์สะดวก แต่การแห่ผ้าขึ้นธาตุมักจัดในงานสมโภชพระมหาธาตุ กำหนดการแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงขึ้นอยู่กับงานสมโภชและจัดไม่แน่นอนในแต่ละปี

กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ปรากฏว่าได้ทำการแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชา ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์ให้พุทธศาสนิกชนจัดพิธีทางพุทธศาสนาเพิ่มอีกวันหนึ่ง ดังนั้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา จึงได้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุเพิ่มอีกวันหนึ่งด้วย

การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมักจัดขึ้นในงานสมโภชพระมหาธาตุ หรืองานพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ก็เคยมีการแห่ผ้าขึ้นธาตุในคราวพิเศษ คือในคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประพาสแหลมมลายู .. 2448 พระองค์ขึ้นไปห่มผ้าพระมหาธาตุ ดังพระราชหัตถเลขา ความว่า

วันที่ 5 .. เวลาเช้าไม่ได้ไปแห่งใด เพราะเหนื่อยและนอนน้อย เวลาบ่ายผ้าห่มพระบรมธาตุตามเคย แต่หาผ้าแดงไม่ได้ ซื้อทำธงรับเสด็จกันหมดเมือง จึงต้องใช้สีชมพู เข้าไปที่วิหารพระม้า ถ่ายรูปที่นั่นและทับเกษตร แล้วไปดูละครทรัพย์ ภรรยาพระศิริรักษ์ที่พลับพลา

ปัจจุบันผ้าพระบฏที่เขียนภาพพุทธประวัติ (อาจมีการประดับด้วยสิ่งของต่าง เช่น ลูกปัด แพรพรรณ และดอกไม้) เป็นสิ่งหายากมากขึ้น เพราะขาดช่างผู้ชำนาญ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเน้นความสะดวกและเรียบง่าย ขณะที่ผ้าห่มพระธาตุก็มีหลากสีมากกว่าสมัยก่อนที่นิยมสีขาว สีแดง และสีเหลือง

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นประเพณีสำคัญของชาวนครฯ และเป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ นับเป็นประเพณีที่รวมเอาศรัทธาด้วยความบริสุทธิ์ใจของชาวพุทธเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครศรีธรรมราช.  (2544).  กรุงเทพฯ: คุรุสภา.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 18.  (2542).  กรุงเทพฯ: สยามเพรส.

ปรีชา นุ่นสุข.  (2530, 11 กันยายน).  แห่ผ้าขึ้นธาตุ มรดกจากราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช.  8(11).  หน้า 108-115.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2562