เกร็ดกฎมณเฑียรบาลราชสำนักพม่า เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ทำไมต้องเรียกไปลงชื่อในวัง?

ท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการในพระราชวังมัณฑะเลย์

เกร็ดกฎมณเฑียรบาลราชสำนักพม่าที่นำมาเสนอในที่นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแปลมาจากหนังสือภาษาอังกฤษ ชื่อ Upper Burma Gazetteer เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. 2443 ทรงแปลเมื่อ พ.ศ. 2478 (กฎมนเทียรบาลพะม่า. โรงพิมพ์พระจันทร์, 2479) เฉพาะในหัวข้อ พระราชานุกิจ และขนบธรรมเนียมในราชสำนัก ที่น่าสนใจมีดังนี้

– กษัตริย์พม่ามีพระราชานุกิจที่ต้องทรงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ คือ เสด็จออกขุนนางวันละ 3 ครั้ง เวลาเช้าราว 8 นาฬิกา เจ้านายและข้าราชการต้องเข้าเฝ้าโดยพร้อมเพรียงกัน ปรึกษาราชการแผ่นดิน, เวลาบ่ายราว 15 นาฬิกา ข้าราชการเข้าเฝ้า ปรึกษาราชการในพระองค์และการในพระราชฐาน และเวลาค่ำราว 19 นาฬิกา หัวหน้าข้าราชการเข้าเฝ้า ปรึกษาราชกิจในพระองค์และการในพระราชฐาน หรือทรงสนทนากับข้าราชการเฉพาะแต่บางคน

– เวลาเสวยมี 4 เวลา เวลาเช้าราว 7-9 นาฬิกา ก่อนเสด็จออกขุนนางครั้งหนึ่ง เวลาเที่ยงครั้งหนึ่ง เวลาเย็นครั้งหนึ่ง และเวลาค่ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเสด็จเข้าที่บรรทม มีนางกำนัลนางสนมผลัดเวรกันอยู่ยามนอกห้องพระบรรทม อ่านหนังสือ เช่น เรื่องชาดก เป็นต้น ถวายตลอดรุ่ง

– ในการเสด็จออกขุนนางเวลาเช้า หากเจ้านาย เสนาบดี ข้าราชการ หรือใครก็ตามที่มีหน้าที่ต้องเข้าเฝ้า ถ้าขาดมีเหตุไม่จำเป็น ต้องโทษขัง 3 วัน

– หากเกิดไฟไหม้ในพระนคร เจ้านายและข้าราชการต้องไปลงชื่อในพระราชวังทุกคน ถ้าขาดมีเหตุไม่จำเป็น ต้องโทษเอาตัวเปลื้องผ้ามัดตากแดด เหตุที่ต้องให้ไปลงชื่อเพราะว่า พวกกบฏมักจุดไฟเผาบ้านเรือนเป็นสัญญาณก่อกบฏ จึงตั้งข้อบังคับให้เจ้านายและข้าราชการต้องเข้าไปในพระราชวังเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ และช่วยปราบผู้ร้าย

– ประตูพระนครมีทั้งหมด 12 ประตู ปิดตั้งแต่เวลา 21 นาฬิกา ไปจนถึงรุ่งสว่างของทุกวัน จะปิดเป็นพิเศษก็ต่อเมื่อ เวลาเสด็จออกมหาสมาคม, ไฟไหม้, เกิดจลาจลในพระนครหรือใกล้พระนคร และเมื่อเวลาสำเร็จโทษเจ้านาย

– เงินส่วยและภาษีอากรที่ส่งมาจากหัวเมือง ต้องนำส่งที่ศาลาลูกขุน เมื่อลูกขุนหักจ่ายการอื่นแล้ว ส่งไปยังสำนักมุขมนตรีในกรมวัง เมื่อหักจ่ายในราชสำนักแล้ว ส่งเงินที่เหลือไปยังพระคลังมหาสมบัติ

– เจ้าประเทศราชและเจ้าเมือง ต้องมาเข้าเฝ้าปีละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย ข้าราชการที่ออกไปมีตำแหน่งอยู่หัวเมือง ต้องให้ภรรยาอยู่เป็นตัวประกันในพระนคร

– เจ้านายกับข้าราชการต้องไปลงชื่อที่ท้องพระโรง และผลัดเปลี่ยนเวรกันเข้าไปนอนประจำซองที่ในพระราชวัง ถ้าขาดมีเหตุไม่จำเป็น ต้องโทษขัง 3 วัน แบ่งเวรยามเป็น 3 ผลัด คือ ตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกา ถึงเที่ยงคืน ตั้งแต่เที่ยงคืนถึง 3 นาฬิกา และตั้งแต่ 3 นาฬิกาถึงรุ่งสว่าง เวลากลางวันอยู่พร้อมกันทั้งหมด และเริ่มเวรใหม่ในเวลา 18 นาฬิกา ส่วนทหารที่ประจำในพระราชวังนั้นผลัดเวรกันเดือนละครั้ง

– หากกษัตริย์เสด็จประพาสนอกพระราชวัง เจ้านายกับข้าราชการต้องตามเสด็จ ถ้าไม่ตามเสด็จต้องโทษขัง เว้นแต่ผู้ที่มีหน้าที่ประจำ และต้องยิงปืนสามนัดเป็นสัญญาณแล้วปิดประตูพระนครทั้งหมด จนกว่าจะเสด็จกลับคือพระราชวังแล้วจึงเปิดอย่างเดิม

– เมื่อราษฎรมีคดีความกันในโรงศาล หากยอมตามคำพิพากษาต้องกินเมี่ยงเป็นสัญญาทั้งสองฝ่าย ว่าจะไม่รื้อคดีหรืออุธรณ์ต่อไป ใครฝ่าฝืนต้องระวางโทษ เอาตัวตระเวน เที่ยวตีฆ้อง และเฆี่ยนตีทุกมุมเมือง หากคดีถึงศาลาลูกขุน แม้คู่ความจะไม่ยอม แต่คำพิพากษาก็เป็นเด็ดขาด (ข้อนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงทรงอธิบายว่า ดูไม่เกี่ยวกับกฎมณเฑียรบาล)

– โทษตระเวนแล้วเฆี่ยนตีนั้น มีต่อผู้ที่ ลอกทองพระ, ทำเงินปลอม, ลักหญิงชาววัง, วางเพลิง. ข้าราชการรับสินบน, ต้มเหล้าเถื่อน, ปล้นสดมภ์ ส่วนผู้ที่ เล่นเบี้ย, เมาเหล้า, ฆ่าโค, กินเนื้อโคเป็นนิจ ต้องโทษตระเวนแต่ไม่โดนเฆี่ยน

นี่เป็นเกร็ดกฎมณเฑียรบาลราชสำนักพม่าเพียงบางส่วนเท่านั้น

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563