“ขุนไกร-ขุนแผน” ยอมให้จับ ยอมให้ตัดหัว เพราะ “เกียรติทหารกรุงศรีฯ” คำเดียว

ขุนแผน พลายงาม จิตรกรรมฝาผนัง วิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์
ภาพประกอบเนื้อหา – ภาพขุนแผน พลายงามไปทัพ จากจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ.2548

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” นั้น “ขุนแผน” ที่เป็นตัวเอกของเรื่องนั้นเก่งกล้า สารพัด ทั้งความแข็งแกร่งทางกายแบบทหาร, ฝีมือในการรบ และวิทยาอาคมต่างๆ แต่ทำไมจึงยอมให้ทางการจับมาลงโทษขังลืมถึง 15 ปี เช่นเดียวกันกับ “ขุนไกร” ผู้เป็นพ่อ ที่ยึดอกรับโทษประหารแบบชายชาติ เรื่องนี้ ปรามินทร์ เครือทอง เขียนไว้ใน “‘ศักดิ์ศรี’ ทหารกรุงศรีอยุธยา ยอมให้จับ ยอมให้ตัดหัว” (ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2544) 

เมื่อ “ขุนไกร” ต้องโทษถึงประหาร

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กฎหมายสำคัญที่ใช้บังคับปกครองบ้านเมือง คือ “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งมีการกําหนดกฏเกณฑ์การลดหย่อนโทษ ไว้ตอนท้ายของตัวบท คือ ถ้ายังเป็นทหารเลว ทหารฝึกหัด แล้ว กระทําผิดครั้งแรกท่านให้ภาคทัณฑ์ไว้ก่อน เพราะถือว่ายังไม่ได้รู้ระเบียบราชการดีพอ ซึ่งส่วนใหญ่ทหารใหม่พวกนี้ก็คือ ชาวไร่ชาวนาที่ถูกเกณฑ์มานั่นเอง ส่วนพวกที่ได้เลื่อนยศขึ้นไปเรื่อยๆ นั้น ท่านถือว่าพอจะรับรู้กฎระเบียบที่แล้ว แต่ยังกระทําผิดอีก อันนี้มีการละเว้นโทษต่างกัน

Advertisement

“ถ้าเป็นไพร่มาเป็นหมื่นพันจ่าเสมียรแม้นผิด ท่านให้ภาคทัณฑ์ไว้ครั้งหนึ่งสองครั้ง ถ้าขุนหมื่นพันจ่าเสมียร มาเป็นขุนนางผู้ใหญ่ผิดในราชการมิให้ภาคทัณฑ์เลย ถ้าเป็นไพร่ครั้นบุญให้ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่เดียว แม้นผิดด้วยราชการท่านให้ภาคทัณฑ์ไว้ก่อน”

นี่เป็นความยุติธรรมในกฎหมาย ที่ให้โอกาสผู้น้อยที่กระทําผิดเพราะไม่รู้กฎระเบียบ ได้รับการตักเตือนก่อน แต่สําหรับขุนนางผู้ใหญ่นั้น ถือว่ารับราชการมาพอสมควรแล้ว ควรจะรู้ผิดชอบชั่วดี อันนี้ท่านไม่ยอมให้ภาคทัณฑ์

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับกรณีของ “ขุนไกร” ขุนไกรซึ่งแต่เดิมก็เป็นชาวมอญเมืองกาญจนบุรี ถือเป็น “นักเลง” ท้องถิ่นมีพรรคพวกเป็นจํานวนมาก ที่ทางการไม่มีปัญญาควบคุม จึงสนับสนุนให้รับราชการ แต่ความผิดครั้งแรกนั้น ขุนไกรก็ถูกตัดหัวทันที ไม่ทันได้สั่งเสียลูกเมีย

ขุนไกร เป็นผู้มีวิชาคงกระพัน มีไพร่พลอยู่ 700 คน เมื่อทํางานพลาด ทําให้ฝูงควายตื่นเบื้องหน้าที่ประทับ ขุนไกรจึงคิดแก้ไข เพื่อมิให้เกิดอันตรายต่อพระเจ้าอยู่หัวพระพันวษา ทําให้ต้องฆ่าควายในคราวนั้นไปเกือบ 200 ตัว เป็นเหตุให้พระพันวษากริ้วเป็นการใหญ่ ถึงกับสั่งประหารทันที

เหวยเหวยเร่งเร็วเพ็ชฌฆาต ฟันให้หัวขาดไม่เลี้ยงได้

เสียบใส่ขาหยังขึ้นถ่างไว้    ริบสมบัติข้าไทอย่าได้ช้า

เวลานั้นถ้าขุนไกรจะขัดขืนการจับกุม ก็น่าจะทําได้ เพราะพรรคพวกลูกน้องที่มาต้อนควายในคราวนั้นมากถึง 500 คน ทหารกล้าจํานวนระดับกองพันเช่นนี้ ขุนไกรจะสั่งลุย หรือคุ้มกันเพื่อถอยหนี เข้าป่าตั้งเป็นชุมโจร เป็นเสรีชนไม่สังกัดมูล นายเหมือนก่อน ก็น่าจะทําได้ แต่ไม่ทํา

ทั้งที่ขุนไกรเองก็รับไม่ได้กับพระราชอาญานี้ ถึงกับคุมสติไม่อยู่

ขุนไกรกลิ้งเกลือกลงเสือกกาย ฟูมฟายน้ำตาแล้วพาที

ร้อนถึงหลวงฤทธานนท์ เพื่อนสนิทต้องมาปลอบเป็นการใหญ่ พอถึงตรงนี้ขุนไกรก็ได้สติ ว่าตัวก็ชายชาติทหารมีศักดิ์ศรี จึงน้อมรับพระราชอาญาแต่โดยดี

ด้วยตัวข้าขุนไกรกระทําผิด ถึงชีวิตจะม้วยสังขาร

จะตายด้วยความสัตย์ปฏิญาณ อย่างพงศ์พลายฝ่ายทหารอันชาญไชย [เน้นโดยผู้เขียน]

นี่คิดวิธีการอย่างทหาร ขอรับพระราชอาญาด้วยเกียรติ นี่จึงไม่ใช่เรื่องเสียเกียรติ เสียศักดิ์ศรี แต่เป็นการรักษาศักดิ์ศรี ของ “พงศ์พลายฝ่ายทหาร” ว่าแล้วก็ยอมรับพระราชอาญาโดยสงบ “ปากว่าตาปิดจิตต์ปลง ระงับลงไม่พรั่นหวั่นไหว”

ขุนแผน กับโทษกบฏ

ส่วนขุนแผนนั้นถือว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น “ขุนไกร” ผู้พ่อ เพราะมีทั้งอิทธิฤทธิ์ มีทั้งเวทมนตร์คาถา เมื่อถูกราชภัย ก็หนีเข้าป่า ท้ายที่สุดก็สํานึกได้ ยอมมอบตัว ยอมให้จับ ยอมให้จองจํา ตามกฎหมาย ทั้งที่ขุนแผนนั้นมีโทษเป็นกบฏ คือปลูกพลับพลา “มีส้วม” ถือว่าเอาอย่างเจ้า นอกจากนี้ยังฆ่านายทหารคือขุนเพชรขุนราม ที่ยกทัพไปจับขุนแผน มีความผิดถึงขั้นประหาร

หากขุนแผนไม่ยอมให้จับ กองทัพพระพันวษาก็ไม่มี ปัญญาจับขุนแผนได้ แต่ผลสุดท้ายก็ยอมมอบตัว

เมื่อจะเอาโทษทัณฑ์ฉันใด ก็ตามใจด้วยเรานี้เป็นข้า

ได้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา จะหลบลี้หนีหน้าไปทําไม

เมื่อกล้ารับ กล้ามอบตัวสู้คดี พระพันวษาก็ยกโทษให้ทั้งหมด ปล่อยให้ขุนแผนเป็นอิสระ แต่พอเสร็จจากคดีนี้ ก็มาเป็นความกับขุนช้างอีก สุดท้ายขุนแผนก็ชนะความขุนช้าง ขุนแผนได้อยู่อย่างสงบกับเมียสอง คือนางวันทอง กับแก้วกิริยา

แต่แล้วความไม่รู้จักพอของขุนแผน ได้คืบจะเอาศอก คือ ไปทูลขอนางลาวทองเมียอีกคนหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นถูกกักตัวไว้ในวัง เพราะก่อนหน้านี้ขุนแผนทําผิดพระราชอาญาปืนกําแพงวังไปหา ทําให้พระพันวษารับนางลาวทองมาไว้ในวังตั้งแต่นั้นมา การทูลขอนางลาวทองครั้งนี้ ทําให้พระพันวษาบังเกิดอาการ “กริ้ว” อีกครั้ง ถึงกับสั่งจําคุกขุนแผนทันที

ฮ้ยเอาตัวมันไปส่งไว้คุก ประทุกห้าประการหมดอย่างลดให้

เชื่อมหัวตะปูซ้ำให้หนําใจ สั่งเสร็จเสด็จในที่ไสยา

เครื่องจองจํา 5 ประการนี้ ถือว่าเป็นการจองจําที่แสนสาหัส เพราะจะตรึงร่างกายไว้ด้วยขื่อคา และตรวนเหล็ก การจองจํา 5 ประการมีดังนี้ 1. ตรวนใส่เท้า 2. เท้าติดขื่อไม้ 3. โซ่ล่ามคอ 4. คาใส่คอทับโซ่ 5. มือทั้งสองสอดเข้าไปในคา และไปติดกับขื่อทําด้วยไม้ (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39, ก้าวหน้า, 2508)

การจองจําครบ 5 ประการนี้ นักโทษแทบจะขยับตัวไม่ได้ นอนไม่ได้ จดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศส มองซิเออร์ เลอ บอง ได้อธิบายถึงตอนที่ถูกตรึงด้วย “คา” ว่า

“วิธีการที่เจ้าพนักงานได้เอาเราเข้าผูกกับหลักคานั้น ก็คือ ผูกเราทั้ง 6 คนเรียงเป็นแถวเดียว หันหลังตรงกับที่ประทับ หลักที่ผูกเรานั้นก็เป็นคาในตัว เพราะต้องเอาศีรษะรอดเข้าไปใน หลัก จนหันตัวไปไหนไม่ได้”

บาทหลวงปาลเลกัวซ์พูดถึงผลของการจองจํา 5 ประการ โดยเฉพาะการใส่ “คา” ที่คอนักโทษว่า

“คือไม้ยาวสองแผ่น ประสานกันตรงรอบคอนักโทษ คานั้นจะหนักน้อยหรือหนักมาก แล้วแต่ขนาดของโทษานุโทษ นอกจากจะหนักแล้ว ยังขัดข้องต่อการเคลื่อนไหวอิริยาบถอีกด้วย และข้อสําคัญทําให้ไม่ได้รับการพักผ่อนหลับนอนเลย” (ปาลเลกัวซ์, เล่าเรื่องเมืองไทย แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร ก้าวหน้า, 2506)

ดังนั้นความทุกข์ทรมานของขุนแผนที่ไม่ได้รับการผ่อนปรน เพราะมีรับสั่งให้ “เชื่อมหัวตะปู” คือห้ามถอดสลักของโซ่ตรวนออก เพราะน่าจะทรงทราบดีว่า ในคุกนั้นหากให้สินบนกับผู้คุม ก็สามารถจะผ่อนผันการพันธนาการบางอย่างได้ ครั้งหนึ่งก็ถูกจองจํา 5 ประการเช่นกัน แต่ก็ติดสินบน ผู้คุมจนได้ถอดเครื่องพันธนาการ อาการทรมานของขุนแผนก็ไม่ต่าง จากบุคคลธรรมดา แม้จะเป็น “พระเอก” ก็ตาม

โซ่ตรวนถ้วนครบห้าประการ ทรมานมึนเมื่อยเป็นหนักหนา

จะพลิกตัวตึงทั่วทั้งกายา ยิ่งนานยิ่งระอาระอิดใจ

ถึงจะถูกทรมานขนาดนี้ แต่ใช่ว่าขุนแผนจะไม่มีปัญญาหนี ขุนแผนบอกว่า ต่อให้จองจํามากกว่านี้อีก 2 เท่า ก็สบายมือ แต่ถ้าทําก็ไม่ใช่ลูกผู้ชาย

อันเครื่องพันธนาที่จําจอง อีกสองเท่านี้ก็หนีได้

จะเสียสัตย์ขัดสนจึงจนใจ หนีไปใครจะนับว่าเป็นชาย

เสมือนหนึ่งบิดาท่านทําโทษ แม้มิโปรดตามที่ไม่หนีหาย

จะทนไปให้ตลอดจนวอดวาย สู้ตายตามแต่พระอาญา

แม้ตอนท้ายขุนแผนจะทนทรมานไม่ไหว ถึงกับหักโซ่ตรวนออก แต่ก็ยืนยันหนักแน่นว่าไม่หนี จะยอมติดคุกรับพระราชอาญา ปรากฏว่าขุนแผนถูกขังลืมไป 15 ปี พระพันวษาลืมขุนแผนไปสนิท “กูนี้ก็ชั่วมัวลืมไป” เพิ่งมานึกขึ้นได้ เมื่อพลายงามไปทูลขอพระราชทานอภัยให้พ่อไปทําศึกเชียงใหม่

นี่คือศักดิ์ศรีทหารเอกกรุงศรีฯ ยอมให้จับ ยอมรับ โทษ ยอมให้ตัดหัว ศักดิ์ศรีทหารนั้นมีจริง คือยอมรับในสิ่งที่ตัวทําอย่างภาคภูมิ และมั่นคง แม้จะมีอํานาจล้นฟ้า มีอิทธิฤทธิ์ อิทธิพล ก็ไม่ ควรจะเอาศักดิ์ศรีมา “เบ่ง” จนละเมิดพระราชอาญา กรณีใด คํากล่าวที่ว่า “เกียรตินั้นท่านให้มา ศักดาเตือนตน” ยังเอาไปใช้ได้ในเวลานี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2562