ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วัฒนธรรมของการพลอดรักในยุคสมัยหนึ่งทำให้เกิดคำว่า “โรงแรมจิ้งหรีด” ขึ้น ว่ากันว่าเมื่อประมาณ 40-45 ปีก่อน คำนี้แพร่หลายและได้ยินกันหนาหู ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางภาษาส่วนหนึ่งมองว่า ปฐมเหตุของคำนี้นั้นเกิดขึ้นที่ “สนามหลวง”
คำว่า “โรงแรมจิ้งหรีด” ในความหมายปัจจุบันโดยทั่วไปแล้วมักทำให้คนนึกถึงโรงแรมขนาดเล็กที่มีสภาพเก่าแก่หรือตามมีตามเกิด และได้ยินในบริบทเกี่ยวกับการค้าบริการบ้าง อย่างไรก็ตาม คอลัมน์ “พจนานุกรมนิรุตติศาสตร์” โดย ภาษิต จิตรภาษา จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับปี พ.ศ. 2528 บรรยายว่า ในช่วงทศวรรษนั้น (ประมาณพ.ศ. 2513-2528) คำว่า “โรงแรมจิ้งหรีด” มักได้ยินกันบ่อย
ปฐมเหตุของคำนี้จากการอธิบายในคอลัมน์ของภาษิต จิตรภาษา ระบุว่า ช่วงนั้น คนกรุงนิยมไปนั่งเล่นที่สนามหลวงในช่วงเย็นเพื่อพักผ่อนกัน ในบรรดาคนกลุ่มนี้ก็มีคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักไปนั่งพลอดรักกัน เมื่อตกค่ำเป็นช่วงที่คนเริ่มบางตาแล้วก็เริ่มประกอบกิจทางเมถุนแล้ว ช่วงเวลานั้นแสงสว่างของเมืองในเวลากลางคืนอาจยังไม่สว่างไสวเจิดจ้าเท่าปัจจุบัน ความมืดในพื้นที่ย่อมปกปิดกลบเกลื่อนความเขินอายกันไป
บรรยากาศในพื้นที่สนามหลวงเวลานั้น สนามหญ้าช่วงเวลากลางคืนย่อมได้ยินเสียงจิ้งหรีดครื้นเครง จากที่จิ้งหรีดส่วนหนึ่งก็อาศัยในรูหรือหลุมที่เป็นพื้นที่ในหญ้า และออกหากินเวลากลางคืน ทำให้มักขนานนามกันว่า “โรงแรมจิ้งหรีด”
อ่านเพิ่มเติม :
- แรกมี “โรงภาพยนตร์” ในสยาม เปิดโอกาสหนุ่มสาว จับมือ-ลูบคลำกัน ในโรงหนัง
- “ตลาดนัด” มาจากไหน? ย้อนรอยตลาดนัดในกรุงเทพฯ ถึงตำนานตลาดนัดสนามหลวง
อ้างอิง :
ภาษิต จิตรภาษา. “พจนานุกรมนิรุตติศาสตร์”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2528)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2562