เจาะเรื่อง “ตัดไข่-ตอนอวัยวะ” เคล็ดลับนักร้องชายเสียงดีในยุโรป หลังศตวรรษที่ 16

ภาพวาด Broschi Farinelli (คาร์โล ฟาริเนลลี) นักร้องชื่อดังในยุโรป เมื่อ 1752 โดย Jacopo Amigoni

การขับร้องเพลงในบางสังคม เดิมทีเป็นหน้าที่ของผู้ชายเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากกฎหมายในโรมสมัยเรืองอำนาจ มีประกาศห้ามผู้หญิงพูดในโบสถ์อย่างเด็ดขาด หน้าที่การขับร้องเพลงในโบสถ์จึงตกเป็นของฝ่ายชาย หากต้องการเสียงเล็กหรือแหลมสูง จะให้เด็กผู้ชายขับร้องแทน ผู้หญิงห้ามเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด บริบทเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่พฤติกรรมการ “ตัดไข่ ตอนอวัยวะ” ในเวลาต่อมา

“การขับร้อง” มีการเลือกปฏิบัติแต่เพียงเพศชายมาตั้งแต่โบราณกาล ต่อมาในสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 การขับร้องเพลงประสานเสียงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้ประพันธ์เพลงสำหรับร้องในโบสถ์ได้แข่งขันกันประดิษฐ์เพลงประสานเสียงขึ้น แต่ในขณะนั้นเสียงของเด็กผู้ชายมีข้อดีแค่เพียงความเล็กและแหลมสูงเท่านั้นแต่ขาดความหนักแน่น จึงนิยมหาซื้อตัวเด็กชายที่สามารถเปล่งเสียงขับร้องได้เสียงสูงสุด ดังสุด ด้วยเงินราคาแพง

ช่วงเวลานั้นเป็นที่รู้กันว่าเด็กชายชาวสเปนขึ้นชื่อเรื่องความเก่งกาจด้านพลังในการขับร้อง จึงมักถูกซื้อตัวมาขับร้องเพลงประสานเสียงที่โบสถ์แห่งหนึ่งในอาณาจักรโรมัน แต่สิ่งที่น่าแปลกเกี่ยวกับเด็กชายชาวสเปนที่ถูกซื้อตัวมาคือ แพทย์ตรวจพบว่าเด็กเหล่านี้ถูกจับตอนโดยตัดเอาอัณฑะทั้งหมดทิ้ง ข้อมูลจากการบันทึกระบุว่า ภายหลังเริ่มมีผู้สนใจทดลองทำขึ้นในประเทศอิตาลีจนประสบความสำเร็จ (ยังกล้าทำได้) สามารถผลิตเด็กอิตาเลียนเสียงไพเราะขึ้นได้ในประเทศ

หนังสือ “คลาสสิคสังวาส รวมบทความเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิคในหลากหลายมุมมอง” โดย พูนพิศ อมาตยกุล อธิบายว่า ต้นตอของการจับเด็กตอนให้มีเสียงไพเราะนั้น เริ่มต้นในประเทศสเปนก่อน แล้วจึงมาแพร่หลายมากในประเทศอิตาลี เล่ากันว่าระหว่าง ค.ศ. 1750-1770 (พ.ศ. 2293-2313) มีเด็กชายในประเทศอิตาลีถูกจับตอนมากถึงปีละกว่า 4,000 คนตลอด 20 ปี แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏว่ามีนักร้องชายที่ถูกจับตอนแล้วมากมายหลายคนได้ประสบความสำเร็จในชีวิตด้านดนตรี

การผ่าตัดตอนเด็กผู้ชายนั้น มีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือ วิธีแรก ตัดอวัยวะเพศทั้งชุดออกหมด เปิดให้เหลือแต่ช่องเล็กๆ ไว้สำหรับถ่ายปัสสาวะ มีข้อเสียอยู่ที่ว่าเด็กมีเปอร์เซ็นต์การตายค่อนข้างสูงจากการติดเชื้อและไข้สูงหลังผ่าตัด

ส่วนวิธีที่ 2 จะตัดเอาแต่เฉพาะอัณฑะทั้งหมดทิ้งไป ซึ่งวิธีนี้เนี้อวัยวะเพศจะไม่เจริญหรือขยายขนาดตามตัวที่โตขึ้น แต่จะทำหน้าที่เป็นท่อปัสสาวะเท่านั้น ซึ่งในคนที่ถูกตัดอัณฑะทิ้งไปทั้งหมดตั้งแต่ก่อนวัยหนุ่มนั้นจะส่งผลให้อวัยวะเพศโตช้า ตัวก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ แขนขายาว รูปร่างใหญ่ แต่จะไม่ค่อยมีกำลัง กล้ามเนื้อนุ่มเหมือนผู้หญิง ใบหน้าเกลี้ยงเกลาไม่มีหนวดเครา พออายุเกิน 20 ปีขึ้นไป บางคนแขนขายังไม่หยุดโต เขาจะสูงและเก้งก้าง บางรายถึงขั้นหมดงามไปเลย เหลือไว้เพียงเสียงที่ไพเราะเสนาะหู

สำหรับเสียงร้องที่ว่าไพเราะ กล่าวกันว่าจะมีลักษณะของกระแสเสียงที่แจ่มใส สามารถสั่นได้ความถี่สูงมาก เนื่องจากมีรูปร่างใหญ่กว่าปกติ ซึ่งนักร้องที่ถูกตอนนั้น จะมีปอดใหญ่กว่าผู้ชายธรรมดา สามารถเก็บอากาศไว้ได้มาก การเปล่งเสียงออกมาจึงมีพลังและปล่อยเสียงได้ยาวโดยไม่ต้องหยุดหายใจบ่อย บางคนสามารถปล่อยเสียงออกจากลำคอติดต่อกันได้มากกว่า 1 นาที หรือนานกว่านั้น ในบางรายที่มีลำคอยาว อาจร้องเสียงทุ้มต่ำได้ดีกว่านักร้องหญิงในระดับ contralto ในราชสำนักบางแห่ง

ทั้งนี้ ในกระบวนตอนนักร้องชายให้มีเสียงไพเราะนั้น ตามประวัติศาสตร์ของดนตรีคลาสสิคเห็นจะไม่มีใครโดดเด่นเกินนักร้องชาวอิตาเลียนชื่อ คาร์โล ฟาริเนลลี (Carlo Broschi Farinelli) เขาเกิดในประเทศอิตาลี เมื่อปี ค.ศ. 1705 หรือ พ.ศ. 2248 ซึ่งตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา

Farinelli นอกจากจะมีเสียงอันไพเพาะแล้ว เขายังเป็นคนฉลาด มีไหวพริบดี ประกอบด้วยลีลาและเทคนิคในการร้องเพลงอันดีเยี่ยม อีกทั้งเป็นคนรูปร่างงามสมส่วน ไปร้องเพลงที่ไหนมักจะได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก

หลังจากประสบความสำเร็จในประเทศของตนแล้ว Farinelli ออกไปร้องเพลง ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จนกระทั่ง พ.ศ. 2280 พระราชินีแห่งสเปนได้ติดต่อว่าจ้างเขาไปร้องเพลงเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าของพระเจ้า Philip ที่ 5 เขาอยู่ในสเปนนานถึง 22 ปีเต็มแล้วจึงกลับสู่ประเทศอิตาลี จนถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1782 หรือ พ.ศ. 2325 (ปีเริ่มต้นของกรุงเทพฯ) รวมอายุได้ 77 ปี

อย่างไรก็ตาม การขับร้องเพลงของชายที่ถูกตอนนั้น มิใช่ว่าทุกคนที่ถูกตอนแล้วจะมีน้ำเสียงไพเราะ แต่ยังขึ้นอยู่ความพยายาม การฝึกฝนอย่างหนักของแต่ละบุคคล รวมถึงการเรียนรู้ด้านดนตรีและทฤษฎีดนตรีอีกด้วย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พูนพิศ อมาตยกุล. คลาสสิคสังวาส รวมบทความเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิคในหลากหลายมุมมอง. สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2553.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2562