ปริศนาสาเหตุการตายของ “บ๊อบ มาร์เลย์” ศิลปินที่สู้ “มะเร็งผิวหนัง” ฤๅเป็นผลของแผลช่วงเตะบอล?

ภาพถ่ายของ บ๊อบ มาร์เลย์ ในปี 1976 (AFP PHOTO / HO)

สำรวจปมปริศนาสาเหตุการตายของ บ๊อบ มาร์เลย์ (Bob Marley) ศิลปินเร็กเกในตำนานที่สู้กับภาวะมะเร็งผิวหนัง หรือว่าจะเป็นผลมาจากบาดแผลซึ่งเกิดขึ้นขณะเตะฟุตบอล?

โรเบิร์ต เนสตา มาร์เลย์ (Robert Nesta Marley) หรือที่แฟนเพลงทั่วโลกรู้จักในนาม “บ๊อบ มาร์เลย์” ศิลปินดังชาวจาเมกาที่โด่งดังในฐานะผู้ทำให้ดนตรีเร็กเกแพร่หลายได้รับความนิยมทั่วโลก ผลงานและแนวคิดต่างๆ ของเขายังเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางสำหรับคนจำนวนไม่น้อยมาจนถึงวันนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นปริศนาในเส้นทางชีวิตของเขาคือโรคมะเร็งผิวหนังซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเสียชีวิตขณะรับการรักษาในไมอามี สหรัฐอเมริกา

ขณะที่มาร์เลย์ เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1981 เขามีอายุเพียง 36 ปี สาเหตุการเสียชีวิตของมาร์เลย์ แพร่หลายกันทั่วไปว่า สืบเนื่องมาจากมะเร็งผิวหนังอันมีต้นเหตุจากบาดแผลที่ “เกิดขึ้นจากการเล่นฟุตบอล” และปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาให้หายขาดจนกลายเป็นภาวะของมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันเสมอว่า เขามีสัญญาณของภาวะมะเร็งมาก่อนหน้าได้รับบาดเจ็บจากการเล่นฟุตบอลแล้ว หรือเป็นเพราะบาดแผลจากการเล่นฟุตบอลที่ไม่ได้รับรักษาทำให้เกิดเป็นมะเร็งในเวลาต่อมากันแน่

บทความรำลึกวันเสียชีวิตของมาร์เลย์ ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมบรรยายเส้นทางชีวิตของตำนานศิลปินรายนี้ว่า “เกิดที่เมืองไนน์ไมล์ส (Nine Miles) ประเทศจาเมกา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1945 พ่อของเขา นอร์วัล ซินแคลร์ มาร์เลย์ (Norval Sinclair Marley) เป็นผู้ดูแลไร่ผิวขาว ขณะที่แม่ของเขา เซเดลลา มัลคอล์ม (Cedella Malcolm) เป็นหญิงผิวดำลูกสาวผู้นำท้องถิ่นในชนบท ชาติกำเนิดของเขาจึงถือเป็นผลผลิตจากโลกในคู่ขนาน

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มาร์เลย์ อาศัยอยู่ในชุมชนการเคหะภายใต้งบอุดหนุนของรัฐ ในย่านเทรนช์ทาวน์ (Trench Town) พื้นที่สลัมยากจนที่มักถูกเปรียบเทียบว่าเป็นแหล่งเน่าเสีย เขาและเพื่อนๆได้ร่วมกันตั้งวง “เดอะเวลเลอร์” (The Wailers) ขึ้นที่นี่ และเริ่มบันทึกเสียงในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 ด้วยดนตรีแนวสกาของจาเมกา พร้อมกับนำเสนอเนื้อหาชีวิตของคนยากจนในย่านเสื่อมโทรมซึ่งถือเป็นการแสดงจุดยืนให้ว่า ศิลปินจาเมกาไม่จำเป็นต้องยึดแนวทางของผู้ให้ความบันเทิงต่างชาติ แต่ทุกคนสามารถเขียนเพลงจากวัตถุดิบใกล้ตัว รวมถึงเรื่องราวของชาวบ้านผู้ด้อยโอกาสในสลัมของอินเดียตะวันตก

พวกเขาพัฒนาดนตรีเร็กเกด้วยความช่วยเหลือจากลี เพอร์รี (Lee Perry) โปรดิวเซอร์ชาวจาเมกาผู้ริเริ่มดนตรีเร็กเก ก่อนเซ็นสัญญากับไอส์แลนด์ (Island Records) ค่ายเพลงระดับนานาชาติในปี 1972 และได้ออกอัลบัมเร็กเกชุดแรก “แคทช์อะไฟร์” (Catch a Fire) ด้วยดนตรีสำเนียงเร็กเกประสานดนตรีร็อกทำให้พวกเขาได้รับความนิยมไปทั่วโลก และทำให้บ๊อบ มาร์เลย์ สมาชิกผู้โดดเด่นของวงกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ ซึ่งนำไปสู่การแยกวงในช่วงต้นปี 1974

อีริก แคลปตัน (Eric Clapton) นักกีตาร์ชื่อดังระดับโลกได้นำเพลง “ไอช็อทเดอะเชรีฟฟ์” (I Shot the Sheriff) ของเดอะเวลเลอร์ มาทำใหม่ในแบบของเขาในปี 1974 ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของมาร์เลย์โด่งดังขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันมาร์เลย์กลายเป็นผู้นำวงเวลเลอร์ที่ปราศจากสมาชิกดั้งเดิม (ปีเตอร์ ทอช [Peter Tosh], บันนี เวลเลอร์ [Bunny Wailer]) ก็สร้างผลงานออกมาอีกมากมายซึ่งล้วนได้รับความนิยม เช่น No Woman No Cry, Exodus, Could You Be Loved, Redemption Song

นอกจากนี้ มาร์เลย์ ยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาสามารถเอาชีวิตรอดจากการพยายามลอบสังหารด้วยเหตุผลทางการเมืองในปี 1976″

ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเขามักกล่าวย้อนไปถึงในช่วงกลางยุค 70s ซึ่งมีรายงานว่า ศิลปินเร็กเกรายนี้ที่รักฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจได้รับบาดเจ็บจากการแข่งฟุตบอลกับเพื่อนเมื่อปี 1975 รายงานข่าวส่วนใหญ่บอกว่า นิ้วเท้าข้างขวาของมาร์เลย์ บาดเจ็บอย่างมาก มิเคล กิลมัวร์ คอลัมนิสต์นิตยสารโรลลิ่งสโตน (Rolling Stone) เล่าว่า แพทย์แนะนำให้เขาเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้เท้าไปสักพัก แต่เขาไม่ได้ปฏิบัติตาม หากจะบอกว่ามีกิจกรรมที่เขารักมากที่สุดในชีวิต ฟุตบอลและการแสดงดนตรีน่าจะเป็นสองสิ่งนั้น เขาคงไม่สามารถหยุดเคลื่อนไหวไปพร้อมเสียงเพลง และไม่สามารถหยุดเตะฟุตบอลกีฬาโปรดได้

ระหว่างทัวร์ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 1977 มาร์เลย์ ได้รับบาดเจ็บที่นิ้วเท้าข้างขวาอีกครั้ง ครั้งนี้อาการย่ำแย่กว่า เล็บถึงกับฉีกหลุดและบาดแผลฉีกก็ไม่สมานตัวอีก

บทความที่เขียนโดยแพทย์เผยแพร่ใน เดอะ ทริบูน (The Tribune) สื่ออินเดีย ซึ่งวิเคราะห์เบื้องหลังสาเหตุต้นตอการเสียชีวิตของมาร์เลย์ บรรยายโดยอ้างอิงแหล่งข่าวจำนวนหนึ่งว่า ช่วงการบาดเจ็บปี 1977 เขายอมรับกับผู้จัดการส่วนตัวว่า นิ้วเท้าตรงนั้นมีอาการเจ็บมาก่อนหน้านี้สักพักแล้ว และแผลก็เป็นๆ หายๆ มาหลายปี หากยึดตามข้อมูลนี้จะทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า ภาวะมะเร็งผิวหนังน่าจะเกิดขึ้นมาก่อนหน้าอุบัติเหตุในปี 1977 แล้ว ซึ่งแน่นอนว่า บาดแผลที่ไม่หายมักบ่งบอกสัญญาณของมะเร็งผิวหนัง

หลังอุบัติเหตุครั้งนั้น แพทย์ที่โรงแรมปฐมพยาบาลมาร์เลย์ ดึงเล็บออกและพันแผลไว้ บทความของเดอะทริบูนอ้างว่า ครั้งนั้นไม่มีการตรวจวินิจฉัยใดๆ ตามมา ขณะที่การทัวร์ยุโรปก็ดำเนินต่อ ส่วนบาดแผลที่นิ้วเท้าก็ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ในช่วงฤดูร้อนปีเดียวกันเขามีอาการเจ็บที่บริเวณเดิม และปวดแผล บาดแผลเดิมก็เปิดอีก และไม่มีท่าทีจะสมาน ในช่วงที่เขาไปพบปะประชุมที่ลอนดอน ผู้จัดการเขาแนะนำให้ไปพบแพทย์ สภาพนิ้วเท้าของมาร์เลย์ ถึงกับทำให้แพทย์ตกใจ แพทย์ตรวจวินิจฉัยผิวหนังของเขาและพบว่าเขามีอาการมะเร็งผิวหนัง แพทย์แนะนำให้เขาตัดนิ้วเท้า หรือแม้แต่เท้าขวาเพื่อป้องกันมะเร็งลุกลาม ซึ่งแน่นอนว่าเขาปฏิเสธเพราะจะกระเทือนต่อการเคลื่อนไหวบนเวที

มาร์เลย์ ให้เหตุผลของการปฏิเสธคำแนะนำของแพทย์ว่ามาจากความเชื่อทางศาสนา เขาบอกว่า “ชาวราสตา (Rasta) ไม่รับกับการตัดอวัยวะ” และเลือกไปพบแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและโครงสร้างที่ไมอามี่ ดร.วิลเลียม เบคอน แพทย์ที่มีชื่อเสียงได้ปลูกถ่ายผิวหนังและแจ้งกับมาร์เลย์ว่าการรักษาได้ผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับรู้ว่า มะเร็งในช่วงนั้นเริ่มแพร่กระจายไปทั่วร่างกายของเขา

ปากคำของริตา มาร์เลย์ (Rita Marley) ภรรยาของบ๊อบ มาร์เลย์ ที่เขียนในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ No Woman No Cry: My Life With Bob Marley เธออ้างว่า เหตุผลการปฏิเสธคำแนะนำแพทย์เป็นเรื่องความรู้สึกที่คนอื่นจะมองเขามากกว่าเรื่องความเชื่อทางศาสนา “ผมจะขึ้นเวทีได้อย่างไร” ริตา เล่าว่าเธอกล่าวกับเขาว่า “พวกเขา (ผู้ชม) ไม่ทนดูคนบกพร่องทางร่างกายหรอก”

ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร การตัดสินใจของมาร์เลย์ ถูกผู้คนมองไปหลากหลายแบบ ทั้งความศรัทธาที่ไม่สอดคล้องกับเหตุผล หรืออาจเป็นการปฏิเสธด้วยความกล้าหาญ แต่สิ่งที่ตามมาคือ มาร์เลย์ ไม่ต้องการรับรู้ว่าความตายกำลังใกล้เข้ามา เขาหันมามุ่งมั่นกับสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตของเขา นั่นคือเสียงเพลงซึ่งผลงานของเขาอาจส่งผลต่อโลกใบนี้หลังจากเขาจากไปแล้ว

ตั้งแต่ปี 1977 จนถึงปี 1980 มาร์เลย์ ทำสตูดิโออัลบั้มแทบทุกปี มาจนถึง Uprising and Confrontation ปี 1979 และ Uprising (1980) ในช่วงปี 1980 เขาเริ่มออกทัวร์ระยะยาวอีก เป้าหมายส่วนหนึ่งก็เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนอเมริกันผิวสี กิลมัวร์ คอลัมนิสต์จากโรลลิงสโตน เล่าว่า คอนเสิร์ตที่เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น ในวันที่ 20 กันยายน เขาเกือบหมดสติบนเวที

วันต่อมาหลังการแสดง เขาตื่นขึ้นมาโดยจำเรื่องราวคืนก่อนหน้านั้นไม่ได้ เช้าวันนั้นมาร์เลย์ ออกวิ่งในเซ็นทรัลปาร์คกับเพื่อนและล้มหมดสติ แพทย์แจ้งข่าวร้ายที่เขาไม่ต้องการได้ยินว่ามันมาถึงแล้ว อาการหน้ามืดสืบเนื่องมาจากก้อนเนื้อในสมอง การวินิจฉัยภายหลังยังบ่งชี้ว่ามะเร็งกระจายไปที่ปอด ตับ และสมอง อาการอยู่ในขั้นไม่สามารถรักษาได้ แพทย์คาดว่า มาร์เลย์น่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 10 สัปดาห์

กิลมัวร์ เล่าว่า ไม่มีใครแจ้งริตา เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เขาล้มในเซ็นทรัลปาร์คหรือเกี่ยวกับผลวินิจฉัยเรื่องเนื้อร้าย ริตา ยังร่วมทัวร์กับมาร์เลย์ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มประสานเสียง เมื่อริตา ทราบ เธอต้องการให้ยกเลิกทัวร์ แต่มาร์เลย์ ไม่ต้องการเช่นนั้น เขาขึ้นโชว์แบบครบสมบูรณ์ครั้งสุดท้ายในพิตต์สเบิร์ก แต่ก็ไม่แข็งแรงพอเล่นต่อที่อื่น สุดท้ายทัวร์ถูกยกเลิก การแสดงนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาขึ้นโชว์

หลังจากนั้น ศิลปินเร็กเก เดินทางไปรับการรักษาที่สถาบันมีชื่อหลายแห่งในนิวยอร์ก ไมอามี่ เม็กซิโก เยอรมนี เขามีชีวิตได้ประมาณ 8 เดือน นานกว่าที่คาดไว้มากนัก แต่เมื่อโรคร้ายยังคงเล่นงานต่อเนื่อง เขาตัดสินใจจะกลับไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายในบ้านเกิด ขณะที่เดินทางอาการของเขาแย่ลง เครื่องบินต้องไปลงที่ฟลอริดาเพื่อรับการดูแลอย่างเร่งด่วน เขาเสียชีวิตในวันที่ 11 พฤษภาคม 1981 ที่โรงพยาบาลในไมอามี่

ข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนังชนิดที่มาร์เลย์ ได้รับการวินิจฉัยคือ Acral Melanoma ซึ่งมักเกิดกับผู้มีผิวเข้มมากกว่าผิวขาว มักเกิดขึ้นในจุดที่ไม่ได้โดนแสง เช่น ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า จุดบ่งชี้คือมักเป็นปื้นดำ ไฝ หรือจุดที่มีแนวโน้มกลายเป็นเนื้อมะเร็ง และยังสามารถเกิดในกรณีที่มีแผลซ้ำๆ หรืออาจเกิดโดยไม่มีสาเหตุใดก็ได้

หากมองในสมมติฐานว่า “มาร์เลย์ มีภาวะที่บ่งชี้ถึงมะเร็งก่อนหน้าการบาดเจ็บจากฟุตบอลแล้ว” บทความโดยแพทย์ที่เผยแพร่ในเดอะทริบูนตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของมาร์เลย์ อาจเป็นไปได้ว่าเขามีจุดกำเนิดอาทิปื้นดำบนผิวหนัง หรือไฝ ในบริเวณแถบเล็บหัวแม่เท้า การเตะฟุตบอลยิ่งส่งผลต่อไฝหรือจุดเสี่ยงมากขึ้น เมื่อวินิจฉัยพบ มาร์เลย์ ปฏิเสธคำแนะนำเรื่องตัดนิ้ว ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นทางเลือกที่มีหวังรักษาชีวิตได้มากกว่าการแพทย์เชิงศัลยกรรม ปลูกถ่ายผิวหนัง ซึ่งผลที่ออกมาดูแล้วไม่สามารถยับยั้งอาการ หรือไม่ก็อาจเป็นการรักษาที่สายเกินไป

สมมติฐานข้างต้นในประเด็นนี้ คนส่วนหนึ่งหยิบยกขึ้นมาจากข้อมูลปากคำและแหล่งข่าวที่สื่ออ้างอิงขึ้น แต่จนถึงวันนี้ ต้นตอที่ทำให้บ๊อบ มาร์เลย์ มีภาวะมะเร็งผิวหนังก่อนที่มันจะส่งผลต่อสุขภาพเขาอย่างรุนแรงนั้นก็ยังไม่มีใครฟันธงอย่างแน่ชัด แต่สื่อหลายแห่งเชื่อกันว่า น้ำหนักสมมติฐานว่า สาเหตุหลักของมะเร็งผิวหนังในบ๊อบ มาร์เลย์ ไม่ได้เป็นเพราะบาดแผลจากการเตะฟุตบอลเป็นประการสำคัญ มันจะน่ามีอาการที่บ่งชี้ภายในอยู่ก่อนนั้น เป็นข้อที่มีน้ำหนักมากกว่า

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“A Death by Skin Cancer? The Bob Marley Story”. The Tribune. Online. Published 12 APR 2011. Access 5 FEB 2020. <https://web.archive.org/web/20110417084412/http://www.tribune242.com/04122011_Bob-Marley_features_pg9>

Gilmore, Mikel. “The Life and Times of Bob Marley”. Rolling Stone. Online. Published 10 MAR 2005. Access 5 FEB 2020. <https://www.rollingstone.com/music/music-news/the-life-and-times-of-bob-marley-78392/>

“11 พฤษภาคม 1981: “บ๊อบ มาร์เลย์” ตำนานศิลปินเร็กเกชาวจาเมกา เสียชีวิต”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2563. <https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1125>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2563