กำเนิด Joy to the World เพลงคริสต์มาสอมตะ ดนตรีที่คลอในคลิปตบดราม่า

โลเวลล์ เมสัน นักแต่งเพลง ชาวอเมริกัน เพลง Joy to the World เพลงคลาสสิก เทศกาล คริสต์มาส
Lowell Mason นักแต่งเพลงชาวอเมริกัน

“คริสต์มาส” เวียนมาถึงเมื่อไหร่ เป็นต้องได้ยินเพลง Joy to the World ซึ่งเป็นหนึ่งในลิสต์เพลงคลาสสิกแห่งเทศกาลนี้ ที่คนทั่วโลกต่างเปิดเฉลิมฉลองช่วงเวลาแห่งความสุข แม้แต่ในคลิปที่เป็นกระแสอื้อฉาวในไทย (เมื่อปี 2562) ก็ได้ยินเพลงนี้ดังเช่นกัน

แม้ว่าชื่อเพลงจะสื่อถึงความสุขสันต์ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติของสาธุคุณไอแซก วัตต์ส (Isaac Watts) ผู้ประพันธ์เนื้อร้อง กลับมีเรื่องราวในทิศทางตรงกันข้ามกับชื่อเพลง สาธุคุณชาวอังกฤษท่านนี้กำเนิดเมื่อ ค.ศ. 1674 ในตระกูลที่ศรัทธาศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ บิดาของไอแซกเคยถูกจำคุกเพราะไม่ยอมสอนศาสนาให้ตรงกับนิกาย Church of England (นิกายที่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงสถาปนา หลังจากไม่ลงรอยกับศาสนจักรในกรุงโรม)

เมื่อเป็นเช่นนี้ ครอบครัวของท่านจึงประสบความยากลำบาก วัยเด็กของไอแซก แม้ว่าตัวท่านจะมีสติปัญญาเป็นเลิศ แต่ก็มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้ง และกีดกันจากการเข้าศึกษาในสถาบันที่มีชื่อเสียง ภายหลังจบการศึกษา ด้วยความสามารถและสติปัญญาของท่าน สาธุคุณกลายเป็นครู (ลักษณะ “ติวเตอร์”) คนดังแห่งยุคของอังกฤษ

หลังจากสอนหนังสือระยะหนึ่ง ไอแซกหันหน้ามาหาเส้นทางศาสนา และทำหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่นิกายโปรเตสแตนท์ ในบทบาทนี้ท่านก็เป็นนักเทศน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน มีผู้ศรัทธาหลั่งไหลมาฟังการเทศน์ของท่านอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ท่านยังแต่งเพลงและบทกลอนไว้อีกมากมาย

ศุภาสิริ สุพรรณเภสัช เล่าถึงที่มาของเพลงนี้ว่า ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่า สาธุคุณได้แรงบันดาลใจหลังจากอ่านบท Psalm 98 ในพระคัมภีร์ที่มีเนื้อหาว่า “Make Joyful noise unto the Lord, all the earth make a loud noise, and rejoice and sing praise.”

เนื้อหาเพลงนี้ถือกำเนิดขึ้นมาร่วมร้อยปี หลังจากนั้นถึงได้ทำนอง โดย โลเวลล์ เมสัน (Lowell Mason) นักแต่งเพลงในสหรัฐฯ เป็นผู้นำบทกวีดังกล่าวมาใส่ทำนองดังที่ได้ยินกันติดหู

เดิมทีเมสันเป็นผู้ศรัทธาในศาสนา และทำงานสายธนาคาร แต่ด้วยความที่เป็นคนรักเสียงดนตรี แม้จะทำงานสายอื่นก็ยังทำกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีไม่ขาดสาย ช่วงวันอาทิตย์ก็ทำกิจกรรมในโรงเรียนสอนศาสนา บรรเลงออร์แกนในโบสถ์ และยังเขียนเพลงให้โบสถ์ ส่วนหนึ่งก็เขียนเพลงไปขาย แต่ก็ใช่ว่าจะขายดี แต่แล้วช่วงเวลาของเมสันก็มาถึง เมื่อสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งซื้อเพลงของเมสันไปทำโน้ตรวมเล่ม แล้วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือครัวเรือนล้วนซื้อโน้ตไปใช้สอน ผลงานครั้งนี้ขายได้มหาศาล ดีดให้เมสันกลายเป็นเศรษฐี และเขาก็เลิกทำงานธนาคารมาตั้งสำนักพิมพ์ขายโน้ตเอง

ส่วนทำนองเพลงนี้ในฉบับที่ทั่วโลกคุ้นเคยในปัจจุบัน เป็นผลมาจากทำนองที่เขาประพันธ์ (เรียบเรียง) ค้างไว้ แล้ววันดีคืนดีก็พบบทกวีเข้า ด้วยความชื่นชมจึงหยิบมาประกอบกับทำนองที่เขียน ซึ่งก็เข้ากันได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ ศุภาศิริ เล่าว่า ค.ศ. 1836 ผู้ที่เข้าโบสถ์ได้ฟังเพลงใหม่เอี่ยม เพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ ความนิยมยังข้ามกลับไปที่ยุโรป

ปริศนาอย่างหนึ่งที่หลายคนยังไม่สามารถหาคำตอบได้อย่างชัดเจนคือ เพลงที่มีบทบาทในโบสถ์เป็นหลักกลายเป็นเพลงในเทศกาล “คริสต์มาส” ได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่า ด้วยเนื้อหาที่เป็นบวก และเชื่อมโยงกับเทศกาลเชิงเฉลิมฉลองก็อาจทำให้เพลงนี้เหมาะกับบรรยากาศได้แบบอัตโนมัติ จึงกลายเป็น “เพลงร่วมสมัย” ที่ฮิตแข่งกับเพลงป๊อปกันเลยก็ว่าได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Joy To The World”. ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. เพลงของโลกและของเรา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2562