“ยาวี” เป็นชื่อตัวอักษร ไม่ใช่ชื่อ “ภาษา” อย่างที่ (หลายคน) เข้าใจกัน

กองทัพ ตีเมือง ปัตตานี
โคลงภาพพระราชพงศาวดาร เขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 วาดโดย นายวร, พระราชพงศาวดารแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตอนตีเมืองปัตตานีได้ปืนใหญ่

ในความรับรู้ของคนไทยทั่วไป (อย่างผู้เขียนเป็นต้น) มักเข้าใจว่า ภาษาที่ชาวมุสลิมในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยใช้กันคือ “ภาษายาวี” หรือ “ยาวี” ด้วยเป็นคำที่ใช้เรียกอย่างแพร่หลายในสื่อกระแสหลัก ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด แต่คำนี้ถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกลายเป็นเรื่องที่ถูกไปแล้ว

ความจริงแล้ว “ยาวี” เป็นชื่อเรียกตัวอักษร ไม่ใช่ชื่อภาษา นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบาย คำว่า “ยาวี” หรือ “จาวี” ไว้ว่า เป็นคำจากภาษาอาหรับแปลว่าเป็นของชวา หรือคนชวา เพราะเมื่อมุสลิมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางไปแสวงบุญที่เมกกะจะถูกขนานนามว่าเป็นพวกไปจาก “ชวา” เมื่อหะยีเหล่านี้เอาอักษรอาหรับมาใช้สำหรับเขียนภาษามลายูก่อน ทำให้คนมลายูเรียกอักษรเช่นนี้ว่าเป็นอักษรของพวกยาวีตามอย่างพวกอาหรับ

ส่วนภาษาที่ชาวมุสลิมภาคใต้ใช้กันนั้นสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ระบุว่าเป็นภาษา “มลายูถิ่นภาคใต้” [ซึ่งคนท้องถิ่นมักเรียกว่า “นายู”] มีอยู่ 2 สำเนียงคือ สำเนียงฝั่งตะวันตกมีมลายูถิ่นสตูลเป็นศูนย์กลาง ซึ่งปัจจุบันมีคนใช้ไม่มากนัก เนื่องจากชาวสตูลหันมาใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ส่วนอีกสำเนียงเป็นภาษามลายูถิ่นสำเนียงตะวันออก มีภาษามลายูถิ่นปัตตานีเป็นศูนย์กลาง เป็นสำเนียงที่ใช้มากที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย มีความคล้ายคลึงกับภาษามลายูถิ่นกลันตัน และบางหมู่บ้านในรัฐตรังกานู อันเป็นรัฐทางตอนเหนือแถบฝั่งทะเลตะวันออกของมาเลเซียในปัจจุบัน

ผู้รู้อธิบายต่อไปว่า ภาษามลายูทั้งสองสำเนียงหลักที่ใช้ในภาคใต้ของไทยแม้จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ผู้ใช้ภาษาทั้งสองสำเนียงสามารถสื่อสารกันได้ไม่ลำบากนัก ก็คงคล้ายกับผู้ใช้ภาษาไทยในถิ่นต่างๆ ที่มีสำเนียงต่างกัน แต่ก็ฟังกันเข้าใจ

ภาษามลายูถิ่นใต้เป็นภาษาที่ไม่มีตัวเขียนเป็นของตัวเอง จึงรับเอาภาษาอาหรับมาดัดแปลงดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น การที่คนไทยเรียกภาษาที่ชาวมุสลิมภาคใต้ใช้สื่อสารอย่างผิดๆ โดยไปเอาชื่อตัวอักษรมาเรียกเป็นชื่อภาษาว่า “ยาวี” (ซึ่งคนทั่วไปคงไม่รู้ว่าหมายถึงชวา) จึงเหมือนต้องการปกปิดตัวตนความเป็นมลายูของมุสลิมภาคใต้อยู่ในที เพราะคนท้องถิ่นก็ไม่เรียกภาษาที่ตนพูดว่าเป็นภาษายาวีแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2561