ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี |
เผยแพร่ |
ชาติพันธุ์มลายูส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยูในแหลมมลายูและหมู่เกาะมลายูเป็นหลัก ประชากรประมาณ ๓๐๐ ล้านคน มีอาชีพทางเกษตรกรรม เช่น การเพาะปลูก ทำนาทำไร่ และการประมง ซึ่งเป็นการประกอบอาชีพเพื่อการบริโภค ถึงแม้จะขายผลผลิตบ้างก็เพื่อการใช้สอยในการดำรงชีวิตอย่างสมถะในครอบครัว หาเป็นเพื่อความร่ำรวยหรือสุรุ่ยสุร่ายไม่
เมื่อแนวคิดเสรีทุนนิยมแพร่สะพัดเป็นแรงผลักให้เกิดสังคมบริโภคมากขึ้น วิถีดั้งเดิมถูกมองว่าล้าหลังไม่ทันโลก ขี้เกียจ การศึกษาต่ำ มีลูกมากและยากจน (สารพัดจะดูถูก) เป็นการมองปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่เบื้องหน้า โดยไม่พิจารณาเชิงลึกที่ควรจะต้องศึกษาให้เข้าใจ
ชนชาติมลายูส่วนหนึ่งมีความรู้ความสามารถในการเดินเรือและการท่องเที่ยวทางทะเล อาจจะเป็นเพราะบ้านเมืองล้อมรอบโดยทะเลส่วนหนึ่ง และเคยไปมาหาสู่กับคนต่างบ้านต่างเมืองตั้งแต่ยุคเปอร์เซียโบราณจนถึงยุคล่าอาณานิคมของชาติผู้กระหายดินแดน การเดินทางของชนชาติมลายูมิใช่เพื่อการค้าเป็นหลัก แต่เป็นการเคลื่อนย้ายหาที่ทำกินและการเชื่อมสัมพันธ์ทางการเมืองในหมู่ชนชาติพันธุ์เดียวกัน
เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๘ อิสลามเข้ามามีอิทธิพลในหมู่เกาะมลายู ทำให้จำนวนผู้คนนับถือศาสนาอิสลามมาก ได้แผ่ขยายเข้าไปลึกในแผ่นดินใหญ่ของแหลมมลายูด้วย จนมีการจัดตั้งรัฐอิสลามที่หมู่เกาะมลายู สุมาตรา และปาตานี ดารุสซาลาม การติดต่อสัมพันธ์กันและกันระหว่างชนชาติมลายูยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น จากเดิมเป็นชนเผ่าเดียวกันเป็นความรู้สึกร่วมทางจิตวิญญาณศาสนาเดียวกันเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง จนได้มีการให้ความหมายคนมลายูคือชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลาม
วิถีมลายูสามารถเห็นชัดเจนในชีวิตประจำวันของชุมชน นับตั้งแต่ชีวิตหนึ่งเกิดและที่สุดได้จากโลกไป ทุกคนจะเหมือนกันหมด ยกเว้นการปฏิบัติบางอย่างอาจจะแตกต่างกันบ้างตามแต่ละพื้นที่ที่จะกำหนดเป็นจารีตประเพณียึดถือปฏิบัติ เช่น การแต่งงาน การถ่ายทอดวิชาความรู้ ความสัมพันธ์ระหว่างเผ่าพันธุ์ (Suku) และความเข้มข้นในการนับถือศาสนา
ในความเป็นจริง วิถีชีวิตมลายูในประเทศไทยมิได้มีความแตกต่างกับคนมลายูในที่อื่นๆ ของโลก เพราะถูกปรับให้เข้ากับความเชื่อทางศาสนาเป็นพื้นฐาน ดังจะเห็นจากบทความของนักวิชาการมลายูอินโดนีเซียชื่อ Tenas Effendi กล่าวไว้ในบทความทางวิชาการที่นำเสนอในการสัมมนาผู้นำจารีตประเพณีและวัฒนธรรมมลายู ณ เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย (๓๐ กันยายน ๒๕๔๖) เรื่อง Sekilas Tentang Kesantunan Dalam Adat dan Kesenian Melayu ซึ่งสามารถยกตัวอย่างและคำแปลสรุปดังนี้
Apa tanda orang berbangsa, sopannya nampak santonnya nyata
ความหมาย : อะไร (ที่แสดงว่า) คนมีชาติตระกูล (คือ) ความสุภาพที่มองเห็น การมีจิตใจงดงามชัดเจน (ความหมายของคำว่า Berbangsa หมายถึงความเป็นคนดี มีชาติตระกูลสืบสายเลือดที่สูงส่ง มีศักดิ์ศรี มีความเป็นพี่น้อง ฯลฯ)
Tanda orang tak tahu adat, santun lupa sopan tak ingat
ความหมาย : สัญลักษณ์คนที่ไม่รู้ในจารีตประเพณี จะเป็นคนที่ลืมความเป็นสุภาพชน (และ) ไม่ใส่ใจเรื่องความสง่างาม (ความหมายของคำว่า Adat, Beradat หมายรวมถึงกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย มรดกภูมิปัญญาในการครองตนที่ตกทอดสืบสานมาแต่อดีต บุคลิกดีงาม การเคารพนับถือซึ่งกันและกัน การมีจิตใจซื่อสัตย์ สุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน คนมีอารยธรรม ปฏิบัติตามจารีตประเพณีของชาติพันธุ์อันดีงาม ฯลฯ)
Tanda orang tidak beradat, perangai kasar buruk tabiat
ความหมาย : ความประพฤติของคนที่ไร้จารีตประเพณีอันดีงาม (จะมี) นิสัยก้าวร้าว ความประพฤติเลวทราม
การสั่งสอนจารีตประเพณีของชาติพันธุ์มลายู จะเริ่มต้นด้วยจิตวิญญาณที่เป็นพื้นฐานก่อน และจะล่วงลึกในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่นการใช้ภาษา ได้มีการดัดแปลงอักขระในภาษาอาหรับ (ซึ่งเป็นภาษาอัลกุรอาน ภาษาศาสนา) มาเขียนตำราศาสนาในภาษามลายูที่เรียกว่าอักขระยาวี ในการสั่งสอนศาสนาให้กับลูกหลานทั้งในครอบครัวและชุมชน จนกลายเป็นสถาบันการศึกษาที่เรียกว่าปอเนาะ ผลผลิตจากปอเนาะ คือคนรุ่นใหม่ที่ถูกบ่มเพาะและเป็นตัวนำที่สืบทอดสารธรรมทางศาสนาสู่สังคมอย่างเป็นพลวัต
ชนชาติมลายูที่ต้องกลายพันธุ์เพราะการอพยพเคลื่อนย้ายและสร้างหลักปักฐาน ณ บ้านเมืองอื่น หากจำเป็นต้องเปลี่ยนภาษาพูด การแต่งตัวตลอดจนวิถีปฏิบัติบางอย่างให้สอดคล้องกับสังคมใหม่ ควรจะนึกถึงคำกล่าวของปู่ย่าตาทวดคนมลายูที่กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า
Biar mati anak jangan mati adat
ความหมาย : ถึงแม้จะสูญเสียลูกไป (แต่) อย่าให้จารีตประเพณีตายตามไปด้วย
คนยุคสมัยนี้มองและมีทัศนคติในเรื่องนี้ว่าคร่ำครึ ไร้สาระ และหาค่าไม่ได้ จึงพยายามวิ่งหากงล้อแห่งโลกาภิวัตน์ที่มีผู้เดินเครื่องและถือระบบควบคุมคือชาติตะวันตก มีบทเรียนมากมายที่ชนหลายเผ่าพันธุ์บนโลกนี้ต้องล่มสลายเพราะลืมนึกถึงตนเอง ลืมชาติตระกูลและชาติพันธุ์บรรพชนตน ดังนั้นวิถีแห่งความป่าเถื่อนและปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบไม่เคยได้ยินตั้งแต่บรรพกาล กลับปรากฏเป็นปกติวิสัยในแผนปฏิบัติการของผู้นำประเทศและลิ่วล้อ (บางคนบางประเทศ) ที่กระทำต่อชนชาติที่มีอารยธรรมและจารีตนิยมที่สั่งสมมานานนับพันๆ ปี
หรือจะยอมให้ลูกหลานเรานำวัฒนธรรมนิยมตะวันตกที่ไร้รากเหง้าเป็นสรณะและช่วยกันรุมฆ่าอารยธรรมจารีตประเพณีอันงดงามที่เป็นมรดก (Wasiat) ของบรรพบุรุษทิ้งไป เพื่อจะได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศชาติที่เจริญก้าวหน้าและพัฒนาทัดเทียมกับชาติตะวันตก และไม่รู้สึกสะทกสะท้านอะไรกับคำของผู้เฒ่าผู้แก่ที่กล่าวกับคนในสมัยนี้ (บางคน) ว่า “Orang tanga bangsa” ซึ่งหมายถึง “คนไร้ชาติตระกูล” เป็นคำกล่าวที่ท้าทายคนรุ่นเทคโนโลยีก้าวไกลจะคิดหาทางออกอย่างไร
หรือจะปล่อยเลยไปตามกาลเวลา?
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560