ถอดจารึกบน “ปืนใหญ่” แกะข้อมูลแฝงเรื่อง “เมืองไทร” ในจารึกอักษรยาวีที่นครศรีธรรมราช

ในบรรดาปืนใหญ่รอบวิหารพระแอด วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จะประกอบไปด้วยปืนใหญ่ทั้งหมด 8 กระบอก แต่ในบทความนี้ผู้เขียนขออนุญาตกล่าวถึงเพียง 2 กระบอกเท่านั้น คือ ปืนใหญ่ด้านหน้าวิหารพระแอดที่มีจารึกอักษรยาวีปรากฏอยู่ ได้แก่ จารึก น.ศ. 20, น.ศ. 21 และ น.ศ. 22

ถอดจารึกบนปืนใหญ่

1. จารึกปืนใหญ่วัดมหาธาตุ 1 (จารึก น.ศ. 20) มีรายละเอียดดังนี้

กระบอกปืนใหญ่ยาวประมาณ 1.70 เมตร ปากกระบอกปืนกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร  ทำจากสำริด ปากกระบอกปืนจนถึงกลางทำเป็นรูปกลม ส่วนท้ายเป็นรูปหกเหลี่ยม ปากกระบอกบานคล้ายปากแตร มีศูนย์หน้า ส่วนท้ายปืนมีรูชนวนทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมนูนขึ้นจากตัวปืนตรงกับศูนย์หน้า ข้างรูชนวนมีรูเล็กๆ 2 ข้างทำหน้าที่คล้ายศูนย์หลัง เหนือรูชนวนเป็นรูปดอกจันทน์นูนจากตัวปืนขึ้นมา ส่วนท้ายของปืนเป็นท่อนกลมกลวงยื่นออกมา เพื่อให้จับได้ง่าย แต่ปัจจุบันโดนตัดไป ส่วนที่ปืนยึดกับฐานเป็นเดือยรูปคล้ายอักษร Y มีคำจารึกอยู่ระหว่างรูชนวนกับรูปดอกจันทน์ ซึ่งได้ทำการอ่านและแปล ดังนี้

ภาพจารึก น.ศ. ๒๐

(1) อ่านและแปลโดย มะมูฮัยมิน กาซอ

บรรทัดแรก อ่านว่า “ไลลาอีนีดีบีนอปาดอตุนกูดาวุด”

ซึ่งไลลา เป็นชื่อคน อีนี (แปลว่านี้) ดีบีนอ (แปลว่าสร้าง) ปาดอ (แปลว่าจาก) ตุนกู (หมายถึงยศที่ใช้นำหน้าชื่อ) ดาวุด เป็นชื่อคนเช่นกัน

บรรทัดที่สอง อ่านว่า “เตริด ปาดอ 1232” หมายถึง สร้างเมื่อ 1232

(2) อ่านและแปลโดย นิมะห์ ซากีย์ ฝ่ายข่าวต่างประเทศ กองประชาสัมพันธ์ (สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช, 2556)

“ปืนใหญ่กระบอกนี้หล่อขึ้นโดยตนกูดาวุด ปี ฮ.ศ. 1232”

(3) อ่านและแปลโดย เอนก ฮาซันนารี (สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช, 2556)

บรรทัดแรก อ่านว่า “ลิลอีนี ดีบาลัย ปาดอ” ตึงกูดาวุด แปลว่า สิ่งเหล่านี้อยู่ที่โรงพักตึงกูดาวุด

บรรทัดที่สอง อ่านว่า “ตัรบันโต ปาดอ สานะฮ์ 1232” แปลว่า สร้างมาในปี (ฮิจเราะห์) 1232

สรุปความ คือ “สิ่งนี้สร้างโดยตนกูดาวุด สร้างเมื่อปี 1232”

2. จารึกปืนใหญ่วัดมหาธาตุ 2 (น.ศ. 21 และ น.ศ. 22) มีรายละเอียดดังนี้

กระบอกปืนใหญ่ยาวประมาณ 1.65 เมตร ปากกระบอกปืนกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ทำจากสำริด หล่อเป็นรูปกลมส่วนทั้งกระบอก ปากระบอกแบนคล้ายปากแตร มีศูนย์หน้า ส่วนท้ายปืนมีรูชนวนทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมนูนขึ้นจากตัวปืน ตรงกับศูนย์หน้า ข้างรูชนวนมีปุ่มเล็กๆ 2 ข้าง ทำหน้าที่คล้ายศูนย์หลัง เหนือรูชนวนเป็นรูปอาร์มนูนจากตัวปืน มีอักษรยาวีอยู่ภายใน ส่วนท้ายสุดของปืนเป็นท่อนกลมกลวงยื่นออกมา และมีคำจารึกอักษรยาวีบนท้ายปืน ส่วนที่ปืนยึดกับฐานเป็นเดือยรูปคล้ายอักษร Y ซึ่งได้ทำการอ่านและแปล ดังนี้

ภาพจารึก น.ศ. ๒๑

2.1 จารึกในกรอบรูปอาร์ม (น.ศ. 21)

(1) อ่านและแปลโดย มะมูฮัยมิน กาซอ

บรรทัดแรก อ่านว่า “อาลามัต” แปลว่า สัญลักษณ์/ตรา

บรรทัดที่สอง อ่านว่า “รูดิงเกอลิง” ซึ่งเป็นชื่อบุคคล โดย รูดิงเกอลิง ก็คือ อิบนูรูดิงเปริดบูยัง ลูกของอิบนูรูดิงบูยัง

บรรทัดที่สาม อ่านว่า “อิบนูรูดิง เปริดบูยัง”

บรรทัดที่สี่ อ่านว่า “ฟีบัลดาตุน ปาเลมบังดารุสลาม” แปลว่า ที่ประเทศปาเลมบังดารุสลาม

บรรทัดที่ห้า หมายถึง “ปี 1225”

(2) อ่านและแปลโดย เอนก ฮาซันนารี (สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช, 2556)

บรรทัดแรก อ่านว่า “อาลามัต” แปลว่า สิ่งเหล่านี้

บรรทัดที่สอง อ่านว่า “รี ดิน กลิง” (ชื่อ) รีดิน กลิง

บรรทัดที่สาม อ่านว่า “อีนี รีดิน ปีรบูจาบัน” แปลว่า สร้างมา

บรรทัดที่สี่ อ่านว่า “ฟีลาบาดิ ปลีมบัง ดารุสลาม” แปลว่า ในเมืองปริมบัง

บรรทัดที่ห้า อ่านว่า “สานะห์ 1225” แปลว่า สร้างมาในปี (ฮิจเราะห์) 1225

สรุปความ คือ “สัญลักษณ์ (แห่ง) รูดิงเกอลิง สร้างที่ประเทศปาเลมบังดารุสลาม เมื่อปี 1225”

ภาพจารึก น.ศ. ๒๒

1.2 จารึกบริเวณที่จุดชนวน (น.ศ. 22)

(1) อ่านและแปลโดย มะมูฮัยมิน กาซอ

บรรทัดแรก อ่านว่า “บันดุลกอดัม” คาดว่าน่าจะเป็นชื่อยศ (ในภาษาอาหรับ คำว่า บันดุล แปลว่า เมือง ส่วนคำว่า กอดัม แปลว่า แรก)

บรรทัดที่สอง อ่านว่า “ไลลา อิบนีดัยลี” อาจหมายถึงชื่อบุคคล

บรรทัดที่สาม อ่านว่า “ซียาน อับดุลเราะมาน”

บรรทัดที่สี่ อ่านว่า “ซึนจาตอกือนียค์กันดีซูรัต” แปลว่า เพื่อให้เป็นอาวุธ

บรรทัดที่ห้า หมายถึง “เขียนเมื่อปี 1232” เวลา 2

บรรทัดที่หก อ่านว่า “ดารุลอามาน” แปลว่า (ที่เมือง) ดารุลอามาน

(2) อ่านและแปลโดย เอนก ฮาซันนารี (สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช, 2556)

บรรทัดแรก อ่านว่า “บาลาดิลกือเดาะฮ์” แปลว่า เมืองเคดาห์

บรรทัดที่สอง อ่านว่า “ลิล อีนี ดีบาลัย” แปลว่า สิ่งเหล่านี้ อยู่ที่โรงพัก

บรรทัดที่สาม อ่านว่า “ปาดอ ชัยยิด อับดุลเราะมาน” แปลว่า ชัยยิด อับดุลเราะมาน

บรรทัดที่สี่ อ่านว่า “ดียาดีกัน สยาตอ กนาโอกัน” แปลว่า สร้างมาเป็นอาวุธ

บรรทัดที่ห้า อ่านว่า “ปาดอ สานะฮ์ 1232 ตามัน 2” แปลว่า สร้างมาในปี (ฮิจเราะห์) 1232

บรรทัดที่หก อ่านว่า “ยีม ดารุ้ลอีมาน”

สรุปความ คือ “สิ่งนี้ (มอบแด่) เมืองเคดาห์ เพื่อให้เป็นอาวุธ สร้างเมื่อ 1232 (ที่เมือง) ดารุลอามาน

ปืนใหญ่ให้คำตอบ

จากข้อมูลข้างต้นทั้งหมด ทำให้ผู้เขียนสามารถไขกุญแจสำคัญไปสู่คำตอบ ดังนี้

ปืนใหญ่สองกระบอกนี้มาจากเมืองดารุลอามาน ซึ่งปัจจุบันคือรัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) ในภาษาอาหรับ ดารุลอามัน หมายถึง ถิ่นที่อยู่แห่งสันติภาพ

กระบอกแรกสร้างโดยตนกูดาวุด ส่วนกระบอกที่สองสร้างโดยรูดิงเกอลิง (ระเด่นกะลิง, รีดินกลิง) ซึ่งเป็นบุตรของอิบนูรูดิงบูยัง (ระเด่นเปอร์โบ วิชายา) เจ้าเมืองปาเล็มบัง

สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี 1225 หากเป็นปี ฮ.ศ. จะตรงกับ พ.ศ. 2347 ตรงกับสมัยเจ้าพระยานคร (พัฒน์) หรือปี 1232 หากเป็นปี ฮ.ศ. จะตรงกับ พ.ศ. 2354 ตรงกับสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย)

เหตุที่ได้นำมาตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (หน้าวิหารพระแอด) ก็อันเนื่องมาจากภายหลังที่เจ้าพระยานคร (น้อย) ยกทัพไปตีเมืองไทรบุรี ใน พ.ศ. 2373 หรือ 2381 และได้เทครัวชาวเมืองไทรบุรีมายังเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง ตลอดจนกรุงเทพ โดยปัจจุบันยังคงพบการตั้งชุมชนของชาวมลายูในเมืองเหล่านี้อยู่

นายสินชัย กระบวนแสง ให้ความเห็นว่าปืนใหญ่ที่มีจารึก น.ศ. 20 เป็นปืนประเภทที่ชาวมาเลย์เรียกว่า lela ใช้ติดตั้งบนแคมเรือหรือหัวเรือ ส่วนปืนที่มีจารึก น.ศ. 21 และ น.ศ. 22 น่าจะหล่อขึ้นที่เมืองปาเล็มบัง ต่อมาปืนกระบอกนี้น่าจะถูกส่งมาเป็นบรรณาการแก่สุลต่านเคดาห์ในปี ฮ.ศ. 1232 (เจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรัน) สันนิษฐานว่ากองทัพนครศรีธรรมราชน่าจะยึดมาจากเมืองไทรบุรีเมื่อครั้งยกทัพไปราบกบฏเมื่อ พ.ศ. 2373 หรือ 2381 และไม่ได้นำส่งกรุงเทพฯ

ดังนั้น ปืนใหญ่สองกระบอกนี้จึงไม่ใช่ปืนใหญ่ธรรมดา หากแต่เป็นปืนใหญ่ที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาทางการเมืองระหว่างไทรบุรี (รัฐเคดาห์) กับเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตัวแทนส่วนกลางนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา ในการดูแลและปราบปรามหัวเมืองมาลายู

การสู้รบและสงครามที่เกิดขึ้นตลอดมานั้นผู้เขียนมองว่าเป็นสงครามตัวแทนเสียมากกว่า เพราะส่วนกลางต้องการมีอำนาจเหนือรัฐมลายู เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งทำรายได้อย่างมหาศาล ทั้งเหมืองแร่ ท่าเรือ ตลอดจนเกาะที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงการค้าได้

ดังนั้น ส่วนกลางจึงพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงหาใช่ไม่! แม้กระทั่งหลังการเสียดินแดนของส่วนกลาง (คนของส่วนกลาง) ก็ยังไม่วายตีโพยตีพายว่าดินแดนแถบนั้นเป็นของส่วนกลางอยู่ดี แล้วเราจะอยู่กันอย่างนี้จริงเหรอ ?

ขอบพระคุณครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช. จารึกที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราช. 2550 (แก้ไขเพิ่มเติม 2556).

นายจุรินทร์ มะหมัด (ประสานงานกับผู้อ่านและแปล, แลกเปลี่ยนข้อมูล)

นายมะมูฮัยมิน กาซอ (ผู้อ่านและแปลจารึกบนปืนใหญ่)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2561