ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ยุคที่จีนมีจักรพรรดิปกครองบ้านเมือง มี “รัชศกจีน” เป็นชื่อที่ใช้เรียกรัชกาลของฮ่องเต้แต่ละพระองค์ รัชศกนี้เริ่มต้นใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ชื่อรัชศกมีที่มาจากไหนบ้าง
รัชศกจีน แต่ละรัชกาลมีได้มากกว่า 1 ชื่อ
ผศ. ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวัฒนธรรมจีน เล่ารายละเอียดของรัชศกจีนไว้ในผลงาน “ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่ อัตลักษณ์สำคัญเบื้องต้นของคนจีน” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า
เหนียนเฮ่า หรือ รัชศกจีน คือชื่อศักราชที่ฮ่องเต้ประกาศใช้ในรัชกาลของตน อาจใช้ชื่อเดียวตลอดรัชกาล หรือเปลี่ยนใหม่กี่ครั้งก็ได้ เช่น พระเจ้าถังไท่จง ใช้ชื่อศักราชว่า “เจินกวน” เพียงชื่อเดียว ส่วน พระเจ้าถังเกาจง ครองราชย์ 25 ปี ใช้ชื่อศักราชในรัชกาลถึง 14 ชื่อ ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง นอกจากพระเจ้าหมิงอิงจงแล้ว ฮ่องเต้ทุกพระองค์ใช้ชื่อศักราชชื่อเดียวตลอดรัชกาล

เหนียนเฮ่าใช้เป็นชื่อปีในการบันทึกเหตุการณ์ เพื่อบอกให้ชัดว่าเหตุการณ์นั้นเกิดในปีใด ต่อมานิยมใช้เป็นคำแทนชื่อฮ่องเต้ด้วย เช่น พระเจ้าหมิงเฉิงจู่ นิยมเรียกว่า “หย่งเล่อฮ่องเต้” มากกว่า โดย “หย่งเล่อ” เป็นชื่อรัชศก หรือศักราชประจำรัชกาล
ชื่อปีที่ใช้บันทึกเหตุการณ์ของจีนมีความเป็นมายาวนาน ยุคโบราณใช้ชื่อปีในระบบ “กานจือ” ซึ่งมีอยู่ 60 ชื่อ พอครบรอบต้องขึ้นต้นใหม่ ทำให้ต้องใช้ชื่อซ้ำกันทุกรอบ 60 ปี ไม่สะดวกแก่การบันทึกเรื่องระยะยาว
การบันทึกพงศาวดารตั้งแต่ราชวงศ์โจวถึงต้นราชวงศ์ฮั่น ใช้ชื่อรัชกาลตามสื้อเฮ่า (พระสมัญญา) เป็นชื่อศักราช เช่น บันทึกว่า ขงจื๊อถึงแก่กรรมเมื่อปีที่ 41 ของรัชกาลพระเจ้าโจวจิ้งหวาง
ช่วงก่อน พ.ศ. 298-285 รวม 14 ปี โจวลี่หวาง ผู้โหดร้าย ถูกราษฎรขับออกจากราชสมบัติ คณะผู้สำเร็จราชการปกครองบ้านเมืองแทน ใช้ชื่อศักราชว่า “ก้งเหอ” หมายถึงสมัครสมานสามัคคี เป็นชื่อศักราชที่ไม่ได้อิงตัวบุคคลอย่างเป็นทางการครั้งแรกของจีน แต่ก็ใช้เพียง 14 ปี เพราะเมื่อ โจวซวนหวาง ครองราชย์ ก็กลับไปใช้ชื่อศักราชตามสื้อเฮ่าของฮ่องเต้เช่นเดิม
รัชศกจีน เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่
เหนียนเฮ่าเริ่มใช้ในรัชกาล พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 403 ทรงตั้งชื่อรัชศกว่า “เจี้ยนหยวน” แปลว่าสร้างมงคล ใช้อยู่ 6 ปี ก็เปลี่ยนชื่อรัชศกใหม่เป็น “หยวนกวง” แปลว่าแสงมงคล ตลอดเวลาที่ครองราชย์ 53 ปี (พ.ศ. 403-456) ทรงใช้ชื่อรัชศกถึง 11 ชื่อ
ตั้งแต่นั้นมา ฮ่องเต้แทบทุกองค์ล้วนประกาศใช้รัชศก เว้นบางองค์ที่ด้อยอำนาจหรือครองราชย์ช่วงสั้นๆ และเมื่อฮ่องเต้องค์ใหม่เสวยราชย์จะใช้รัชศกของรัชกาลก่อนหน้าต่อไปจนสิ้นปี พอขึ้นปีใหม่จึงประกาศใช้รัชศกประจำรัชกาลตัวเอง เป็นการแสดงพระราชอำนาจอย่างสมบูรณ์
ที่มาชื่อรัชศก
อาจารย์ถาวรเล่าว่า ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นถึงราชวงศ์ซ่ง ฮ่องเต้ส่วนมากใช้รัชศกหลายชื่อ พอประกาศใหม่ก็ยกเลิกชื่อเก่า เหตุผลก็เพื่อความเป็นสิริมงคล หรือมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น
เช่น รัชกาล พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ พ.ศ. 421 ได้กิเลนขาวตัวหนึ่ง จึงเปลี่ยนชื่อรัชศกเป็น “หยวนโซ่ว” หมายถึงรับมงคล ต่อมา พ.ศ. 427 ขุดได้กระถางสำริดบูชาพระเทพบิดรของโบราณ ก็เปลี่ยนชื่อรัชศกอีกครั้งเป็น “หยวนติ่ง” หมายถึงกระถางบูชาพระเทพบิดรอันเป็นสิริมงคล

ฮ่องเต้องค์ที่เปลี่ยนชื่อรัชศกบ่อยที่สุด คือ จักรพรรดิอู่เจ๋อเทียน (บูเช็กเทียน) ครองราชย์ 21 ปี ใช้ชื่อรัชศกถึง 17 ชื่อ
ชื่อรัชศกส่วนมากมี 2 พยางค์ มีความหมายเป็นสิริมงคล ชื่อที่ดีเด่นเป็นพิเศษมีจำกัด ดังนั้นการที่ฮ่องเต้ต่างรัชกาลเปลี่ยนรัชศกบ่อยๆ ทำให้มีชื่อรัชศกของต่างรัชกาลซ้ำกันหลายชื่อ เช่น ชื่อ “เจี้ยนซิง” แปลว่าสร้างความรุ่งเรือง ใช้ซ้ำกัน 11 รัชกาล “ไท่ผิง” แปลว่ามหาสันติสุข ใช้ซ้ำกัน 9 รัชกาล “เจี้ยนผิง” แปลว่าสร้างสันติสุข ใช้ซ้ำกัน 8 รัชกาล
ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ฮ่องเต้ใช้ชื่อรัชศกรัชกาลละชื่อเดียว เว้น พระเจ้าหมิงอิงจง ครองราชย์ 2 หน จึงใช้ 2 ชื่อ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในการเรียกฮ่องเต้
ปกติชื่อตัว ชื่อรอง ของฮ่องเต้ ล้วนเป็นชื่อต้องห้าม พระสมัญญา (สื้อเฮ่า) และเทพบิดรนาม (เมี่ยวเฮ่า) ก็ถวายเมื่อสวรรคตแล้ว องค์ที่ยังครองราชย์อยู่ไม่มีชื่อที่คนทั่วไปจะใช้เรียกขานได้สะดวก ต่อมาเมื่อชื่อศักราชประจำรัชกาลมีแน่นอนเพียงชื่อเดียว จึงถูกนำมาใช้เป็นชื่อรัชกาลไปด้วยโดยปริยาย
ชื่อฮ่องเต้สมัยราชวงศ์หมิงเรียกตามเมี่ยวเฮ่าบ้าง เรียกตามเหนียนเฮ่าหรือรัชศกจีนบ้าง เช่น หมิงไท่จู่-หงอู่ หมิงเฉิงอู่-หย่งเล่อ หมิงสื้อจง-เจี๋ยจิ่ง หมิงเสินจง-ว่านลี่ ชื่อทางการใช้เมี่ยวเฮ่า แต่คนทั่วไปนิยมเรียกเหนียนเฮ่า จนบางองค์เมี่ยวเฮ่าไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เช่น พระเจ้าหมิงเสินจง รู้จักกันทั่วไปในนาม “ว่านลี่ฮ่องเต้”

ฮ่องเต้สมัยราชวงศ์ชิงทุกองค์ นิยมเรียกพระนามตามเหนียนเฮ่า จนเป็นชื่อที่แพร่หลาย เมี่ยวเฮ่าซึ่งเป็นพระนามรัชกาลเป็นทางการกลับไม่ค่อยมีคนรู้ เช่น จักรพรรดิคังซี ถ้าเรียก “ชิงเสิ้งจู่” คนทั่วไปจะไม่รู้จัก “ชิงสื้อจง” คือ จักรพรรดิยงเจิ้ง ส่วน “ชิงเกาจง” คือ จักรพรรดิเฉียนหลง หรืออย่าง พระเจ้าเสียนเฟิง พระสวามีของพระนางซูสีไทเฮา มีพระนามตามเมี่ยวเฮ่าว่า “ชิงเหวินจง” ขณะที่ “ชิงเต๋อจง” ก็คือ จักรพรรดิกวงซี่ว์
ตำราของจีนส่วนมากจึงสรุปว่า พระนามของฮ่องเต้ราชวงศ์โจวถึงก่อนราชวงศ์ถังเรียกตาม “สื้อเฮ่า” (พระสมัญญานาม) สมัยราชวงศ์ถังลงมาถึงก่อนราชวงศ์หมิงเรียกตาม “เมี่ยวเฮ่า” (เทพบิดรนาม) และสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงนิยมเรียกตาม “เหนียนเฮ่า” ก็คือรัชศกประจำรัชกาลนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- การตั้งชื่อของคนจีน 7 ประการ ตั้งแบบไหนเป็นมงคล ตั้งแบบไหนห้ามเด็ดขาด
- “แซ่” นามสกุลของคนจีนมีที่มาจากไหน “แซ่” บอกอะไร
- สื้อเฮ่า-สมัญญาแบบจีน ที่ตั้งให้หลังเสียชีวิต ที่มีทั้งยกย่อง-เห็นใจ-ตำหนิ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ถาวร สิกขโกศล. ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่ อัตลักษณ์สำคัญเบื้องต้นของคนจีน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2568