ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
หนุมาน ตัวอย่างลูกน้องดีเด่น เพราะ “นาย” (พระราม) ใช้ให้ทำอะไรก็สำเร็จทุกภารกิจ แม้อาจทำเกินหน้าที่บ้าง
ภาพลักษณ์กับตัวตนของ “หนุมาน” ถูกหยิบยกขึ้นพูดถึงอีกครั้งหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา จากโลโก้หนุมานของ ฤทธา (RITTA) บริษัทรับเหมาก่อสร้างชั้นนำของไทย ที่สร้างตึกทนแรงแผ่นดินไหวจนได้รับการพูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง
ทำไมต้องใช้สัญลักษณ์หนุมาน ? เรื่องนี้เป็นความตั้งใจของ สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ที่ต้องการสื่อความกล้าหาญ พละกำลัง สติปัญญา และความภักดี ผ่านตัวตนของหนุมาน
แล้วหนุมานเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่ ?

หนุมานเป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ที่คนไทยน่าจะรู้จักดีที่สุดตัวหนึ่ง เพราะเป็นขุนศึกวานรคนสำคัญของพระราม ยอดนักรบมากความสามารถ รับใช้เจ้านายได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเท และอุทิศตนด้วยความซื่อสัตย์
ที่ต้องกล่าวเช่นนั้น เพราะจากเรื่องราวในรามเกียรติ์ เราแทบจะบอกได้ว่า ชีวิตการทำงานหรือการรับใช้พระรามของหนุมานถือว่าไร้ที่ติ ส่งไปทำภารกิจอะไรก็สำเร็จแทบจะทุกครั้งไป
เมื่อหนุมานถวายตัวเป็นข้าบาทรับใช้พระรามกับพระลักษมณ์ก็ประพฤติตนเป็น “ลูกน้อง” ที่ดีทันที คือไปชวน “น้าสุครีพ” มาถวายตัวกับพระรามอีกคน ปูทางไปสู่การที่พระรามได้กองทัพวานรแห่งนครขีดขินมาร่วมรบในสงครามชิงนางสีดาคืนจากทศกัณฐ์
ความยอดเยี่ยมของหนุมานยังเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ศึกแรก คือระหว่างที่ 2 น้าหลานกำลังรวบรวมพลวานรอยู่ ก็พบหน่วยลาดตระเวนของฝ่ายทศกัณฐ์ มีหัวหน้าคือ ฤทธิกัน พลันวานร-ยักษ์ประจันหน้า หนุมานไม่รีรอเข้าตะลุมบอนจนได้ชัยชนะอย่างงดงาม
แต่หนุมานเองก็เป็นลูกน้องประเภท “ทำงานเกินนายสั่ง” อยู่เหมือนกัน เช่นในเหตุการณ์ครั้งต้องเดินทางล่วงหน้าทัพหลวงไปสำรวจเส้นทางสู่กรุงลงกา หนุมานได้พบนางบุษบามาลี นางอัปสรที่ถูกลงโทษให้มาอยู่เมืองมายันอย่างโดดเดี่ยว ก็เกิดจิตปฏิพัทธ์นึกรักและเกี้ยวพาราสีนางทันที
อย่างไรก็ตาม หนุมานไม่ใช่คนลืมงาน เมื่อเสร็จสมความรักกับนางบุษบามาลีแล้วก็ร่ำลา และช่วยนางพ้นคำสาปส่งกลับสวรรค์ จากนั้นเดินทางต่อไปยังกรุงลงกาตามภารกิจของตน
ในภารกิจเปิดทางสู่กรุงลงกานี้ หนุมานยังได้ประมือกับ ผีเสื้อสมุทร ผู้รักษาด่านสู่เกาะลงกา และยักษ์เสื้อเมืองชื่อ นางอังกาศตไล เจ้าลิงเผือกก็สามารถเอาชนะและฆ่าทั้งคู่ได้ และลอบไปเข้าเฝ้านางสีดาในอุทยานยักษา สถานที่ซึ่งทศกัณฐ์จับมากักบริเวณ จากนั้นถวายธำมรงค์ประจำพระองค์พระรามให้นางสีดา เพื่อให้มั่นใจว่าพระสวามีกำลังมาช่วยแล้ว
การเข้าเฝ้านางสีดาครั้งนั้นนับเป็นวีรกรรมสำคัญของหนุมาน เพราะตอนนั้นนางกำลังจะปลิดชีพตนเองอยู่รอมร่อ หากหนุมานมาไม่ทันหรือไม่ได้ช่วยชีวิตนางไว้ เรื่องราวในรามเกียรติ์คงจบห้วน ๆ ไปอย่างนั้น
แต่ก็เป็นอีกครั้งที่หนุมานทำงานเกินนายสั่ง เพราะก่อนกลับมาหาพระราม หนุมานบรรจงสร้างความฉิบหายให้ทศกัณฐ์ด้วยการเผากรุงลงกาจนวอดวาย ทำเอาพระรามโกรธทันทีเมื่อทราบเรื่อง ด้วยเกรงว่าหากพญายักษ์พิโรธหนักแล้วไปลงกับนางสีดาจะทำอย่างไร หนุมานก็ได้แต่ก้มหน้ารับผิดโดยดุษณี
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมของพระรามต่อขุนศึกวานรผู้นี้ลดน้อยลง เพราะหลังจากนั้นยังเป็นหนุมานนี่เองที่ถวายชีวิตกรำศึก ทำภารกิจหนักเบาทั้งหลายอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ที่โดดเด่นก็เช่น การเนรมิตกายให้ใหญ่โต เพื่ออมพลับพลาที่ประทับของพระราม มิให้ ไมยราพ ลักพาตัวพระรามไป แม้สุดท้ายพระรามจะถูกลักไปเมืองบาดาลจนได้ ก็เป็นหนุมานที่ตามไปช่วยและสังหารไมยราพสำเร็จ

หรือการไปเอา “สังกรณีและตรีชวา” และน้ำโอสถบดยาชื่อ “ปัญจมหานที” มาแก้พิษหอกโมกขศักดิ์ให้พระลักษมณ์ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เป็นอีกภารกิจถวายชีวิตของหนุมานเพื่อบรรลุเป้าหมาย จนช่วยให้พระลักษมณ์ฟื้นคืนพระชนม์อีกครั้ง
บทบาทของหนุมานในรามเกียรติ์ยังมีอีกมากมาย จนไม่สามารถยกมาเล่าได้ทั้งหมด เช่น การทำลายพิธีทดน้ำของกุมภกรรณ หักคอช้างเอราวัณ ล้มพิธีชุบตัวเพื่อเผด็จศึกอินทรชิต และที่สำคัญมาก ๆ คือ การ (หลอก) แปรพักตร์ เพื่อลวงเอากล่องดวงใจของทศกัณฐ์ ทำให้พระรามสามารถสังหารทศกัณฐ์ และยุติสงครามชิงตัวนางสีดาได้ในที่สุด
ทั้งที่พระรามมีขุนศึกระดับพญาวานรร่วมทัพไปด้วยมากมาย แต่ต้องยอมรับว่า หนุมานมีส่วนสำคัญในศึกใหญ่น้อย และเป็นส่วนหนึ่งของวีรกรรมกำราบเหล่ายักษ์แทบทุกครั้ง
ถึงจะทำเกินหน้าที่ไปบ้าง แต่เมื่อหน้าที่นั้นอยู่ในมือหนุมานแล้วไซร้ รับประกันว่าพระรามจะได้สมประสงค์อย่างแน่นอน นี่แหละคือตัวตนของหนุมานชาญสมร ลูกน้องดีเด่นที่ “นาย” ให้ทำอะไรก็สำเร็จไปเสียทุกภารกิจ
อ่านเพิ่มเติม :
- “เมีย 6 ลูก 2” ส่องลิสต์เมียและลูกของ “หนุมาน” ขุนศึกยอดนักรักของพระราม
- เปรียบ “สฤษดิ์” เป็น “หนุมาน” ทหารเอกผู้จงรักภักดีต่อ “พระราม”
- ใครเป็นแม่หนุมาน? เทียบวรรณคดีไทย VS รามายณะ คลายความสับสน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์, เรียบเรียงจากการแสดงบรรยายของ เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ. (2540). หนุมานชาญสมร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2568