วาระสุดท้ายของ “ทศกัณฐ์” 10 ปากสั่งเสียใครและอะไรบ้าง?

ทศกัณฐ์ ประกอบเรื่อง วาระสุดท้ายของทศกัณฐ์
ภาพประกอบเนื้อหา - ทศกัณฐ์ในจิตรกรรมที่ระเบียงวัดพระแก้ว (ภาพโดย ณัฐภิเชษฐ์ ฝึกฝน)

วาระสุดท้ายของทศกัณฐ์ 10 ปากสั่งเสียใคร ฝากฝังอะไรบ้าง?

จุดจบของ “ทศกัณฐ์” เป็นหนึ่งในตอนสำคัญที่สุดของวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เพราะนี่คือตัวละครที่เป็นต้นเหตุของเรื่องราวความวุ่นวายทั้งหลาย เริ่มจากการลักพาตัวนางสีดาไปยังกรุงลงกา จุดชนวนสงครามระหว่างตนกับ พระราม อวตารพระนารายณ์

ในสงครามยืดเยื้อระหว่างมนุษย์กับยักษ์นั้น พระรามและพระลักษมณ์มีกองทัพวานรเป็นกำลังสำคัญ ส่วนทศกัณฐ์มีเผ่าพันธุ์ยักษ์ ญาติโกโหติกา ตลอดจนมิตรสหาย ให้การสนับสนุน

การดึงเอาวงศาคณาญาติมาร่วมทำสงครามประหัตประหารนี้เอง ทำให้เผ่าพันธุ์ยักษ์เกือบสูญสิ้น เพราะนอกจากพระรามจะมีพลพรรควานรฤทธิ์มากเป็นทหารเอกแล้ว ยังมี “พิเภก” น้องชายผู้แปรพักตร์ของทศกัณฐ์คอยช่วยเหลือด้วย

เพราะความรู้ลึกตื้นหนาบางเกี่ยวกับฝ่ายยักษ์ของพิเภก ทำให้ไม่ว่าทศกัณฐ์จะส่งใครมาก็ถูกจัดการหมด จนไม่รู้จะให้ใครนำทัพออกรบอีก ไม้ตายสุดท้ายอย่างการถอดดวงใจฝากไว้กับ “ฤๅษีโคบุตร” พระอาจารย์ ก็ถูก “หนุมาน” ทหารเอกของพระรามชิงเอาไปจนได้

ในศึกสุดท้าย ทศกัณฐ์จึงออกมาเผชิญหน้ากับทัพพระรามในสถานะ “พร้อมตาย”

ทศกัณฐ์
ทศกัณฐ์ จิตรกรรมฝาผนังที่ระเบียงคดวัดพระแก้ว (ภาพจาก มติชนอคาเดมี)

แต่เพราะเป็นวงศ์พรหม เมื่อจะตายจึงตั้งใจตายอย่างมีศักดิ์ศรี สิ่งที่ทศกัณฐ์ทำคือร่ายมนตร์แปลงโฉมเป็นพระอินทร์ ก่อนยกทัพออกจากกรุงลงกา ครั้นถึงสนามรบ ไพร่พลยักษ์ที่ทราบชะตากรรมผู้เป็นนายได้เห็นทัพพระรามก็พากันถอยหนี เหลือเพียงทศกัณฐ์กับสารถีผู้ขับรถศึกเท่านั้น

แต่ดูเหมือนทศกัณฐ์จะไม่สามารถทำร้ายฝ่ายพระรามได้ แม้แต่ศรที่แผลงไปก็หาได้สะเทือนเลื่อนลั่นอย่างแต่ก่อน กลับกลายเป็นข้าวตอกดอกไม้ตกลงหน้ารถพระรามเสียอย่างนั้น

ข้างพระราม เมื่อได้ยลโฉมทศกัณฐ์ในร่างพระอินทร์แปลงก็อดพิศวงในความสง่างามไม่ได้ แขนที่ง้างศรเตรียมปลิดชีพพญายักษ์จึงค้างอยู่อย่างนั้น จนหนุมานต้องทูลเตือนให้รู้สึกพระองค์ แล้วศรพรหมาสตร์ก็พุ่งปักอกทศกัณฐ์ให้ได้รับความเจ็บปวดรวดร้าวและกลับคืนร่างเดิม

ในวาระสุดท้าย เมื่อทศกัณฐ์เหลือบไปเห็นพิเภก ความแค้นก็ประดังขึ้นมา แต่ด้วยความเป็นพี่-น้อง และเห็นว่าเป็นญาติวงศ์ของตน แม้เจ็บเจียนขาดใจก็ขอฝากฝังและสั่งเสียก่อน ดังว่า

เมื่อนั้น   ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ

ต้องศรเจ็บเพียงจะวายปราณ   ขุนมารเหลือบเห็นน้องชาย

ความแค้นเป็นแสนสุดนัก   คืนคิดถึงรักก็ใจหาย

ค่อยผ่อนจิตระงับลำดับกาย   แล้วบรรยายร่ำว่าพาที ฯ

แต่เพราะมี 10 เศียร 10 พักตร์ 10 โอษฐ์ ปากทั้ง 10 ก็พยายามว่ากล่าวกับพิเภก ดังนี้

๏ ปากหนึ่งว่าโอ้พิเภกเอ๋ย   ไฉนเลยมาแกล้งฆ่าพี่

ตัวเราก็จะม้วยชีวี   ในเวลานี้ด้วยศรพิษ

ปากสองว่าเจ้าผู้เป็นน้อง   ร่วมท้องสืบสายโลหิต

จะได้ผ่านลงกาสมคิด   เป็นอิสรภาพแก่หมู่มาร

ปากสามขอฝากมณโฑด้วย   ช่วยบำรุงให้เป็นแก่นสาร

ทั้งอัคคีกัลยายุพาพาล   ฝูงสนมบริวารทั้งนั้น

ปากสี่ว่าเจ้าจะครองยศ   ปรากฏเป็นจอมไอศวรรย์

จงเอ็นดูสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์   โดยธรรม์สุจริตประเวณี

ปากห้าจงดำรงทศพิธ   อย่าทำทุจริตให้เหมือนพี่

ตัดโลภโอบอ้อมอารี   แก่โยธีไพร่ฟ้าประชากร

ปากหกว่าเจ้าจงอดโทษ   ซึ่งกริ้วโกรธด่าว่ามาแต่ก่อน

อย่าให้เป็นเวราอาวรณ์   แก่เราผู้จะจรไปเมืองฟ้า

ปากเจ็ดขอฝากนัคเรศ   อันทรงวงศ์พรหเมศนาถา

สืบมาแต่องค์พระอัยกา   เมตตาอย่าให้จลาจล

ปากแปดว่าเราเลี้ยงท่าน   ก็ประมาณหมายใจให้เป็นผล

ตัวเราชั่วเองจึ่งเสียชนม์   แล้วได้ร้อนรนทั้งแผ่นภพ

ปากเก้าว่าพี่จะลาตาย   น้องชายเมตตาช่วยปลงศพ

อย่าให้ค้างราตรีในที่รบ   ไตรภพจะหมิ่นนินทา

สิบปากสิ้นฝากสิ้นสั่ง   สิ้นกำลังสิ้นคิดยักษา

พิษศรร้อนรุมทั้งกายา   อสุรากลิ้งเกลือกเสือกไป ฯ

เป็นอันว่าทศกัณฐ์สั่งเสียกับพิเภกไป 9 ปาก ตั้งแต่การต่อว่าน้องที่ช่วยเหลือพระราม ตามด้วยอภัยโทษให้พิเภกกลับคืนกรุงลงกาได้ แล้วจึงฝากดูแลเมียคือนางมณโฑและเหล่าสนม ฝากปกครองเผ่าพันธุ์ยักษ์ ดูแลบ้านเมือง ปกครองไพร่ฟ้าโดยสุจริต ขอให้อโหสิกรรมต่อกัน ฝากรักษาวงศ์วานของตน และสำนึกผิดที่ก่อกรรมทำชั่วจนนำภัยมาสู่ตัวและคนรอบข้าง ไปจนถึงฝากจัดการปลงศพตนให้สมเกียรติ

แต่เมื่อถึงปากที่ 10 ยังไม่ทันจะฝากฝังเพิ่มก็สิ้นแรงไปเสียก่อน…

ทศกัณฐ์ ออกรบ กับ พระราม
ทศกัณฐ์ออกรบกับพระราม (ภาพจาก จิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกรียรติ์รอบพระระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, สำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาล)

จังหวะนั้นเองที่หนุมานขยี้หัวใจของทศกัณฐ์จนแหลกลาญคามือ พญายักษ์ก็สิ้นใจตายทันที

๏ บัดนั้น   คำแหงหนุมานทหารใหญ่

ครั้นทศกัณฐ์ต้องศรชัย   ล้มในพ่างพื้นพระสุธา

จึ่งขยี้ดวงจิตขุนมาร   แหลกลาญละเอียดด้วยหัตถา

ดับสูญสุดสิ้นวิญญาณ์   ยักษาก็ม้วยชีวี ฯ

แม้จะเป็นพญายักษ์ มีฤทธานุภาพมากมาย เมื่อถึงคราวตายก็ยังมีความห่วงหาอาลัย แต่สิ่งต่าง ๆ ที่ฝากฝังจะได้สมดังใจทุกประการหรือไม่นั้น ย่อมเป็นธุระของคนเป็น มิใช่คนตาย

จะยิ่งใหญ่มาจากไหน ก็ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ส. พลายน้อย. (2548). รามเกียรติ์ ฉบับมหาชน. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ.

ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ : สมุดไทยเล่มที่ 79. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2568. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2568