
ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
อันที่จริง ทศกัณฐ์ ไม่ใช่ชื่อจริง ๆ ของพญายักษ์ในเรื่อง “รามเกียรติ์” หรือรามายณะ เพราะชื่อจริง ๆ คือ “ราวณะ” (Ravana – रावण) หรือ ราวัณ เป็นภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “คำราม”
ราวณะเป็นที่รู้จักในชื่ออื่น ๆ ด้วย เช่น “ทศพักตร์” แปลว่า สิบหน้า (ทศ-สิบ / พักตร์-หน้า) “ลงเกศวร” แปลว่า เจ้ากรุงลงกา และ “ราวเณศวร” แปลว่า ท้าวราวณะ
ส่วนที่รู้จักกันมากที่สุดในบ้านเราคือ “ทศกัณฐ์” แปลว่า สิบคอ (จากการมีสิบหน้า) ซึ่งมาจากการอำนวยพรของพระนารายณ์เมื่อครั้งปราบยักษ์ “นนทก” อดีตชาติของราวณะ คือให้ไปเกิดเป็นพญายักษ์มีสิบเศียร (หัว) ยี่สิบกร (มือ) ซึ่งก็สมพรปาก ราวณะยังมีชาติกำเนิดเป็นชนชั้นเจ้า เป็นพญายักษ์ ผู้ครองกรุงลงกา มีฤทธิ์เดชมาก แต่ก็ไม่วายถูก “พระราม” ผู้เป็นอวตารพระนารายณ์ตามมาปราบเข้าจนได้
มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า ชื่อ “ราวณะ” ในมหากาพย์รามายณะ อาจมาจากคำว่า “อิไรวน” (Iraivan – இறைவன்) ในภาษาทมิฬ ซึ่งแปลว่า “เจ้า” หรือราชา สอดคล้องกับตัวตนของราวณะที่เป็นราชาแห่งเหล่ารากษส (อสูร) หรือคนทมิฬในสายตาของชาวอารยัน
ราวณะในเวอร์ชันฮินดูมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นสาวกคน (ตน) สำคัญของพระศิวะ ชาวฮินดูในหลายพื้นที่ของอินเดีย ศรีลังกา และอินโดนีเซีย จึงเคารพบูชาราวณะด้วย ดังจะเห็นว่าเทวาลัยพระศิวะหลายแห่งมีรูปราวณะประดับอยู่ภายในร่วมกับรูปพระศิวะ
ในคัมภีร์พราหมณ์-ฮินดู ราวณะถือเป็นมหาบัณฑิต มีความรู้ในวิชาต่าง ๆ ได้แก่ 1) คณิตศาสตร์ 2) วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์, ดาราศาสตร์, กลศาสตร์) 3) รัฐศาสตร์ 4) โยคะศาสตร์ (การฝึกจิต บำเพ็ญตบะ) 5) ปรัชญาและเหตุผล 6) ความแตกฉานในคัมภีร์พระเวท โดยคัมภีร์พระเวทยังแบ่งออกเป็น 4 คัมภีร์ย่อย ได้เแก่ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และ อถรรพเวท รวม 6 ศาสตร์ 4 เวทย์ เป็นวิชา 10 แขนง
จึงเชื่อได้ว่า ศาสตร์เหล่านี้อาจเป็นที่มาของฉายา “ทศ-” ของราวณะ ทั้ง ทศกัณฐ์และทศพักตร์ จากความเป็นผู้เลิศในวิทยาการทั้ง 10 นั่นเอง
หากอธิบายจากบริบทสังคมฮินดู ถือว่า “ทศกัณฐ์” อยู่ในวรรณะกษัตริย์ เพราะมีชาติกำเนิดสูงส่ง หรืออย่างน้อย ๆ ก็วรรณะพราหมณ์ เพราะมีการศึกษา คือเป็นปราชญ์ผู้หนึ่ง ไม่ใช่ผู้นำคนเถื่อนธรรมดา ๆ อย่างที่แปลความกันใน “รามเกียรติ์” ว่าเป็นวรรรณกรรมสะท้อนการรุกรานของชนเผ่าอารยันอันสูงส่ง (ฝ่ายพระราม) เพื่อปราบปรามพวกทราวิฑ ชนพื้นเมืองที่ต่ำต้อย (ฝ่ายราวณะ)
อย่างไรก็ตาม “ทศ-” ของราวณะยังถูกตีความว่าอาจเป็นจิตใจ หรืออารมณ์ (ด้านร้าย) ทั้ง 10 ด้วย ได้แก่ ตัณหา, อัตตา, ยโส, โง่เขลา, โลภ, โกรธ, หลง, ริษยา, เกลียดชัง และหวาดกลัว
ทั้งนี้ การตีความดังกล่าวอาจเพื่อให้สอดรับกับประเพณี “วิชัยทัศมี” (Vijayadashami) ที่ชาวฮินดูในหลายพื้นที่ของอินเดียปฏิบัติกันทุกปี โดยจะมีการเผาหุ่นจำลองของราวณะ ซึ่งสื่อความหมายว่าเป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ด้านร้าย หรือจิตใจอันบิดเบี้ยวทั้ง 10 ประการ เพื่อชำระล้างจิตใจให้สะอาดนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- คำสาปแช่งในวรรณคดีไทย ที่ทำให้เกิดพระราม-ทศกัณฐ์
- ทศกัณฐ์คลั่งรัก? “มีเมียเป็นช้าง เป็นปลา” ฟัดนางสวรรค์หกชั้นฟ้า
- มี “รามายณะ” ฉบับพระรามไม่ใช่นารายณ์อวตาร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.worldhistory.org/Ravana/
https://www.thehinduportal.com/2017/06/why-ravan-have-10-heads-and-what.html
https://www.cnbctv18.com/india/dussehra-2022-what-do-the-10-heads-of-ravana-signify-14867881.htm
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2567