เปิดเมนู “เครื่องว่าง” สมัยรัชกาลที่ 6 มีอะไรบ้าง?

102 นามสกุลพระราชทาน เครื่องว่างสมัยรัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ภาพจาก หนังสือ Twentieth century impressions of Siam)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากผลงานพระราชนิพนธ์หมวดบทละครที่ชาวไทยประจักษ์เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีพระราชนิพนธ์ว่าด้วยเรื่องอาหาร ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมด้านอาหารในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย เช่น “เห่บทชมเครื่องว่าง” แล้วเมนูเครื่องว่างสมัยรัชกาลที่ 6 มีอะไรบ้าง?

ตำรับสร้างรสชาติ นริศ ตรัสจรรยาวงศ์ อาหารชาววัง 4 วังขึ้นชื่อ เครื่องว่างสมัยรัชกาลที่ 6
หนังสือ “ตำรับสร้าง(รส)ชาติ)” โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

เปิดเมนูเครื่องว่างสมัยรัชกาลที่ 6

“เครื่องว่าง” เป็นราชาศัพท์ มีความหมายคล้ายคลึงกับ “ของว่าง” ที่รับประทานนอกเหนืออาหารมื้อหลัก

เรื่องเครื่องว่างนี้ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักประวัติศาสตร์ผู้สนใจศึกษาตำราอาหารเก่าแก่ของไทย เล่าไว้ในผลงาน “ตำรับสร้าง(รส)ชาติ” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

ผลงานพระราชนิพนธ์ด้านอาหารในรัชกาลที่ 6 ปรากฏเด่นชัดอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ “เห่บทชมเครื่องว่าง” ซึ่ง ม.ล.ปอง มาลากุล ผู้ใช้นามปากกา “ศรีมาลา” ได้วิเคราะห์เทียบเคียงพระราชนิพนธ์นี้กับ “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไว้ว่า (จัดย่อใหม่โดยผู้เขียนบทความออนไลน์)

“อันบทเห่เรือนี้ จัดเป็นนิราศชนิดหนึ่งซึ่งมีกระบวนต่างจากนิราศสามัญ คือมีการชมเรือชมน้ำชมปลาแล้วก็ชมเครื่อง (ของเสวย) และอื่นๆ

การชมเครื่องก็เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เช่น ในรัชกาลที่ 2 โปรดเสวยของพื้นๆ เป็นเครื่องคาว รัชกาลที่ 6 โปรดของแปลกๆ เป็นเครื่องว่าง ต่างพระองค์ก็ทรงครวญถึงสิ่งที่พอพระราชหฤทัยตามแนวนั้นๆ ฉะนั้นรสชาติของกระบวนความจึงแตกต่างกันอยู่เป็น 2 รส มีทั้งเก่าและใหม่…

สำหรับรัชกาลที่ 6 นั้น ข้าพเจ้าพอจะทราบได้ว่าเคยโปรดเช่นใดบ้าง ทั้งนี้เพราะเคยเห็นและทั้งมีผู้ที่พอจะซักถามให้แน่ชัดได้อยู่ จึงแน่ใจว่าจะถูกตรงตามพระราชอัธยาศัยเป็นส่วนมาก”

ม.ล.ปอง ยังแจกแจงรายการอาหารของกาพย์เห่เรือทั้ง 2 รัชกาล พบว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ประกอบด้วยอาหาร 14 สำรับ

เมี่ยงคำ เครื่องว่างสมัยรัชกาลที่ 6
เมี่ยงคำ (ภาพ : เทคโนโลยีชาวบ้าน)

ส่วนพระราชนิพนธ์ “เห่บทชมเครื่องว่าง” พบว่า เมนูเครื่องว่างสมัยรัชกาลที่ 6 มี 16 สำรับ ดังนี้

ข้าวต้มนก, ข้าวต้มเนื้อ, ข้าวต้มสาคู, ขนมจีบนึ่ง, ขนมเบื้องกรอบ, หมูแนมแข็งอย่างใหม่, เมี่ยงคำ, เมี่ยงสมอเครื่องสด, เมี่ยงสมอเครื่องทอด, เมี่ยงปลาทู, ข้าวคลุก, ข้าวตังทาน้ำพริกผัด, ข้าวตังหน้าตั้ง, ขนมเบื้องไทย, ขนมจีนแกงไก่ และข้าวมันส้มตำ

นริศเล่าอีกว่า นอกจาก “เห่บทชมเครื่องว่าง” รัชกาลที่ 6 ยังทรงมีพระราชนิพนธ์อีกเรื่องที่เกี่ยวพันกับอาหารจีน คือ “วั่งตี่” (แปลว่า จักรพรรดิ) ดัดแปลงจากมหาอุปรากรเรื่อง “มิกาโด” ของกิลเบอร์ตและซัลลิแวน (Gilbert and Sullivan) แต่พระองค์ทรงปรับเปลี่ยนฉากสมมติเป็นชื่อจีนว่า “ตงฮั้วใต้เชียงก๊ก” และทรงนำชื่ออาหารจีนสำเนียงแต้จิ๋วตั้งเป็นชื่อตัวละคร อาทิ ปลาช่องโก๋วั่งตี่, แฮ่กึ๊ง, จับกิ๊ม, เต้าฮวย, เกี้ยมซึงตี ฯลฯ

เมี่ยงปลาทูน้ำปลาหวาน เครื่องว่างสมัยรัชกาลที่ 6
เมี่ยงปลาทูน้ำปลาหวาน (ภาพ : มติชนออนไลน์)

อย่างไรก็ตาม วั่งตี่ เป็นบทละครที่ไม่เคยจัดแสดงได้สำเร็จ เช่น ใน พ.ศ. 2453 มีการซ้อมแล้วแต่ต้องล้มเลิก เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต และอีกครั้งใน พ.ศ. 2455 ที่เกิด “กบฏ ร.ศ. 130” เสียก่อน รวมทั้งยังมีเรื่องเล่าว่า การจัดผ่านรายการวิทยุกระจายเสียงในสมัยหลังก็ยังพบอุปสรรคอีกหลายประการ

เมื่อพิจารณาเมนูเครื่องว่างสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว หลายเมนูยังคงสามารถหารับประทานได้ในยุคนี้ ทั้งยังเป็นเมนูยอดนิยมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนแกงไก่ ข้าวมันส้มตำ ฯลฯ ที่กลายเป็นอาหารจานหลักตามวัฒนธรรมการกินที่เปลี่ยนไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. ตำรับสร้าง(รส)ชาติ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2568