7 รายการ ของขวัญ “ต้องห้าม” ที่ชาวจีนจะไม่มอบให้ผู้อื่น

ร้านค้า ชาวจีน ใน กรุงเทพ ของขวัญ ต้องห้าม ของ คนจีน
ร้านค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ ในอดีต ไม่ระบุปีที่ถ่าย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2540)

การมอบ “ของขวัญ” หรือของฝาก เป็นธรรมเนียมคู่สังคมมนุษย์มาช้านาน โดยทั่วไปเมื่อมีงานเลี้ยงหรือพิธีต่าง ๆ การมอบช่อดอกไม้ ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือของมีค่าแก่กันถือเป็นสิ่งพึงปฏิบัติเป็นปกติ 

สำหรับชาวจีน แต่เดิมมักมอบปฏิทิน สุรา ใบชา ลูกกวาด หรือบุหรี่เป็นของฝากแก่กันในวันขึ้นปีใหม่หรือเทศกาลตามจารีต หากเป็นสมัยใหม่หน่อยก็จะมีความหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ของแต่งบ้าน สินค้าแบรนด์เนม สินค้าหัตถการต่าง ๆ หรือผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย ฯลฯ

ทั้งนี้ ชาวจีนยังมีค่านิยมเรื่องการให้ของฝากว่า จะไม่ควรมอบขอราคาแพงแก่เพื่อนทั่ว ๆ ไป หรือใครก็ตามที่คุณไปพบกันเป็นครั้งแรกโดยมิได้รู้จักมักคุ้นกัน เพราะผู้ได้รับจะคิดว่าผู้ให้พยายามติดสินบน หรือมีเจตนาแอบแฝงที่ต้องการความช่วยเหลือจากเขา

แล้วอะไรอีกบ้างที่เป็นของฝาก “ต้องห้าม” สำหรับชาวจีน? สิ่งที่ผู้ให้ควรเลี่ยง มีดังนี้

ของขวัญต้องห้ามของชาวจีน

1. ของกินของใช้ประจำวัน เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องอาบน้ำ ฯลฯ เพราะถือเป็นการดูแคลนผู้รับว่าไม่สามารถหาซื้อสิ่งเหล่านั้นได้เอง

2. ยารักษาโรค การมอบยารักษาโรคย่อมสะท้อนถึงภาวะเจ็บป่วยของผู้รับ คนจีนจึงหลีกเลี่ยงการมอบสิ่งนี้ให้กันตรง ๆ และเปลี่ยนเป็นการมอบผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายแทน

3. ของสีขาว-ดำ สีขาวและสีดำไม่ใช่คู่สีไว้ทุกข์ตามสากลนิยมเท่านั้น คนจีนเองก็ถือเรื่องนี้ด้วย จึงไม่นิยมมอบสิ่งของที่มี 2 สีดังกล่าวเป็นสีหลักแก่ผู้อื่น และไม่ใช้กระดาษห่อหรือคาดโบว์สีขาว-ดำด้วย

4. ดอกเก๊กฮวย ดอกเบญจมาศ การมอบบุปผชาติหลากสีสันเป็นธรรมเนียมสากลนิยมอยู่แล้ว แต่ดอกเก๊กฮวยหรือเบญจมาศเป็นดอกไม้สำหรับงานศพของคนจีน จึงไม่มอบดอกไม้นี้ให้คนเป็น

ดอกเบญจมาศ
ดอกเบญจมาศ (ภาพโดย Goran Horvat จาก Pixabay)

5. สาลี่ แตงโม (ผลไม้ตระกูลแตง) ในบรรดาผลไม้หลากหลายชนิดที่คนจีนมอบแก่กันเป็นเรื่องปกติ “สาลี่” กับ “แตงโม” คือข้อยกเว้น เพราะการออกเสียงสาลี่ว่า “หลี” (梨) พ้องเสียงกับอีกคำที่มีความหมายว่า “พรากจาก” (หลีฉี่ – 离去)

ส่วนผลไม้ตระกูลแตง จะมีชื่อจีนลงท้ายด้วย “กวา” (瓜) ซึ่งเป็นเสียงเดียวกันกับคำว่า “ส่ากวา” (傻瓜) ที่แปลว่า “โง่” หรือทึ่ม

6. นาฬิกา คนจีนจะไม่มอบนาฬิกาเป็นของขวัญสำหรับคู่บ่าวสาว หรือผู้สูงอายุ เพราะคำว่า “ให้นาฬิกา” ในภาษาจีนจะออกเสียงว่า “ซ่งจง” ซึ่งพ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่าการ “ดูใจ” (ซ่งจง – 送 终) หรือเยี่ยมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

แม้แต่คำว่า นาฬิกา (จง – 钟) ยังพ้องเสียงคำกับว่า “จง” (终) ที่แปลว่า “จบสิ้น” หรือสิ้นสุด

ยิ่งเป็นนาฬิกาลูกตุ้ม คนจีนจะได้ยินเสียงจากนาฬิกาว่า “จง จง จง” ให้ความรู้สึกว่า “จบสิ้นแล้ว จบสิ้นแล้ว จบสิ้นแล้ว” ด้วยคตินี้ การมอบนาฬิกาข้อมือให้แก่กันยังจึงอะลุ้มอล่วยได้อยู่ (เพราะเสียงเบามาก)

นาฬิกาลูกตุ้ม
นาฬิกาลูกตุ้ม (ภาพโดย Michal Jarmoluk จาก Pixabay)

7. รองเท้า คนจีนไม่นิยมซื้อรองเท้าให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว จากสำนวน “สวมรองเท้าเล็ก” (穿小鞋) ทำให้คนสวมเจ็บเท้า สื่อความหมายถึงการสร้างความยากลำบากให้ผู้อื่น หรือความเจ้าคิดเจ้าแค้น

นอกจากนี้ หากสิ่งของที่มอบให้กันมีจำนวนหลายชิ้น ชาวจีนจะหลีกเหลี่ยงการมอบของที่มีจำนวนลงท้ายด้วยเลข 4 เพราะอ่านออกเสียงว่า “ชื่อ” (四) ออกเสียงคล้ายอีกคำที่แปลว่า “ความตาย” (สื่อ – 死)

อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การปฏิบัติตามธรรมเนียมเหล่านี้จึงเข้มงวดมาก-น้อยแตกต่างกันตามแต่พื้นที่และตัวบุคคล

หากผู้อ่านมีประสบการณ์เกี่ยวกับ “ของขวัญต้องห้าม” อื่น ๆ ที่ตกหล่นจากที่เสนอข้างต้น หรือตามธรรมเนียมอย่างไทย ฝรั่ง หรือชาติอื่น ๆ ก็ลองมาแลกเปลี่ยนกัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กึน-กี, คิม ; วันวิสาข์ ปัญญางาม แปล. (2556). วัฒนธรรมนานาประเทศโลกตะลึง. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

พอหทัย ตนะกุล, มหาวิทยาลัยแม่โจ้. มารยาทในการให้ของขวัญแก่ชาวจีน. 2 ตุลาคม 2561. จาก https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=888

China Radio International (CRI ภาคภาษาไทย). ของขวัญต้องห้ามของชาวจีน. 28 กันยาน 2555. จาก https://thai.cri.cn/247/2012/09/28/225s202627.htm


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2567