ธรรมเนียมนิยม “เจ้าสัว-เถ้าแก่” รุ่นบุกเบิกในไทย มีเมียคนจีน ส่งลูกไปจีน ศพฝังที่จีน

สุสาน เจ้าสัว เถ้าแก่ คน จีน ที่ สระบุรี
พิธีศพตามธรรมเนียมจีน ที่สุสานแห่งหนึ่งใน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เมื่อประมาณปี 2500 (ภาพจากนายสานิตย์ แซ่จึง ใน หนังสือสมุดภาพสระบุรี)

บรรดา “เจ้าสัว” และ “เถ้าแก่” รุ่นบุกเบิกในสังคมไทย มีธรรมเนียมเกี่ยวกับครอบครัวชุดหนึ่ง ที่หลายบ้านให้ความสำคัญ นั้นก็คือ มีภรรยาเป็นคนจีน, ส่งลูกชายกลับไปเล่าเรียนที่บ้าน, ส่งศพกลับไปฝังที่บ้านเกิดในเมืองจีน  

เหตุผลของธรรมเนียมเหล่านี้ ขอไล่เรียงดังนี้

1. การมีภรรยาเป็นชาวจีน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แบบแผนประเพณีจีน, คำสอนและคติความเชื่อแบบคนจีน, ภาษาจีน ฯลฯ ยังคงส่งต่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปได้ เพราะการจัดการในบ้านอยู่ในมือผู้หญิงที่ชื่อว่า “ภรรยา”

2. การส่งลูกชายกลับไปเล่าเรียนที่บ้านเกิดในเมืองจีน ส่วนใหญ่มักส่งลูกชายคนโต ซึ่งคนจีนถือว่ามีสถานะเท่าลูกคนเล็กของปู่ย่า เพื่อ 1) ให้ลูกชายกลับไปแสดงความกตัญญูแทนพ่อที่มาโพ้นทะเล 2) ให้ลูกกลับไปเข้าหลักสูตรเข้มข้นเร่งรัดทั้งภาคทฤษฎี-ปฏิบัติ ความเป็นคนจีนจากแหล่งกำเนิด 3) ให้ลูกได้รู้จักคุ้นเคยและไม่ขาดจากญาติฝ่ายบิดา 4) ให้ลูกกลับไปดูแลทรัพย์สินส่วนที่เป็นของพ่อตนเอง ฯลฯ

3. การส่งศพกลับไปฝังที่บ้านเกิด ข้อนี้ก็คงเหมือนสากลทั่วไป ที่วาระสุดท้ายของชีวิตย่อมอยากอยู่กับคนในครอบครัว ใครที่จากบ้านเกิดมาก็อยากกลับไปสู่รกรากมาตุภูมิของตนเอง

แล้ว เจ้าสัว, เถ้าแก่ ตระกูลไหนในไทยที่ใช้ธรรมเนียมนิยม ก็มีตัวอย่างดังนี้

ตระกูลหวั่งหลี ที่มีรากฐานจาก หมู่บ้านโจ่ยมุ่ย อำเภอเท่งไฮ่ เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ก็นิยมในธรรมเนียมดังกล่าวเช่นกัน “ตันฉื่อฮ้วง” ผู้เป็นต้นตระกูลหวั่งหลี มาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2414 มีภรรยาชาวจีนอยู่แล้วที่บ้านเกิดชื่อ “เล้าซกเจี่ย”

ส่วนภรรยาชาวไทยชื่อ “หนู” มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ 1. ตันลิบบ๊วย 2. ทองอยู่ 3. ปุก 4. ตันลิบท้ง ลูกชายคนโตและคนเล็กของเขาเมื่ออายุได้ 9 และ 6 ขวบตามลำดับ ตันฉื่อฮ้วงก็ส่งกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดของเขาที่โจ่ยมุ่ย ภายใต้การดูแลของภรรยาชาวจีนของเขา และกว่าจะกลับมาเมืองไทยก็ครั้งเป็นหนุ่มน้อยอายุ 15-16 ปีแล้ว

ตันลิบบ๊วย ผู้นำหวั่งหลีรุ่นที่ 2 กลับไทยครั้งแรกเมื่ออายุ 16 ปี และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 23 ปี เพื่อรับสืบทอดกิจการในไทยแทนตันฉื่อฮ้วง ที่ต้องการเกษียณตัวเองจากธุรกิจในเมืองไทยกลับไปอยู่บ้านเกิดเป็นการถาวรเมื่อปี 2447 จนถึงแก่กรรมที่บ้านเกิด ส่วนภรรยาชาวไทย (หนู) เมื่อเสียชีวิต ศพก็ถูกบรรจุลงเรือกลไฟไปเมืองจีน เพื่อไปฝังรวมกับตันฉื่อฮ้วง และภรรยาชาวจีน

ตันลิบบ๊วยเองก็มีภรรยาชาวจีนที่บ้านเกิดชื่อ “เฮ้งซิวงี้” มีบุตรชายด้วยกัน 4 คน และมีภรรยาชาวไทยชื่อ “แจ่ม” เมื่อเขาเสียชีวิตศพของเขาก็ถูกนำมาฝังที่บ้านเกิดในเมืองจีนอีกเช่นกัน ส่วนบุตรชายของเขาที่เกิดจากภรรยาชาวจีน ทุกคนมีภรรยาเป็นชาวจีน

โดย ตันซิวเม้ง-บุตรคนที่ 2 และผู้นำหวั่งหลีรุ่นที่ 3 กับตันซิวติ่ง บุตรชายคนที่ 3 ของตันลิบบ๊วยและภรรยาชาวจีน ที่ถูกส่งกลับมาดูแลกิจการที่เมืองไทย ก็มีภรรยาอีก 1 คนเป็นชาวไทย และบุตรของพวกเขาทั้งสองก็ส่งไปเป็นให้มารดาชาวจีน (ที่ย้ายไปพำนักที่ฮ่อกง) อบรมดูแล

ตระกูลล่ำซำ ที่มาจากตำบลฉุ่งเข่ว จังหวัดหม่อยยั้น มณฑลกวางตุ้ง อึ้งยุกหลง หรือ อึ้งยุกหลง ล่ำซำ (พ.ศ. 2423-2482) บิดาเป็นชาวจีนฮากา (หรือจีนแคะ) มารดาเป็นชาวไทย เรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนวัดบพิตรภิมุข และเรียนหนังสือจีนที่บ้านครูย่านสะพานหัน

จนเมื่ออายุ 13 ปี บิดาให้ลาออกโรงเรียนดังกล่าว แล้วส่งกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนในบ้านเกิดของเขา กระทั่งอายุได้ 20 ปี จึงกลับมาเมืองไทยอีกครั้งเพื่อช่วยกิจการของบิดา ภรรยาคนแรกของอึ้งยุกหลงชื่อ “ทองอยู่” แม้ไม่ใช่สาวจีน และชื่อฟังดูไท้ยไทย แต่ที่จริงเธอเป็นลูกจีนในเมืองไทย แถมมีดีกรีเป็นลูกสาวเจ้าสัวใหญ่-ตันฉื่อฮ้วง ผู้เป็นต้นตระกูลหวั่งหลี

ตระกูลโสภณพนิช จากหมู่บ้านซัวอ๋าว ตำบลหับซัว อำเภอเตี้ยเอี้ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง “ตั้งเพี๊ยกชิ้ง” หรือ “ชิน โสภณพนิช” ที่แม้จะมีมารดาเป็นคนไทย แต่บิดาก็ส่งเขากลับไปเรียนหนังสือที่บ้านเกิดถึง 12 ปี โดยมีญาติข้างบิดาอบรมดูแล จนอายุ 17 ปี จึงได้กลับมาเมืองไทยและเริ่มชีวิตคนทำงาน

ปี 2474 ชินกลับไปเมืองจีนอีกครั้งพร้อมกับบิดา เพื่อแต่งงานกับ “ชางเลาไวอิง” สตรีชาวจีน แล้วพากันกลับมาอยู่เมืองไทย ต่อมาในปี 2482 ชินแต่งงานอีกครั้งกับ “บุญศรี” ลูกจีนในเมืองไทย

ตระกูลเตชะไพบูลย์ จากตำบลซัวเล่ง อำเภอเตี้ยเอี้ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง แต้จูเปียง ผู้นำตระกูลเดินทางมาประเทศไทยในปี 2445 เมื่อสร้างตัวประกอบธุรกิจได้ระยะหนึ่ง แต้จูเปียงก็กลับไปเยี่ยมบ้านเกิด และแต่งงานกับสาวในหมู่บ้านชื่อ “โง้วอ๋ายเฮี้ย” ก่อนพากันกลับมาเมืองไทย

เมื่อมีลูกชายคนแรกคือ “แต้โหงวเล้า” หรือ “อุเทน เตชะไพบูลย์” แต้จูเปียงส่งภรรยาและบุตรกลับไปบ้านเกิดอีกครั้ง หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ พ่อค้าชาวจีนในไทยนิยมรับครอบครัวกลับมาอยู่ด้วย แต้จูเปียงจึงไปรับครอบครัวกลับมาอยู่เมืองไทย ซึ่งเวลานั้น อุเทนก็อายุถึง 6 ปีแล้ว

ที่กล่าวไปนั้นก็แค่ตัวอย่าง ในความเป็นจริงธรรมเนียมข้างต้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ เจ้าสัว หรือ เถ้าแก่ แต่น่าจะเป็นที่นิยมในหมู่คนจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ เพียงแต่หลายคนติดขัดเรื่องปัจจัย

แต่เรื่องนี้มีทางออก เมื่อกลับไปหาสาวจีนที่บ้านเกิดแต่งไม่ได้ ก็แต่งกับลูกจีนในไทย, เมื่อส่งลูกกลับไปเรียนที่บ้านเกิดไม่ได้ ก็เรียนที่โรงเรียนจีนในไทย, เมื่อส่งศพกลับไปเมืองจีนไม่ได้ ก็ฝังศพในสุสานจีนที่เมืองไทย ซึ่งทดแทนและเยียวยาจิตใจคนไกลบ้านได้เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์). ดุจนาวากลางมหาสมุทร, บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด, พ.ศ. 2541.

เรื่องป่าไม้ในประเทศไทย ที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นายอึ้งยุกหลง ล่ำซำ ณ วัดทองธรรมชาติ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2482.

สาธิต อุทัยศรี. ชิน โสภณพนิช ในโอกาสเสด็จพระราชทานเพลิงศพ นายชิน โสภณพนิช ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 9 เมษายน 2531.

นรุตม์. “คือพ่อพระ คือผู้ให้… อุเทน เตชะไพบูลย์” หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานดินฝังศพนายอุเทน เตชะไพบูลย์ ณ สุสานตระกูลเตชะไพบูลย์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2567