“พระบาท-ธุลี” 2 คำที่ปรากฏ หลังกษัตริย์ไทยทรงรับน้ำพระมูรธาภิเษก

ประกอบ พระบาท-ธุลี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับยังรัตนสิงหาสน์ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท พระราชวังโบราณกรุงเก่า และโปรดให้ข้าราชการและราษฎรมณฑลกรุงเก่าเข้าเฝ้า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ปกติแล้วเรามักได้ยินคำว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” เป็นคำขึ้นต้นเมื่อใช้กับ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ” หรือหากเป็นพระปรมาภิไธยก็จะปรากฏว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” แต่รู้หรือไม่ว่า… หากกษัตริย์ไทยพระองค์ใดยังไม่ทรงรับน้ำพระมูรธาภิเษก จะใช้เพียงแค่คำว่า “ขอเดชะฝ่าละอองพระบาท” รวมถึงคำนำหน้าพระปรมาภิไธยก็จะมีเพียง “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ไม่ปรากฏคำว่า “พระบาท-ธุลี”

คำว่า “พระบาท-ธุลี”

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ใน “จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ปรากฏข้อมูลว่า…

Advertisement

“ตามคติในอดีต สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นครองราชสมบัติยังไม่ใช้คำนำพระปรมาภิธัยว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ จนกระทั่งได้ทรงรับน้ำพระมูรธาภิเษกแล้ว 

แต่คติสมัยใหม่เห็นว่าประเทศจะต้องไม่มีเวลาว่างจากพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ชั้นสูง และเสนาบดี จึงมีมติให้เฉลิมพระราชอิสริยยศว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ไม่มี ‘พระบาท’ (ทรงพระราชดำเนินได้อย่างไร)

และคำกราบบังคมทูลก็ให้ใช้แต่เพียง ‘ขอเดชะฝ่าลอองพระบาท’ ไม่มี ‘ธุลี’ (ชอบด้วยเหตุผลเพราะทรงฉลองพระบาท จึงไม่มี ‘ธุลี’)

ทั้งนี้จนกว่าจะได้ทรงรับน้ำพระมูรธาภิเษกแล้ว จึงให้ถวายคำว่า ‘พระบาท’ และ ‘ธุลี’”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับยังรัตนสิงหาสน์ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท พระราชวังโบราณกรุงเก่า และโปรดให้ข้าราชการและราษฎรมณฑลกรุงเก่าเข้าเฝ้า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” และ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จึงเป็นคำที่ปรากฏเมื่อกษัตริย์ไทยทรงรับน้ำพระมูรธาภิเษกแล้วนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ, 2423-2468. จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2517. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:509. 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษจิกายน 2567