“พระพุทธเจ้าหลวง” มาจากไหน? ทำไมนิยมใช้พระนามนี้สื่อถึงรัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 5 พระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระปิยมหาราช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจาก สังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5)

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” เรามักจะเข้าใจตรงกันว่าหมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นหนึ่งในหลายพระนามสำหรับเรียกขานพระองค์

แต่ทำไมเราจึงเรียกพระองค์ว่า “พระพุทธเจ้า” แล้วต่อท้ายด้วย “หลวง” นามนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสมเด็จพระปิยมหาราชของปวงชนชาวไทยอย่างไร มาจากไหน หรือใช้ยังไงกันแน่?

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบอาหาร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบอาหาร

สมาคมครูแห่งประเทศไทย อธิบายว่า พระพุทธเจ้าหลวง แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ดังพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พสกนิกรใช้เมื่อกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยความเคารพสูงสุด เสมอองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

Advertisement

ส่วนพระราชสมัญญาว่า สมเด็จพระปิยมหาราช แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นที่รักยิ่งของประชาชน (ปิย- แปลว่า ที่รัก) เป็นพระราชสมัญญาที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อแสดงถึงความรักและบูชาสูงสุดต่อพระองค์

กรกิจ ดิษฐาน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตะวันออก เผยว่า ที่จริงแล้ว พระพุทธเจ้าหลวง เป็นคำที่ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตไปในรัชกาลก่อนหน้า ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่เพียงรัชกาลที่ 5 เท่านั้น

ตัวอย่าง แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็เรียกพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาพระองค์ก่อนด้วยคำข้างต้น และหมายถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ดังปรากฏในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติ “พระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง”

คติดังกล่าวไม่ซับซ้อน เป็นการยกให้พระมหากษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดินเสมอพระพุทธเจ้า 

ดังมีคำเรียกพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสี คือ หน่อพุทธางกูร หมายถึง “หน่อ” พระพุทธเจ้า หรือพระโพธิ์สัตว์ ผู้ที่จะกลายเป็นพระพุทธเจ้า (ในอนาคต)

เมื่อพระเจ้าแผ่นดิน (พระพุทธเจ้า) สวรรคต แล้วหน่อพระพุทธเจ้า (พระโพธิสัตว์) สืบราชสมบัติต่อ พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนจึงกลายเป็น “พระพุทธเจ้าหลวง” เพิ่ม หลวง (ใหญ่) เพื่อสื่อว่า ใหญ่กว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน

พระนามพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาหลายพระองค์อย่าง “สมเด็จพระสรรเพชญ์” ก็เป็นหนึ่งในพระนามของพระพุทธเจ้า มาจาก พระสัพพัญญู หมายถึง ผู้รู้ทั่ว, ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือน พุทธ ซึ่งแปลว่า ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว

เราจึงพบการใช้คำว่า นฤพาน (นิพพาน) เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคตด้วย

เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต คนในรัชกาลที่ 3 ก็เรียกพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” ดังสุนทรภู่รำพึงถึงรัชกาลที่ 2 ว่า “ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี”

นอกจากพระเจ้าแผ่นดินแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ หรือวังหน้าบางพระองค์ ก็เคยถูกเรียกด้วยชื่อนี้ เช่น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1

คติพระพุทธเจ้าหลวงยังใช้สืบมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เรียกรัชกาลที่ 5 ว่าพระพุทธเจ้าหลวงเช่นกัน

แต่ช่วงเวลานั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงในคตินิยม มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนว่า “พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” คำว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” จึงหมายถึงรัชกาลที่ 5 เป็นหลักตั้งแต่นั้นมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567