คติ “พระจักรพรรดิราช” ที่แฝงอยู่ในพระนาม “พระราชโอรส” ในรัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระราชโอรส พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 คติพระจักรพรรดิราช ในพระนามพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5
รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระราชโอรส, ภาพสีน้ำมันโดย ResearchGate (ภาพจาก ResearchGate)

คติความเชื่อเรื่อง “พระจักรพรรดิราช” หรือการยกให้พระมหากษัตริย์มีพระบรมเดชานุภาพเสมอเทพเจ้า เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏผ่านสัญญะ รูปแบบต่าง ๆ ทั้งศิลปกรรมและพระราชพิธี เพื่อแสดงพระราชอำนาจ บุญญาบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ ทั้งส่งผลสืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นอกจากคติข้างต้นจะแฝงอยู่ในการบริหารราชกิจต่าง ๆ ยังปรากฏผ่านพระนามพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์ หากนำมาร้อยเรียงและถอดความหมาย จะยิ่งฉายภาพร่องรอยความเชื่อดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น

รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระนามพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอ อันเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ทรงพระอิสริยยศ “เจ้าฟ้าชั้นเอก” หรือทูลกระหม่อม ที่ทรงเจริญพระชนม์ตามลำดับ จำนวนทั้งสิ้น 18 พระองค์

Advertisement
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

พระนามของทุกพระองค์นอกจากจะมีความไพเราะแล้ว ยังเสริมความสิริมงคลและเป็นไปตามมหาทักษาเฉลิมพระนาม ว่าด้วยอักษรดีและอักษรร้าย รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีความคล้องจองกัน โดยเฉพาะพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชโอรสทั้ง 7 พระองค์ ที่ประสูติแต่ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ดังนี้

“มหาวชิราวุธ ตรีเพชรรุตม์ธำรง จักรพงศ์ภูวนาถ ศิริราชกุธภัณฑ์ อัษฎางค์เดชาวุธ จุฑาธุชธราดิลก ประชาธิปกศักดิเดชน์”

ความหมายของพระนามข้างต้น ได้แก่

1. มหาวชิราวุธ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) หมายถึง สายฟ้า อาวุธของพระอินทร์

2. ตรีเพชรรุตน์ธำรง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรัตม์ธำรง) หมายถึง ศาสตราวุธที่มีสามแฉก หรือตรีสูรย์ (ตรีศูล)

3. จักรพงษ์ภูวนาถ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) หมายถึง จักราวุธของพระนารายณ์

4. ศิริราชกกุธภัณฑ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์) หมายถึง พระแสงขรรค์ต่าง ๆ ที่ประกอบอยู่ในเครื่องราชกกุธภัณฑ์

5. อัษฎางค์เดชาวุธ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา) หมายถึง อาวุธที่มีอานุภาพ 8 ประการ หรืออาวุธที่มีอานุภาพไปใน 8 ทิศ

6. จุฑาธุชธราดิลก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย) จุฑา แปลว่า ยอด ส่วนธุช แปลว่า ธง ซึ่งยอดธงนับเป็นอาวุธแหลมใช้ในการรบเช่นกัน

7. ประชาธิปกศักดิเดชน์ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7) หมายถึง ลูกศร หรือลูกธนู

พระราชโอรสและพระธิดาในรัชกาลที่ 5
พระราชโอรสและพระธิดาในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์)

จะเห็นว่าพระนามทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับ “ศาสตราวุธ” ในพระมหากษัตริยาธิราช ผู้เป็นองค์สมมติเทพในคติพระจักรพรรดิราช นัยยะคือ พระราชโอรสเปรียบดังขุนพลแก้วและปราชญ์คู่พระราชหฤทัย คอยรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ

เหมือนราชศาสตราอันดีเลิศทั้งหลาย ย่อมมีคุณหนุนนำและคุ้มครององค์พระจักรพรรดิราช ฉันใดก็ฉันนั้น

ภาพวาดสีน้ำมัน (จากซ้าย) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ภาพวาดสีน้ำมัน (จากซ้าย) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ผลงานของ ResearchGate (ภาพจาก ResearchGate)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กฤตนันท์ ในจิต. อิทธิพลความเชื่อในคติสมเด็จพระจักรพรรดิราชที่ปรากฎในพระนามพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2567