ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปกติแล้วคนไทยคงคุ้นชินกับพระนามเต็มของพระมหากษัตริย์ไทยแต่ละพระองค์ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5), พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า (รัชกาลที่ 6) ทว่าก่อนที่ทุกพระองค์จะเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ แต่ละพระองค์ล้วนมี “สามัญพระนาม” (หรือ “ชื่อเล่น” ของผู้คนทั่วไป) ที่ใช้ระหว่างเจ้านายชั้นสูงด้วยกัน และไม่ใช้เมื่อเสวยราชย์แล้ว… สามัญพระนาม ของพระเจ้าแผ่นดินไทยมีอะไรบ้าง…
สามัญพระนาม ของพระเจ้าแผ่นดินไทย
ไกรฤกษ์ นานา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เผยข้อมูลเกี่ยวกับ “สามัญพระนาม” ของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-7 และ รัชกาลที่ 9 ไว้ในเฟซบุ๊กของตนเอง ชื่อว่า “Krairoek Nana – ไกรฤกษ์ นานา” ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ศิลปวัฒนธรรมขอยกมาสรุปให้ทุกคนอ่าน ดังนี้…
ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เล่าว่า สามัญพระนามในรัชกาลที่ 1 คือ ทองด้วง, รัชกาลที่ 2 คือ ฉิม, รัชกาลที่ 3 คือ ทับ, รัชกาลที่ 5 คือ ใหญ่, รัชกาลที่ 6 คือ โต, รัชกาลที่ 7 คือ เอียดน้อย, (ไกรฤกษ์ไม่ได้ระบุสามัญพระนามของรัชกาลที่ 8 ในบทความ) และสามัญพระนามในรัชกาลที่ 9 คือ เล็ก
ทั้งยังเล่าต่อไปว่า ที่น่าสนใจคือ “รัชกาลที่ 4” ซึ่งสามัญพระนามของพระองค์ไม่เป็นที่ปรากฏ และแทบไม่มีใครทราบหรือได้ยินมาก่อน แต่ไกรฤกษ์ไปพบข้อมูลที่ระบุไว้ในหนังสือ “ความทรงจำ” โดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งพระองค์ทรงอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า…
“รัชกาลที่ 4 ทรงเป็น สมเด็จพระราชโอรสองค์ใหญ่ ของรัชกาลที่ 2 คนทั้งหลายเรียกกันว่า ‘ทูลกระหม่อมฟ้าพระองค์ใหญ่’ แต่มักจะเรียกกันโดยสะดวกปากว่า ‘ทูลกระหม่อมใหญ่’ มิฉะนั้นก็เรียกว่า เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่หรือเจ้าฟ้า ‘ใหญ่’”
เจ้านายชั้นสูงทรงเรียกขานสามัญพระนามดังกล่าวนี้ กระทั่งพระองค์เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
แม้ไกรฤกษ์จะไม่ได้กล่าวถึงสามัญพระนามในรัชกาลที่ 8 ในบทความนี้ แต่เมื่อลองไปสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชมารดาของในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงเรียกขานพระนามพระองค์ว่า “นันท”
อ่านเพิ่มเติม :
- “นามสกุล” สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ละนามสกุลเป็นมาอย่างไร บ่งบอกถึงอาชีพ?
- “ประภาพรรณพิไลย-ประไพพรรณพิลาส” พระราชธิดา “ฝาแฝด” คู่เดียวในรัชกาลที่ 5
- พระยาอนิรุทธเทวา มหาดเล็ก “คนโปรด” ในรัชกาลที่ 6 ที่ “งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์”
- คติ “พระจักรพรรดิราช” ที่แฝงอยู่ในพระนาม “พระราชโอรส” ในรัชกาลที่ 5
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.matichonweekly.com/column/article_617790
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2567