ทำไมเรียกว่า “ข้าวแต๋น” แล้ว “น้ำแตงโม” เกี่ยวอะไรด้วย

ข้าวแต๋น
ภาพ : ข้าวแต๋น จาก เส้นทางเศรษฐี

“ข้าวแต๋น” เป็นขนมกินเล่น มีจุดเริ่มต้นมาจากภาคเหนือ ก่อนจะแพร่กระจายไปภูมิภาคอื่นและเรียกต่างกันไป ในภาคอื่น ๆ เรียกว่า “นางเล็ด” หรือ “ขนมกงเกวียน” ส่วนภาคใต้มีที่คล้ายกัน แต่ทางนู้นเขาตัดเป็นแผ่น เรียกว่า “ข้าวพอง”

ข้าวแต๋น (ภาพจาก : เส้นทางเศรษฐี)

ทำไมเรียกว่า “ข้าวแต๋น”

ที่จริงแล้วขนมนี้แต่เดิมชื่อว่า “ขนมรังแตน” ด้วยหน้าตาที่เหมือนรังแตน ก่อนจะกลายมาเป็น “เข้าแตน” พูดตามสำเนียงภาคเหนือก็ได้ว่า “เข้าแต๋น”

Advertisement

ขนมกินเล่นชนิดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการถนอมอาหารแบบดั้งเดิม โดยนำข้าวเหนียวที่เหลือมาปั้นเป็นก้อน กดให้แบน จากนั้นตากแดดไว้ เอามาทอดกรอบให้พอง จากนั้นราดน้ำตาลปี๊ปเคี่ยวหรือโรยน้ำตาลทีหลัง นำมารับประทานอย่างเอร็ดอร่อย

เมนูนี้นิยมมาก ถึงขั้นกลายเป็นเสบียงของทหารยามรบ เพราะทำได้ง่าย หาวัตถุดิบไม่ยาก

ต่อมาก็มีเมนูที่ชื่อว่า “ข้าวแต๋นน้ำแตงโม” คนคงสงสัยกันมากว่าขนมรสหวานไปเกี่ยวกับน้ำแตงโมได้อย่างไร เพราะแต่เดิมคนไทยก็กินเมนูนี้แบบง่าย ๆ เน้นใช้ ข้าว น้ำตาล กะทิ 

ที่จริงไม่จำเป็นต้องใช้แตงโม จะเป็นผลไม้อื่นก็ได้ เช่น สับปะรดหรือส้ม เอามาทำเป็นน้ำ แต่รสชาติก็จะติดเปรี้ยวและสีสันก็จะต่างไป

แต่เหตุที่ทำให้กลายเป็นน้ำแตงโม คือ แตงโมราคาถูกกว่าผลไม้อื่น ๆ 

แตงโมและน้ำแตงโม (ภาพ : pixabay)

วิธีการคือนำน้ำแตงโมคั้นมาผสมกับข้าวก่อนกดให้แบนและทอด ก็จะทำให้สีสวยขึ้น เพิ่มรสชาติหวานจากแตงโม เท่านั้นเอง

กลับมาที่คำเรียกขนมนี้ในภาคต่าง ๆ เช่น “นางเล็ด” คำนี้ยังไม่มีที่มาชัดเจนนัก บางคนบอกว่า เป็นเพราะตอนหยอดน้ำตาลต้องให้น้ำตาลเล็ดไหลออกมาหยดบนข้าวเหนียวทอด บางคนบอกว่ามาจากคำแปลว่า… นางสาวหรือสาวที่ทำขนม แล้วนำน้ำตาลเคี่ยวไหลเล็ดลอดบนขนม 

มีคนเคยอธิบายไว้อีกว่า… ที่จริงแล้วนางเล็ดไม่เหมือนกับข้าวแต๋นจากทางเหนือเสียทีเดียว เพราะขนมนางเล็ดจะต้องเป็นข้าวพองราดด้วยน้ำตาลเคี่ยว แต่ข้าวแต๋นหวานในตัว ไม่ราดน้ำตาล

ทว่าปัจจุบันจะเห็นว่าข้าวแต๋นก็มีราดน้ำตาลแล้วเช่นกัน…

แม้แต่ละพื้นที่จะเรียกขนมนี้ต่างกันไปและมีกรรมวิธีที่อาจไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมอย่างปฏิเสธไม่ได้คือความอร่อยที่ถูกปากคนไทยมาช้านาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ยศพิชา คชาชีวะ. ตู้จดหมายพลศรี ข้าวแต๋นน้ำแตงโม ใน เส้นทางเศรษฐี http://lib3.dss.go.th/fulltext/techno_file/CF86/CF86(A6).pdf.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2567