ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ขนมเบื้อง เป็นขนมที่หลายคนชื่นชอบ มีจุดเด่นอยู่ที่แป้งบางกรอบ มาพร้อมไส้หวานหรือไส้เค็ม หอมอร่อยจนหยิบกินชิ้นเดียวไม่เคยพอ ยุคนี้เราอาจเทน้ำหนักไปที่ความอร่อย แต่ถ้าย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน การทำขนมเบื้อง โดยเฉพาะการละเลงขนมเบื้อง ถือเป็นตัววัดคุณสมบัติของผู้หญิงเลยทีเดียว
“ละเลงขนมเบื้อง” คุณสมบัติหญิงไทยสมัยรัชกาลที่ 4
การละเลงแป้งขนมเบื้องจะว่าไปแล้วก็ถือเป็นเรื่องยาก ผู้ทำต้องมีฝีมือ ซึ่งในอดีตมักได้รับการอบรมมาจากในวัง เพราะถ้าไม่มีความรู้หรือฝึกฝนมาดีแล้ว ก็อาจละเลงบางไปหรือหนาไป ทำให้ไม่อร่อย การละเลงแป้งขนมเบื้องในสมัยโบราณ จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ความชำนาญในการทำอาหารได้ทางหนึ่ง
การทำขนมเบื้องปรากฏในวรรณคดี “ขุนช้างขุนแผน” กล่าวถึงการประชันการละเลงแป้งขนมเบื้องระหว่างนางสร้อยฟ้ากับนางศรีมาลา ตอนที่พระไวยกำลังเล่นหมากรุกกับพลายชุมพล
พลายชุมพลแกล้งว่ากับพระไวยว่า หากตนแพ้จะให้พระไวยถอนขนตา แล้วถามพระไวยว่า หากพระไวยแพ้จะให้สิ่งใดกับตน พระไวยจึงว่าจะให้รับประทานขนมเบื้อง แล้วจึงสั่งภรรยาทั้งสอง คือ สร้อยฟ้าและศรีมาลา ให้ทำขนมเบื้อง
เมื่อทั้งสองนางได้รับคำสั่งจากพระไวยจึงตั้งใจทำ แต่นางสร้อยฟ้าเป็นหญิงเมืองเหนือ ไม่ถนัดการทำขนมเบื้องซึ่งเป็นขนมภาคกลาง ศึกดวลขนมเบื้องครั้งนี้นางศรีมาลาเป็นฝ่ายชนะ เพราะสามารถละเลงแป้งได้แผ่นบางกำลังดี
นายสร้อยฟ้าที่ละเลงแป้งเป็นแผ่นหนา จึงถูกนางศรีมาลาและนางทองประศรีซึ่งเป็นแม่ผัวเยาะหยันจนอับอาย เพราะค่านิยมของสังคมไทยในอดีต การละเลงแป้งขนมเบื้องให้เป็นแผ่นบางๆ นับเป็นคุณสมบัติที่ได้รับความนิยมชมเชย
กระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังถือกันว่า “หญิงใดละเลงขนมเบื้องได้ จีบขนมจีบได้ ปอกมะปรางริ้วได้ จีบใบพลูได้ยาว คนนั้นมีค่าถึง 10 ชั่ง” หมายความว่า หญิงนั้นมีคุณสมบัติดีพร้อมนั่นเอง
การพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง
ขนมเบื้องยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในวังอีกด้วย เห็นได้จาก “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า
“…กำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้ว่าเมื่อพระอาทิตย์ออกสุดทางใต้ตกนิจเป็นวันที่หยุด จะกลับขึ้นเหนือ อยู่ในองศา 8 องศา 9 ในราศีธนู เป็นถึงกำหนดเลี้ยงขนมเบื้อง ไม่กำหนดแน่ว่าเป็นกี่ค่ำวันใด การเลี้ยงขนมเบื้องนี้ไม่ได้มีสวดมนต์ก่อนอย่างเช่นพระราชพิธีอันใด กำหนดพระสงฆ์ตั้งแต่เจ้าพระ พระราชาคณะ 80 รูป ฉันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
ขนมเบื้องนั้นเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาเก่า เถ้าแก่ พนักงานดาดปะรำตั้งเตาละเลงข้างท้องพระโรง การซึ่งกำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้นับเป็นอย่างตรุษคราวหนึ่ง และเฉพาะต้องที่กุ้งมีมันมาก จึงเป็นเวลาที่เลี้ยงขนมเบื้อง แต่การเลี้ยงขนมเบื้องในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ไม่ได้เสด็จออกมาหลายปีแล้ว ค่อนอยู่ข้างจะเป็นการมืดๆ ฯ”
จากข้อความที่ว่า “ขนมเบื้องนั้นเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาเก่า เถ้าแก่ พนักงานดาดปะรำตั้งเตาละเลงข้างท้องพระโรง” ทำให้จินตนาการได้ถึงภาพการแข่งขันทำขนมเบื้องกันอย่างสุดฝีมือ ระหว่างเจ้านายฝ่ายในและนางในต่างๆ เพื่อให้เป็นที่พอพระทัย
การพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง โปรดให้มีขึ้นในเดือนอ้าย สันนิษฐานว่าช่วงเวลาดังกล่าวคือฤดูหนาว อากาศเย็น การทำขนมเบื้องจะช่วยให้ได้ไอร้อนจากเตา ช่วยคลายหนาวไปได้ นอกจากนี้ ฤดูหนาวยังเป็นช่วงน้ำลด มีกุ้งชุกชุม และกุ้งยังมีมันมาก เหมาะแก่การทำขนมเบื้องไส้กุ้งอีกด้วย
“ขนมเบื้อง” ในอดีต จึงไม่ใช่แค่ขนมกินเพื่อความอร่อย แต่ยังเป็นปัจจัยบ่งคุณสมบัติของสตรี อย่างที่คนยุคนี้อาจนึกไม่ถึง
อ่านเพิ่มเติม :
- “จันอับ” ขนมตั้งแต่ยุคอยุธยา ฮิตจนยุครัตนโกสินทร์ถึงขั้นเก็บภาษี
- “สูตรขนมไทย” ท้าวทองกีบม้าไม่ได้กำเนิดในสยาม?
- ปริศนา “ปลากริมไข่เต่า” ขนมชาววัง ที่คนในวังไม่เคยกิน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. “ขนมเบื้องกับเรื่องของแดจังกึม”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2549.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2567