“ศรีธนญชัย” ไม่มีตัวตนจริง แล้วเรื่องราวของศรีธนญชัยมาจากไหน?

จิตรกรรม ศรีธนญชัย วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
จิตรกรรมเรื่องศรีธนญชัยที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร (ภาพจาก เว็บไซต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)

“ศรีธนญชัย” ไม่มีตัวตนจริง เป็นแต่เพียงเรื่องเล่าของผู้มีปฏิภาณไหวพริบและความเฉลียวฉลาดอย่างมีอารมณ์ขันเชิงเสียดสี เยาะเย้ย ถากถางสังคมและชนชั้นนำ

ศรีธนญชัยเป็นคำบอกเล่าปากต่อปาก สมัยแรก ๆ ยังไม่มีบันทึกลายลักษณ์อักษร ไม่รู้ว่าเริ่มจากไหนและแพร่หลายได้อย่างไรบ้าง ต่อมาจึงมีผู้แต่งเป็นร้อยกรอง เป็นกาพย์กลอนแบบต่าง ๆ ตามความนิยมของท้องถิ่น สำหรับขับลำเป็นนิทาน หรืออ่านเป็นทำนองเสนาะ

เมื่อถึงยุคที่มีการตีพิมพ์และมีคนอ่านออกเขียนได้มากขึ้น จึงมีผู้เรียบเรียงศรีธนญชัยออกมาเป็นร้อยแก้วในหลายสำนวน ในภาคกลางและภาคใต้เรียกชื่อตัวเอกว่า ศรีธนญชัย ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานเรียก เชียงเมี่ยง

จิตรกรรม ศรีธนญชัย วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
จิตรกรรมเรื่องศรีธนญชัยที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ตอนลงไปงมไข่แล้วไล่ปล้ำนางสนม (?) (ภาพจาก เว็บไซต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)

ข้อสังเกตคือ ทั้งอุษาคเนย์มีนิทานแบบศรีธนญชัยร่วมกัน ในกัมพูชากับเวียดนามจะคล้ายศรีธนญชัยสำนวนภาคกลางของไทยมาก เชียงเมี่ยงของลาวก็แทบจะเป็นเรื่องเดียวกับเชียงเมี่ยงของภาคอีสาน หรือ “อาบูนาวัส” ของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีอยู่หนึ่งตอนที่เรื่องราวตรงกับของไทยเป๊ะ ที่ต่างเห็นจะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยจากความต่างด้านสภาพสังคม วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติ

ที่สำคัญคือ แม้ทุกชาติจะมีจำนวนตอนและความซับซ้อนของเนื้อเรื่องน้อยกว่าบ้านเรา แต่โครงเรื่องตลอดจนแนวคิด อุปนิสัยของตัวเอกนั้นคล้ายกันมาก จนยากจะปฏิเสธว่ามิได้มีแหล่งที่มาเดียวกัน

แต่ใครกันล่ะ “ต้นฉบับ” ของตัวละครเอกนี้? 

สุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าไว้ในหนังสือ อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย (สนพ. นาตาแฮก : 2566) ความว่า ศรีธนญชัยไม่ใช่วรรณกรรมพื้นเมืองของไทยและภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วยซ้ำ แต่มีกำเนิดอยู่ในโลกมุสลิม มีผู้รู้ด้านวรรณกรรมไทยและนานาชาติวิเคราะห์ไว้ว่า ศรีธนญชัยได้เค้าโครงเรื่องจาก “นัสรูดิน”

นัสรูดิน เป็นชื่อของตัวละครเอกในนิทานของโลกอาหรับ มีสมญาคนเจ้าปัญญา บ้างว่านัสรูดินเจ้าสำราญ เรื่องเล่านัสรูดินมีความเก่าแก่ถึง 800 ปี หรือเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนจะแพร่หลายกว้างขวางไปทั่วโลกผ่านการค้าและการติดต่อสัมพันธ์ทางการเมือง กระทั่งช่วง พ.ศ. 2000 หรือราว 500 ปีก่อน เรื่องราวของนัสรูดินจึงเป็นที่รู้จักในกรุงศรีอยุธยา

นิทาน นัสรูดิน
หนังสือนิทานนัสรูดิน หรือ Molla Nasreddin (ภาพจาก Wikimedia Commons)

นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่ศรีธนญชัย เชียงเมี่ยง หรืออาบูนาวัสเท่านั้นที่เป็นอีกตัวตนของนัสรูดิน เพราะตัวละครตัวนี้ยังถูกดัดแปลงเป็นนิทานในอีกหลายประเทศด้วยชื่อต่าง ๆ เช่น พรีพล (อินเดีย) โกฉา (เปอร์เซีย) และอาฟานดี (จีน)

พูดถึงความนิยม นอกจากความเฉลียวฉลาดของศรีธนญชัย (ทุกเวอร์ชัน) ที่น่าสนใจและถูกจริตชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปแล้ว สิ่งที่ทำให้คนจดจำและชื่นชอบนิทานเรื่องนี้น่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชาภายในเรื่องที่มักเป็นตัวตลก ต้อง “เสียหน้า” เพราะเล่ห์เหลี่ยมของศรีธนญชัยอยู่เสมอ

อย่างในสังคมไทย ศรีธนญชัยเป็นนิทานพื้นบ้านเพียงไม่กี่เรื่องที่ผ่อนคลายความ “ตึงเครียด” จากสังคมที่เคร่งครัดกับระบบชนชั้นหรือขนบธรรมเนียมประเพณีที่ประชาชนพึงปฏิบัติต่อพระราชา ซึ่งเป็นดุจเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ แต่เมื่อได้ฟังวีรกรรมของศรีธนญชัย ความเคร่งเครียดดังกล่าวก็ทุเลาลง

เพราะพระราชาในนิทานพื้นบ้านอย่างศรีธนญชัย กลายเป็นจำอวดทำตัวตลก เป็นตัวละครอ่อนแอ ขี้ขลาด และโลเล

แถมยัง “กลัวเมีย” อีกต่างหาก (ฮา)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2567