ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2527 |
---|---|
ผู้เขียน | ชาญวิทย์ เกษตรศิริ |
เผยแพร่ |
“อิกคิวซัง” เณรน้อยเจ้าปัญญา-นักบวชนิกายเซ็น ผู้มีชื่อเสียงด้าน สุรา-นารี แต่ใฝ่ธรรมะแรงกล้า
ภายหลัง วันมหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519 หลาย ๆ คนที่เข้าร่วมกับขบวนการของ วันมหาปิติ 14 ตุลาคม 2516 ต้องตกอยู่ในความว้าวุ่น และถามตนเองว่า จะไปทางไหน บางคนออกจากนาครหายเข้าวนาไป บางคนกบดานอยู่เฉย ๆ บางคนโชคดีได้ออกจากสยามประเทศในยุคหอยครองเมือง ผมเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างโชคดีที่อยู่ในประเภทหลังนี้
ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีของ พ.ศ. 2520 ผมได้รับความอนุเคราะห์จาก ศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต ให้ไปนั่งทำวิจัยที่นั่น ทุนวิจัยครั้งนี้ว่าไปก็เกือบจะเหมือนทุนช่วยให้ออกไปลี้ภัยทางการเมืองชั่วคราว ที่นั่นทำให้ผมสนิทสนมกับ ศาสตราจารย์โยนิโอะ อิชิอิ ปรมาจารย์ทางประวัติศาสตร์ไทยที่สามารถพูด อ่าน เขียน และวิเคราะห์ อะไร ๆ ที่เกี่ยวกับไทยอย่างหาตัวจับได้ยาก
อิชิอิจัดให้ผมไปอยู่บ้านญี่ปุ่นโบราณหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้อยู่ใกล้กับวัดคิงคากุจิ หรือวัดศาลาทอง ซึ่งงดงามมาก และวัดนี้ก็เป็นฉากของนวนิยายเรื่องหนึ่งของมิชิมา มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า คิงคากุจิ ตามชื่อวัด ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ Temple of the Golden Pavilion
ผมชอบเดินไปดูศาลาทองหลังนั้นบ่อย ๆ บางครั้งก็ไปไหว้พระและทำบุญด้วยการจุดธูปและเทียน แล้วก็โยนเหรียญเงินเยนทำบุญ ตบมือสามแปะตามแบบญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อให้ใจสบายและสงบสติอารมณ์จากความทารุณโหดร้ายของ 6 ตุลาคม
อยู่ไปอยู่ไป ผมก็เริ่มค้นพบสิ่งสวยงามมหัศจรรย์ของเมืองเกียวโต เกียวโตเป็นเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น งดงามสะอาด ผังเมืองเป็นระเบียบมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว นอกจากความงามของพระราชวัง วัดวาอาราม ดอกไม้ (โดยเฉพาะซากุระในต้นฤดูใบไม้ผลิ) แล้ว เกียวโตยังมีเสน่ห์อย่างมหาศาล เพราะไม่มีสนามบิน ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ผู้คนไม่เร่งรีบวุ่นวายเหมือนเมืองอื่น ๆ ของญี่ปุ่น เกียวโตเป็นเมืองที่ยกเว้นเป็นกรณีพิเศษเสียจริง ๆ
ผมพบว่าไม่ไกลจากบ้านพักของผมเท่าไร มีวัดสวยเก่าแก่อยู่วัดหนึ่ง คือ วัดไดโตกุจิ เมื่อค้นพบแล้วผมก็ไปนั่งไปเดินเล่น และชมสวนนิกายเซ็นอยู่หลายครั้ง และก็หารู้ไม่ว่าวัดนี้แหละเป็นวัดที่อิกคิวซังเคยเป็นเจ้าอาวาสมาก่อน พอรู้ขึ้นทีหลังก็เลยเกิดความสนใจที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไป
ในระยะหลัง ๆ ผมติดตามดูหนังทีวีเรื่องอิกคิวซังอยู่เป็นครั้งเป็นคราว และก็รู้สึกประทับใจในเณรน้อยเจ้าปัญญาองค์นี้ไม่น้อย เหมือน ๆ กับบรรดาแฟนของอิกคิวซังทั้งหลายในประเทศสยามนั่นแหละ ผมก็เลยซื้อหนังสือการ์ตูนอิกคิวซังมาอ่าน และก็ค้นคว้าหาประวัติของอิกคิวซังมาเล่าสู่กันฟัง เพราะอิกคิวซังเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
เมื่อผมเริ่มค้นหาประวัติของอิกคิวซัง โดยการถามไถ่จากคนญี่ปุ่นนั้น ปรากฏว่าเป็นที่น่าแปลกใจมาก คือเกือบทุกคนที่ถามรู้จักอิกคิวซังมากทีเดียว แม่บ้านของผมกระซิบกระซาบว่า อิกคิวซังเป็นโอรสลับของจักรพรรดิ พลางก็ชี้มือไปทางทิศตะวันออกของบ้านพัก ว่า แม่ของอิกคิวซังมาจากแถบเขาอารัสชิยามาทางโน้นไง อาจารย์ทางด้านมนุษยศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมคนหนึ่งบอกว่า อิกคิวซังเป็นพระมหายาน แต่มีวิญญาณเป็นหินยานอยู่ไม่น้อย
ประวัติของอิกคิวซังพอประมวลได้ดังนี้ครับ อิกคิวซังเกิดเมื่อ พ.ศ. 1937 มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2024 คิดเทียบง่าย ๆ ก็คือ ตรงกับสมัยต้นของอยุธยา หรือพูดให้ชัดเจนเลยก็คือว่า เกิดในสมัยที่พระราเมศวรครองราชย์เป็นครั้งที่สอง เกิดก่อนพระราเมศวรสวรรคตเพียงหนึ่งปี และก็มรณภาพในปลายรัชสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ
หลังจากอิกคิวซังมรณภาพได้ 1 ปี ในปี พ.ศ. 2025 พระบรมไตรโลกนาถทรงบูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่พิษณุโลก แล้วก็มีพิธีฉลองวัดนั้นเป็นการใหญ่
อิกคิวซังเป็นโอรสของจักรพรรดิโกโคมะทสึ พออายุได้ 6 ขวบ ก็ถูกมรสุมการเมืองของราชสำนักบีบบังคับให้ไปบวชเณร และก็อยู่ในศาสนจักรเรื่อยมา อิกคิวซังเป็นพระในนิกายเซ็นที่เคร่งครัดพระวินัยมาก และก็ได้อาจารย์ดี ๆ อบรมสั่งสอน บางคนว่าท่านบรรลุโสดาบันเมื่ออายุ 27 ปี และวิธีการที่ท่านบรรลุก็เป็นไปตามแบบของนิกายเซ็น
คือวันหนึ่งท่านนั่งวิปัสนาอยู่ที่ริมทะเลสาบบิว่ะ นอกกรุงเกียวโต ท่านได้ยินเสียงอีการ้องก็เลยบรรลุโสดาบัน วิธีการบรรลุของเซ็นมีแปลก ๆ อย่างนี้ บางคนถูกอาจารย์เอาไม้ตะพดเคาะหัว ก็สามารถบรรลุได้เหมือนกัน
เขาว่ากันว่า ถึงแม้อิกคิวซังจะเป็นพระที่อยู่ในพระวินัยอันเคร่งครัดของนิกายเซ็นก็ตาม แต่อิกคิวซังก็เป็นพระที่แปลกกว่าพระอื่น ๆ ท่านชอบจาริกแสวงบุญไปตามที่ต่าง ๆ มากมาย และวัดที่ท่านเคยอยู่ก็มีมากมายหลายวัดเหลือเกิน ไม่เพียงแต่วัดไดโตกุจิที่ท่านได้เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งผมเอ่ยถึงมาแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีคนเล่าขานกันต่อมาอีกว่า ท่านอิกคิวซังนั้นมีบุตรกับนางคณิกา ซึ่งอาจจะมีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย เพราะท่านมีชื่อเสียงว่าชื่นชมในสุราและนารี
ทำไมอิกคิวซังถึงมีชื่อเสียงร่ำลือเป็นที่จดจำกันมาตั้ง 500 ปีแล้ว จุดเด่นของอิกคิวซังอยู่ที่ว่า ท่านมีพฤติกรรมที่เป็นปรปักษ์ต่อผู้มีอำนาจ ท่านมีวิญญาณขบถ ทั้งยังมีพรสวรรค์ ในการประชดประชันเสียดสีผู้อื่นที่ชอบใช้อำนาจบาทใหญ่อีกด้วย ดังนั้น อิกคิวซังจึงเป็นวีรบุรุษของชาวบ้าน เรื่องราวของท่านกลายเป็นตำนานที่เล่าสู่กันฟังไม่รู้จบ จนกลายมาเป็นหนังโทรทัศน์มาให้เราดูกันสมัยนี้
จุดเด่นอีกอันหนึ่งของอิกคิวซัง นอกเหนือจากการต่อต้านผู้มีอำนาจอย่างเช่นโชกุน ที่เราเห็นในหนังโทรทัศน์แล้ว อิกคิวซังยังมีอิทธิพลต่อความคิดและวัฒนธรรมญี่ปุ่นไม่น้อย ดังตัวอย่างเช่น เมื่อท่านศึกษาธรรมะจนแตกฉาน ท่านก็ออกสั่งสอนเทศนาผู้คนแถบเมืองเกียวโตและเมืองซาไก ท่านมีความคิดเห็นที่ว่า การบำเพ็ญตนตามนิกายเซ็นนั้น ไม่จำต้องออกบวชและละเว้นโลกีย์ ดังเช่นที่ถือปฏิบัติกันสมัยนั้น ธรรมะควรเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน และก็ไม่จำกัดเพศและวัยอีกด้วย
นี่แหละที่อาจจะเป็นวิญญาณเสรีของอิกคิวซัง แม้กระทั่งลายมือเขียนของท่านเอง (โปรดดูรูปประกอบ) ก็เป็นลายมือที่หวัดอย่างมีอิสระมากกว่าการที่จะจำกัดอยู่ในกรอบของการคัดตัวบรรจง
หลายคนมีความเห็นว่า อิกคิวซังน่าจะคล้าย ๆ กับศรีธนนชัยของไทย อันนี้เป็นปัญหาน่าคิด ว่าจะคล้ายกันเฉพาะในความเป็นหัวหมอ บุคคลเจ้าปัญญา แต่บทบาทของศรีธนญชัย จะตีความว่าต่อต้านอำนาจ วิญญาณเสรี ตลอดจนบทบาททางด้านมนุษยธรรมอย่างอิกคิวซังนั้นจะเป็นไปได้ หรือไม่ผมขอทิ้งไว้ให้คิดกันต่อไปก็แล้วกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จัก “เสภา” แนว “อิคคิวซัง แบบไทยๆ” จากสมุดข่อยโบราณที่เมืองตราด
- ข้อสงสัยในบทบาทของ “ออกญาเสนาภิมุข” ขุนนางราชสำนักอยุธยาเชื้อสายญี่ปุ่น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “อิกคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา” เขียนโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2527 (จัดย่อหน้า เว้นเวรรค และสั่งเน้นคำใหม่ โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566