รู้จัก “เสภา” แนว “อิคคิวซัง แบบไทยๆ” จากสมุดข่อยโบราณที่เมืองตราด

ภาพ ชาวบ้าน จิตรกรรม วัดเขียน
ภาพประกอบเนื้อหา ภาพชาวบ้านสามัญชนขณะเดินทางค้าขายหรือค้าเร่ มีโจรผู้ร้ายฉุดคร่าชิงทรัพย์และข่มขืนด้วย, จิตรกรรม วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง (จากหนังสือ มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex)

เสภา เป็นคำเก่าที่มีหลักฐานยืนยันว่าคนไทยรู้จักคำๆ นี้มาไม่น้อยกว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยวรรณคดีเสภาที่เก่าแก่และเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดได้แก่เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มแต่งขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อราวปี พ.ศ. 2135 ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

โดยสันนิษฐานจากความในตอนต้นเรื่องที่บ่งเหตุการณ์เรื่องการสร้างพระเจดีย์ที่วัดเจ้าพญาไทยและการบรรจุแก้วที่พระเจ้ากรุงจีนถวายมาให้พระเจ้าแผ่นดินไทยไว้ที่ยอดเจดีย์ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2135[1]

ที่มาของคำ “เสภา” : ปริศนาที่ยังรอคำตอบ

มีนักวิชาการหลายท่านศึกษาความเป็นมาของ เสภา ไว้อย่างน่าสนใจ รวมถึงการศึกษาที่มาของคำว่า เสภา ด้วย ซึ่งเราสามารถแบ่งความเห็นออกเป็น 5 ความเห็น[2] ความเห็นแรก คือ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีความเห็นว่า คำ เสภา น่าจะมาจากคำในเนื้อความตอนต้นของการขับเสภา ที่อาจมีปรากฏในคำไหว้ครูที่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว

ความเห็นต่อมานำโดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และนักปราชญ์อีกหลายท่าน มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า เสวา เสวากากุ เสรไว หรือ หริเศรไว ซึ่งหมายถึงการบูชาด้วยการขับลำนำ

อีกความเห็นหนึ่ง คือ ความเห็นของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มีความเห็นว่า เสภาน่าจะมาจากลำนำที่คนในคุกแต่ง โดยสันนิษฐานว่า คำว่า คุก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า เสภา อย่างไรก็ตามความเห็นนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ แย้งว่า คำ เสภา ไม่ได้หมายถึงคุก เพราะในกฎหมายเดิม เช่น ในพระราชกำหนดเก่า ในกฎหมายตราสามดวงก็มีคำว่า คุก ใช้อยู่แล้ว คำว่า เสภา จึงน่าจะหมายถึงชาวพนักงานมากกว่า คือ เสภาคลังใน หมายถึง เจ้าพนักงานคลังใน เป็นต้น แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการละเล่นอย่างใดอย่างหนึ่ง

ไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ และเสาวลักษณ์ อนันตศานต์ ให้ความเห็นต่างไปจากความเห็นทั้งหมดข้างต้น โดยสันนิษฐานว่า เสภา น่าจะมาจากคำว่า เสพงัน ซึ่งเป็นคำภาษาถิ่นที่ใช้กันในภาคเหนือและภาคอีสาน หมายถึงการร้องรำทำเพลง ดนตรี หรือการร้องลำเป็นนิทานปากเปล่าให้คนฟัง ต่อว่าก่อนเป็น เสพ แล้วยืดเสียงเป็น เสพา และเขียนเป็น เสภา ในที่สุด

ความเห็นสุดท้าย คือ ความเห็นของ ไพศาล วงษ์ศิริ ที่สันนิษฐานต่อจากความเห็นของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า เสภา ซึ่งน่าจะเป็นที่คุมขังนักโทษนั้นเพี้ยนมาจากคำว่า สภา ซึ่งหมายถึงเรือน มณเฑียร หรือโรง ซึ่งเป็นที่ชุมนุม หรือประชุมรวมกันสำหรับประกอบกิจต่างๆ และต่อมาเสียงเพี้ยนไปเป็น เสภา ในที่สุด

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่ามีผู้ให้ความเห็นไว้มากมาย แต่ประเด็นเรื่องที่มาของ เสภา ก็ยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากหลักฐานเท่าที่พบในปัจจุบันยังยืนยันได้ไม่เพียงพอ

สมุดข่อยเจ้าปัญหา เวทีประลองปัญญาของชาวบ้าน

เสภา ในความรับรู้ของคนไทยทั่วไป คือชื่อกลอนชนิดหนึ่งที่ใช้ขับลำเป็นเรื่องยาวด้วยจังหวะและใช้เครื่องดนตรีคือกรับ แต่สำหรับ เสภา ที่ผู้เขียนจะพูดถึงต่อไปนี้ต่างไปจากความรับรู้ข้างต้น เพราะ เสภา กลายเป็นชื่อเรียกของตัวละคร 2 ฝ่ายที่ประลองปัญญาปุจฉา-วิสัชนาความรู้รอบตัว ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในสมุดข่อยโบราณที่เมืองตราด

สมุดข่อยโบราณฉบับนี้ไม่ปรากฏชื่อเรื่องและชื่อผู้ประพันธ์ หรือรายละเอียดอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ในเนื้อเรื่องมีการดำเนินเรื่องด้วยวิธีการถาม-ตอบ หรือปุจฉา-วิสัชนาเป็นหลัก โดยฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ตั้งกระทู้คำถาม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะตอบ เพื่อแสดงภูมิรู้ของตนทั้งในด้านประวัติศาสตร์ โลกศาสตร์ ไสยศาสตร์ เป็นต้น ที่สำคัญมีการเรียกชื่อผู้ถามและผู้ตอบว่า เสภา

ผู้เขียนพบสมุดข่อยโบราณฉบับนี้เมื่อต้นปี พ.ศ. 2545 ต้นฉบับเรื่องนี้เป็นสมุดไทย บันทึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย เจ้าของคือคุณตาพวงค์ วิจิตรสมบัติ ชาวบ้านตำบลเนินทราย อำเภอเมือง จังหวัดตราด

คุณตาพวงค์เล่าว่า วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นบทสำหรับใช้ในการคั่นเวลาการแสดงโดยเฉพาะการแสดงลิเก เพราะนอกจากจะช่วยให้ผู้แสดงได้มีเวลาสำหรับเตรียมตัวแสดงแล้ว ยังเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ชมด้วยอีกประการหนึ่ง จากคำกล่าวของคุณตาพวงค์ วรรณกรรมเรื่องนี้จึงมีสถานะเป็นวรรณกรรมประกอบการแสดงด้วย

ลักษณะคำประพันธ์ของวรรณกรรมเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ใช้ลักษณะคำประพันธ์คล้ายกับกลอน แต่เป็นกลอนแบบชาวบ้าน คือมีความยืดหยุ่นมาก ทั้งในเรื่องของจำนวนคำในวรรค จำนวนวรรคใน 1 บท ที่บางครั้งก็มี 3 วรรคบ้าง 4 วรรคบ้าง 5 วรรคบ้าง เป็นต้น รวมไปถึงสัมผัสที่บางครั้งก็สัมผัสบ้างไม่สัมผัสบ้าง

ด้วยเหตุนี้เองจึงชวนให้ผู้เขียนคิดว่าวรรณกรรมเรื่องนี้อาจเป็นการบันทึกการแสดงสดครั้งใดครั้งหนึ่ง แล้วคณะเสภานี้จึงนำมาบันทึกท่องจำสำหรับแสดงกัน เป็นลักษณะของมุขปาฐะสู่ลายลักษณ์ เพราะด้วยความที่สัมผัส จำนวนคำ จำนวนวรรคไม่สม่ำเสมอนั้นอาจเป็นเพราะต้องอาศัยปฏิภาณไหวพริบทั้งในเชิงภูมิปัญญาและเชิงวรรณศิลป์ในเวลาอันรวดเร็วจึงทำให้มีความตกหล่นบางประการขึ้น ซึ่งศัพท์เพลงพื้นบ้านในจังหวัดตราดเรียกลักษณะของกลอนเพลงที่มีสัมผัส จำนวนคำ จำนวนวรรคไม่สม่ำเสมอไม่ลงตัวนี้ว่า ลำบากกลอน

เสภา อิคคิวซังในแบบฉบับไทย

การเล่นทายปริศนาในวรรณกรรมเรื่องเสภาวิสัชนานี้ มิได้หมายถึงปริศนาคำทาย (Riddle) แต่อย่างใด หากแต่เป็นการประลองภูมิรู้กันในเชิงวิชาการแบบชาวบ้าน อาทิ ความรู้เรื่องงานช่าง โลกสัณฐาน จักรวาลวิทยา ประวัติศาสตร์ นิทาน ตำนาน โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ เป็นต้น คล้ายๆ กับการประลองปัญญาในเพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ในสมัยอดีต ที่ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายมักจะมีการตั้งปริศนาซึ่งโดยมากจะเป็นปริศนาธรรมให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้เพื่อทดสอบภูมิรู้ของอีกฝ่ายหนึ่ง

สำหรับในวรรณกรรมเรื่องนี้กวีจะใช้คำเรียกแทนผู้แสดงที่เป็นทั้ง 2 ฝ่ายว่า เสภา ส่วนข้อคำถามที่เป็นปริศนาเรียกกันว่า โจทย์ การประลองปัญญาจะแบ่งพวกเสภาออกเป็น 2 ฝ่าย เมื่อเสภาฝ่ายหนึ่งกล่าวปริศนาขึ้นก็จะท้าทายให้เสภาอีกฝ่ายหนึ่งแก้ และเมื่อเสภาอีกฝ่ายหนึ่งแก้ได้ก็จะตั้งกระทู้ โจทย์ สำหรับถามเสภาอีกฝ่ายกลับไป

ในเนื้อเรื่องหลายตอนได้สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศในการทายโจทย์ปัญหา ซึ่งนิยมเล่นกันในเทศกาลงานนักขัตฤกษ์หรืองานที่สำคัญๆ ด้วย เช่น เทศกาลสงกรานต์ ดังความตอนหนึ่งว่า “ยามกรุษสงกรานต์จะประจานกัน” และการเล่นนี้ถ้าหากจะดูให้สนุก เจ้าภาพก็จะต้องหาคณะเก่งๆ มาเล่น ดังความปรากฏว่า

เจ้าแก้ไขให้หมดอย่าหดคอ ต่อๆ อย่าบ่นให้อ้นอั้น
ให้ประจักษ์หูรู้ด้วยกัน ทั้งท่านเจ้างานที่หามา

ส่วนบรรยากาศในการเล่นนั้น ดูออกจะครึกครื้นมาก มีผู้ชมคอยเป็นกองเชียร์มากมาย

เจ้าข้าเอยมานั่งยังอาราม ฝูงคนเหลือหลายอยู่อึงมี่
แต่งตัวสลวยอยู่รวยรื่น มานั่งเบียดเสียดสีกันเป็นหมู่
บ้างโลดโผนเล่นแล่นไก่ป่า เฮฮาโห่ฮึกสนั่นหู
แต่เจ้าเสภานั่งเป็นหมู่อยู่ อวดว่ารู้ว่าจะสู้กับโจทย์กัน

เจ้าจะโจทย์สิ่งใดให้ว่ามา จะแก้กฤษณา[3] เราไม่พรั่น
ถึงจะเอาชนะไม่ละกัน ฝูงคนทั้งนั้นให้ท่านฟัง

อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ผู้ชมนิยมชมชอบตนได้นั้น จะต้องพยายามหาคำถามที่ยากและคาดว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่สามารถตอบได้[4] เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งจน

เจ้าจะถามมาตัวข้าจะโจทย์ไป ให้เข้าใจฝูงคนอยู่อึงอื้อ
ข้างใครจนข้าจะให้ลือ เราหรือจะขอถามเจ้าเสภา

ส่วนฝ่ายที่แก้ปริศนาก็จะต้องแสดงภูมิรู้อย่างเต็มที่ เมื่อจะวิสัชนานั้นจะไม่เพียงตอบคำถามเท่าที่ถามมาเท่านั้น แต่จะพรรณนาขยายความให้พิสดารกว้างขวางออกไปกว่าคำตอบ ดังเช่นโจทย์ถามว่า บัดสี 4 ประการได้แก่สิ่งใด เสภาผู้วิสัชนาก็กล่าวถึงบัดสีทั้งสี่ และยังกล่าวถึงเหตุการณ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ที่เกี่ยวกับบัดสี 4 ประการอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจชัดเจน และเพื่อแสดงภูมิรู้ของตนด้วย

และหากการทายปริศนานี้ผู้ชมนิยมชมชอบ อาจตกรางวัลให้แก่ผู้แสดงได้ ดังนั้นในบางครั้งจึงมีการกล่าวถึงหรือเรียกหารางวัลจากเจ้าภาพ

ย่อมพูดจาว่ากันเกลอพร้าหาย เจ้าแก้นิยายให้จงได้
ให้ท่านผู้ฟังนั้นเจ้าเข้าใจ ท่านจะให้รังวัลใส่ขันมา

หญิงชายทั้งหลายจะใคร่ฟัง ที่คับคั่งห้าวันอ่อนอยู่ง่วงเหงา
ได้ฟังคารมจะชมเรา หรือจะเอารางวัลท่านเจ้างาน
นอกจากนี้ในเนื้อเรื่องยังปรากฏ ชื่อบุคคลต่างๆ ที่แสดงด้วย เช่น
จะปรึกษาลูกชายชื่อนายกลม ออกลิ้งอย่าปรารมภ์เอาตัวรอด
อ้อขุนน้อยหมวดแดงแทงตลอด แก้ไขให้รอดตลอดคิด

ชื่อบุคคลที่ปรากฏข้างต้น มีความเป็นไปได้ 2 ทางว่า ชื่อบุคคลเหล่านี้อาจเป็นชื่อผู้เล่นปริศนา หรืออาจเป็นชื่อเรียกตำแหน่งหน้าที่ในกลุ่มของคนเล่นปริศนาก็อาจเป็นไปได้

เจ้าข้าเอยโจทย์มาข้าแก้ได้
ข้าจะถามเจ้าไปอย่าอางขนาง :
เสน่ห์แห่งสนามประลองปัญญา

ความโดดเด่นประการหนึ่งของวรรณกรรมเรื่องนี้ คือการท้าทายโต้คารมกันของเสภาแต่ละฝ่าย ทั้งเยาะเย้ยถากถางด้วยโวหารต่างๆ นานา ช่วยสร้างสีสันและรสชาติให้กับผู้ฟังและผู้อ่านได้ไม่น้อยทีเดียว ลองพิจารณาดูตัวอย่างที่ยกมา

เสภา 1
จงมาอรรถแปรเร่งแก้กัน ให้ท่านผู้ฟังประจักษ์หู
เจ้าเป็นคนดีย่อมมีครู หรือจนอยู่จะเป็นลูกศิษย์เรา
เอาธูปเทียนดอกไม้มาบูชา เราจะบอกตำราให้เปล่าๆ

เสภา 2
ข้าว่าผิดบ้างแลพลั้งพลาด จะแก้เงินสองบาทออกยื่นให้
จะบูชาจันจนตาขุนใหญ่ ขี้คร้านจะไหว้ให้เสียมือ

เสภา 2
บอกได้มิได้อย่าเลินเล่อ เอิดเธอปันจุนอยู่แล้วว่า
หรือคิดถึงเมียอยู่บอกมา หรือจะให้พ่อตามาว่าแทน

เสภา 1
๏ เจ้าข้าเอยถามมาข้าน่าโกรธ จะลุกโลดวิ่งไปให้ตายแม่น
น้ำคำต่ำหนอเอาคอแขน เจ้าแค่นถามมาข้าน่ากลัว
อย่างนี้ที่ไหนจะแก้ได้ มันสับสนพ้นใจมิใช่ชั่ว
ไอ้จุยจนใจไปขอตัว มึงมุดหัวลงไปในรังผ้า

เสภา 1
เนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่ง ยังซ้ำเอากระดูกมาแขวนคอ
ต้นเดิมอย่างไรว่าไปหนอ เอ็งอย่านั่งจอนจ๋อบอกข้อมา
ให้ท่านหญิงชายทั้งหลายฟัง มานั่งพร้อมพรั่งอยู่หนักหนา
จะได้จำไว้ไปข้างหน้า หม่อมเสภาแก้มาจะขอดู

เสภา 2
อย่านั่งฟังชิดอยู่อิดออด กอดหัวเข่าเจ่าจุกหาดีไม่
หรือไม่ได้เงินกับผ้าหาไม่ได้ จะไพล่สักตำลึงให้ถึงมือ

เสภา 1
๏ เจ้าข้าเอยเรานี้มีครู จะจดจ้องลองดูเหมือนเจ้าว่า
จะแก้ไขให้สวยด้วยปัญญา ตามแต่วาสนาบารมี
ครั้นมิแก้เล่าก็เราอาย ยักย้ายบ่ายเบี่ยงไม่เลี่ยงหนี
กว่าจะสิ้นอาวุธหมดราคี ถามที่ราหูเธอจรมา

เสภา 2
ให้ผู้ฟังที่นั่งดู หรือจนอยู่จะแก้ข้ามิได้
เห็นหน้าเจ้าสลดระทดไป หรือแก้มามิได้เร่งว่า

เสภา 1
๏ เจ้าข้าเอยเจ้าถามถึงความขำ น้ำคำก็ฉ่ำแล้วนะหม่อมขา
ฉลาดจริงยิ่งไวในปัญญา ลึกล้ำร่ำว่าเห็นจน
จะสิ้นไส้ในพุงข้าเมื่อไร จะแปรออกบอกให้ไม่ขัดสน

เสภา 2
หรือขัดสนจนข้าว่าไม่ได้ หรือสิ้นไส้เรียนรู้เจ้างูปลา
หรือขัดสนจนจริงยิ่งเจ้าข้าไหว้ข้า ข้าจะบอกตำราให้

เสภา ตำราของครูบ้านนอก

ในวรรณกรรมเรื่องนี้ พบว่ามีการตั้งถามกระทู้โจทย์ 22 คำถาม และในแต่ละคำถามก็มีคำถามย่อยที่เกี่ยวข้องกับคำถามหลักอีกจำนวนหนึ่งด้วย ผู้เขียนได้แยกประเภทของคำถามหรือกระทู้โจทย์ตามเนื้อหาของคำถามหลักได้เป็น คำถามเกี่ยวกับตำนานและประวัติศาสตร์ คำถามเกี่ยวกับโลกศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา คำถามเกี่ยวกับความเชื่อ คำถามเกี่ยวกับความเป็นมาของสุภาษิต และ คำถามเกี่ยวกับโหราศาสตร์

จะเห็นได้ว่า ขอบเขตของความรู้มีค่อนข้างกว้างขวาง เป็นเรื่องที่ ครอบจักรวาล เมื่อได้ฟังการแก้โจทย์ปริศนาก็จะได้รับความรู้กลับไปไม่น้อย ซึ่งการเรียนรู้เรื่องวิชาการ (แบบชาวบ้าน) ผ่านการแสดงเช่นนี้ ถือเป็นกลวิธีที่แยบยลและไม่น่าเบื่อ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ชมได้ ปัญญา และความสนุกสนานแล้ว ยังทำให้ผู้ชมจดจำความรู้ได้ง่ายขึ้นด้วย ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง การทาย-แก้ปริศนา ดังนี้

โจทย์ข้อ 3 ถามว่า

แรกเริ่มเดิมหนอเป็นอย่างไรมา เขาจึงลือว่าเป็นเสนียด
เบียดเสียดคนให้เป็นไข้ ถูกต้องทูบถองร้องโอยไป
ต้นเดิมอย่างไรจะใคร่รู้ อันหนึ่งเรียกว่าย่าเรือ

แก้ว่า

เจ้าถามมาว่าเดิมทีแม่ลูกนั้นเดินมา ลูกสาวก็ว่างขึ้นเดินหน้า
ตีนใหญ่กว่าท่านผู้มารดา ตีนแม่น้อยกว่าก็เดินตาม
เป็นรอยที่นำช้ำสลุด เดินรุดแรงไปอยู่พล่ามพล่าม
ยังมีพ่อลูกสองคนงาม ลูกชายตะพายย่ามเดินไป
ฝ่ายว่าพ่อนั้นเป็นหมอดู จึงรู้ว่าเป็นผู้หญิงได้
พ่อลูกคิดกันแล้วทันใด อีตีนใหญ่เดินหน้าเป็นของพ่อ
อีตีนน้อยค่อยเดินตามไป กูจะยกให้เอ็งทีเดียวหนอ
ด้วยตะแกสัญญาเป็นข้อใหญ่ เออทีนี้ก็จะเรียกว่ากระไร
แต่ชั่วแผ่นดินไปได้มีมา
จะประดิษฐ์คิดเรียกตามสอฬ่อ ว่าออพ่อกูเอ๋ยลูกเขยข้า
พ่อกับลูกสำเหนียกแล้วเรียกมา พ่อตากูเอ๋ยลูกเขยกู
ฝ่ายว่าท่านทั้งปวงลวงเข้าใจ อยู่ไปมีลูกมาทั้งคู่
ท่านผู้ฟังกระหยับคอยตรับหู เป็นกระทู้อยู่ว่าเสนียดคน
ฝ่ายท่านทั้งปวงอย่าสงสัย เรื่องราวกล่าวไว้มาแต่ต้น
จึงประจักษ์แก่หูอยู่ทุกคน เป็นเรียกว่าเสนียดมา
อันหนึ่งถามย่านางเรือ แก้ไขให้เหลือที่เจ้าว่า
พระฬอ(ส)เน่หาเธออย่าไว นางเพื่อนนางแพงนั้นโกรธา
เอ็งเป็นย่านางตะเคียนใหญ่ เจ้าฟังว่างวู่เตาปูใหญ่
ตรึงซ้ำให้จำตาย
ปลายแรงทำรังเข้าปิดมิด วัน ๑ ร้ายหนาเป็นตานมหนู
วัน ๓ ผลาญราชศัตรู ร้ายอยู่ครูท่านมิให้เอา
ศุกร์จันทร์ประหัสเล่าเอาเป็นเรือ อย่างนี้มีผีเรียกว่าย่านาง
แก้ไขให้สว่างหรือมิเชื่อ หรือว่าน้ำคำข้าล้ำเหลือ
ทำเรือย่อมเซ่นสืบๆ มา ย่านางผีสิงหรือเปล่า[5]


เชิงอรรถ
[1] วัชรี รมยะนันทน์. “ขุนช้างขุนแผนเริ่มแต่งในรัชกาลใด,” ใน วารสารภาษาและวรรณคดีไทย. ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๒, ๒๕๓๓.

[2] มนต์จันทร์ อินทรจันทร์. เสภาและพัฒนาการของวรรณคดีเสภา. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (วรรณคดีไทย) ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

[3] ปริศนา

[4] แต่ในความเป็นจริงหากเป็นการแสดงแล้ว เสภาทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็รู้คำถามของกันและกันมาล่วงหน้าอยู่ ทั้งยังต้องมีการท่องจำเตรียมตัวสำหรับเตรียมทางแก้ไว้ล่วงหน้าด้วย

[5] วิสัชนาในข้อที่ว่าด้วย “ย่านาง” นี้ มีความน่าสนใจตรงที่ชาวบ้านพยายามที่จะโยงเรื่องแม่ย่านางเรือ ให้สัมพันธ์กับเจ้าย่าในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ ทั้งที่ทราบกันดีว่าเจ้าย่าเป็นตัวการที่ทำให้พระลอและพระเพื่อนพระแพงต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าใจ และการกระทำในครั้งนั้นยังผลให้เจ้าย่าเองก็ต้องรับชะตากรรมเช่นเดียวกันกับพระลอและพระเพื่อนพระแพง

ผู้เขียนเข้าใจว่าชาวบ้านอาจอาศัยว่าชื่อพ้องกันประการหนึ่ง รวมทั้งวีรกรรมที่ปรากฏในลิลิตพระลอเองจะช่วยทำให้วิญญาณของเจ้าย่าแรงกล้าขึ้นด้วยแรงอาฆาต และคงจะวนเวียนอยู่มิได้ไปปฏิสนธิยังที่ใด สิ่งเหล่านี้จึงอาจทำให้เชิญมาเป็นย่านางเรือ หรือนำมาอธิบายเรื่องแม่ย่านางเรือ ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมก็เป็นได้

[6] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความของสำนวน ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด ว่า ฟังไม่ได้ความแจ่มชัด แล้วเอาไปพูดต่อหรือทำผิดๆ พลาดๆ ในวรรณกรรมเรื่องนี้เรียกว่า ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปเสนียด ซึ่งไม่แน่ใจว่าคำใดเกิดขึ้นก่อน ทั้งนี้เพราะหากจะว่าไปเมื่อพิจารณาจากสำนวน ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปเสนียด ก็อาจจะได้ความว่าเมื่อฟังไม่ได้ศัพท์ไม่ทันได้ความ แล้วนำไปจับเรื่องต่อก็อาจเกิดเสนียดเกิดอัปมงคลได้ ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งอาจเพี้ยนจาก กระเดียด มาเป็น เสนียด ก็เป็นได้ ส่วนนิทานที่นำมาอรรถาธิบายสำนวนให้เป็นรูปธรรมนั้นค่อนข้างน่าสนใจไม่น้อย เพราะทำให้เข้าใจความหมายและโทษของการฟังไม่ได้ศัพท์ได้ชัดเจนขึ้น เข้าใจว่านิทานเรื่องนี้อาจเป็นอนุภาคเหตุการณ์ในนิทานพื้นบ้านเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

รายการอ้างอิง

วัชรี รมยะนันทน์. “ขุนช้างขุนแผนเริ่มแต่งในรัชกาลใด,” ใน วารสารภาษาและวรรณคดีไทย. ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๒, ๒๕๓๓.

มนต์จันทร์ อินทรจันทร์. เสภาและพัฒนาการของวรรณคดีเสภา. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (วรรณคดีไทย) ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓.


หมายเหตุ: คัดบางส่วนจากบทความ “เสภา” คือ “อิคคิวซัง” แบบไทย ๆ ไม่ใช้เจ้าพนักงานขับหรือลำนำขับ : หลักฐานจากสมุดข่อยโบราณที่เมืองตราด โดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2550

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2564