ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ศรีธนญชัย เป็นนิทานพื้นบ้านไทย ไม่ทราบใครเป็นผู้แต่ง เพราะเป็นนิทานที่เล่าสู่กันฟังต่อเนื่องมา สันนิษฐานว่าถือกำเนิดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นที่รู้จักและแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังแพร่หลายไปในประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา เวียดนาม ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์
เนื้อหาของนิทานเป็นเรื่องของ “ศรีธนญชัย” ตัวละครหลักของเรื่องที่เป็นคนเจ้าปัญญา มีเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิง ไหวพริบดี สามารถแก้ปัญหาเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ไหวพริบของศรีธนญชัยส่วนใหญ่เป็นเรื่องความสามารถในทางภาษา การเล่นคำ และการตีความหมายของคำที่ไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน ซึ่งเป็นความโดดเด่นของนิทาน และทำให้เป็นที่กล่าวขานถึงเสมอในปัจจุบัน
วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ศรีธนญชัย ว่า เป็นคนที่ใช้ไหวพริบแบบฉลาดแกมโกง เอาผลประโยชน์ทั้งกับคนและสังคมที่ซื่อบื้อ และยกตัวอย่างว่า
“ครั้งหนึ่ง ศรีธนญชัยต้องอาญาให้นำตัวไปผูกกับเสาไว้ในทะเล รอให้น้ำขึ้นก็จะต้องจมน้ำตาย เมื่อศรีธนญชัยถูกทหารนำไปผูกกับเสาไว้กลางทะเล ศรีธนญชัยก็ตะโกนดังๆ ว่า ‘ข้าไม่เป็น ข้าไม่เอา’
ขณะนั้นมีเรือสำเภาแล่นผ่านมาได้ยินเกิดความสงสัย จึงเอาตัวศรีธนญชัยขึ้นไปถามบนเรือว่า เขาจะให้เป็นอะไรจึงร้องตะโกนลั่นท้องทะเลว่า ‘ข้าไม่เป็น ข้าไม่เอา’ ศรีธนญชัยตอบว่าเขาจะให้ไปเป็นพระราชา ตนไม่อยากเป็น เขาจึงนำมาผูกไว้ให้น้ำทะเลท่วมตาย
เจ้าสัวเจ้าของเรือสำเภาพอได้ความจึงขอเอาตัวเองไปผูกไว้กับหลักกลางทะเล แล้วยกเรือสำเภาพร้อมกับสินค้าให้ศรีธนญชัยไป ตัวเองร้องตะโกนว่า ‘ข้ายอมเป็น เป็นแล้ว ข้าอยากเป็น’ จนน้ำทะเลขึ้นท่วมศีรษะจมน้ำตายก็ไม่มีใครเอาไปเป็นพระราชา”
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย กล่าวถึงศรีธนญชัย ว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยเป็นกฎหมายที่ยาวและมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก แต่ก็ยังไม่วายมีช่องว่างให้ตีความ…มันยาวเพราะคนเขียนพยายามที่จะป้องกันปัญหาต่างๆ เพราะคนไทยมีนิยายศรีธนญชัยอยู่
การที่นิยายศรีธนญชัยได้รับความนิยม มันสะท้อนวัฒนธรรมทางการเมืองอะไรบ้าง กล่าวคือ ชอบตีความตามตัวหนังสือและตีความเอาที่ประโยชน์เข้าตัวเขา…มันสะท้อนว่าคนไทยให้ความสำคัญและถือว่าการฉลาดแกมโกงสามารถบิดผันเอาคำพูดมาเป็นประโยชน์ตัวได้เป็นสิ่งดีงาม ไม่งั้นนิยายศรีธนญชัยจะไม่เป็นที่แพร่หลายอย่างนี้…”
ส่วน นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กลับเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไปว่า…
“ผมไม่ค่อยเชื่อทฤษฎีที่ว่าคนไทยนั้นเป็นศรีธนญชัย หรือพูดอีกอย่างว่า กะล่อนเป็นสันดาน…นิทานเรื่องนี้สะท้อนการต่อต้านอำนาจ นับตั้งแต่อำนาจของพ่อแม่ อำนาจของพระ…คนไทยสมัยหนึ่งชอบฟังนิทานเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะคนไทยหัวแข็งชอบต่อต้านอำนาจ หากเป็นเพราะต้องอยู่ใต้อำนาจตลอดเวลาจึงอยากจะมีเวลาสะใจกับการที่อำนาจถูกท้าทายบ้าง…แม้ว่าศรีธนญชัยอาจใช้ความคลุมเครือดิ้นได้ของภาษาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านอำนาจ แต่ก็เป็นอำนาจที่ขาดความชอบธรรม”
เช่น ตอนหนึ่งในนิทาน พระราชาที่เป็นเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด ยกที่ดินให้ศรีธนญชัยตามที่ขอ คือ ขนาด “เท่าแมวดิ้นตาย” ที่ศรีธนญชัยจับแมวมาคล้องเชือกแล้วไล่ตีจนตาย ก่อนจะยึดที่ดินตามที่แมวตัวดังกล่าววิ่งหนีทั้งหมดมาเป็นของตน
นิธิวิเคราะห์ว่า “อำนาจทั้งหลายก็มักมีรอยโหว่ คือบางส่วนของอำนาจนั้นขาดคุณธรรม…การต่อต้านของศรีธนญชัยจับใจคนไทยตรงนี้ครับ คือตรงที่ต่อต้านรอยโหว่ของอำนาจที่ขาดความชอบธรรม…”
อ่านเพิ่มเติม :
- “ขุนช้างขุนแผน” จากนิทานพื้นบ้าน สู่วรรณกรรมราชสำนัก การแต่งเติมเรื่องราวฉบับพิสดาร
- นิทาน “นายจิตร นายใจ” วรรณกรรมเสียดสี 3 พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 5
ข้อมูลจาก :
ผศ. สุวรรณา งามเหลือ. “ศรีธนญชัยกับอุบายการตีความหมายในภาษา” ผลการงานวิจัยและวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ ปี 2553, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย.
วีรพงษ์ รามางกูร .“การเมืองศรีธนญชัย” ใน, มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2561.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2566