นิทาน “นายจิตร นายใจ” วรรณกรรมเสียดสี 3 พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 5

การอุปสมบทรัชกาลที่ 5 (ประทับซ้ายสุด)

วรรณกรรมเสียดสีสังคมมีมาทุกยุคทุกสมัย ในบางเรื่องผู้ประพันธ์จะใช้วิธีกล่าวเสียดสีบุคคลโดยตรง ไม่มีการอ้อมค้อมหรือใช้ตัวละครสมมุติ นั่นคือนิทานเรื่อง นายจิตร นายใจ วรรณกรรมเสียดสีสภาพสังคมในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผลงานของ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท

นิทานเรื่องนี้กล่าวเสียดสีสังคมในสมัยนั้นหลายประเด็น แต่ประเด็นวงการสงฆ์ เป็นเรื่องที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยมีระบุพระนามหรือนามผู้เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน และเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่มีการใช้ตัวละครสมมุติ ผู้ที่ถูกวิจารณ์ก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) หรือท่านวัดโสมนัศ และพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) หรือท่านสาศนโสภณ

มูลเหตุของเรื่องนี้เกิดขึ้นขณะที่นายจิตรกับนายใจ ตัวละครหลักของนิทานเรื่องนี้สนทนากันอยู่นั้น มีพระภิกษุรูปหนึ่งสวมถุงเท้าเหลือง พายเรือผ่านไป นายจิตรกับนายใจจึงเริ่มวิพากษ์วงการพระสงฆ์ไว้ดังนี้

“…เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ท่านทรงผนวชท่านไม่ได้ยอมดังนี้เลย, แต่ผิดอะไรจากข้อบังคับสิกขาบทสักหนิดสักน่อยก็ห้ามไม่ให้ลงอุโบสถสังฆกรรม, นี้กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านเปนใหญ่อยู่ในหมู่สงฆ์, ท่านก็ไม่คิดบัญญัติให้เปนแบบแผนลงให้เปนแน่, เปนแต่ชอบทอดพระเนตรดาวเดือนตวันไปอย่างเดียว,

ส่วนท่านวัดโสมนัศ รู้หลักแขงแรงในทางธรรม, แต่ไม่รู้จักสั่งสอนปลอบโยนให้คนเข้าใจให้ดี, เปนแต่ถึงเข้าก็จะให้นั่งพระกรรมถาน, สอนการก็เกินกว่าคนพึ่งจะเรียนรู้, เหมือนยังไม่เคยอ่าน ก ข, มาถึงก็ให้อ่านเกยทีเดียวใครจะไปรู้ ครั้นสงไสยถามไถ่ซักไซ้บ้างก็โกรธว่าล้อ,

ส่วนท่านสาสนโสภณ รู้หนังสือแปลแต่ไม่คิด…หนังสือสั่งสอนอธิบายให้คนเข้าใจ เปนแต่รู้ไว้คนเดียวเท่านั้น, คิด ๆ ดูก็หน้าเศร้าใจในสาศนา เปนวิชาอันดีแต่ไม่มีผู้ชี้ให้ถูก, เปนแต่สอนให้ฟังเทศน์มหาชาติจึ่งจะได้บุญ, เอาเข้าของไปให้พระกินจึ่งจะได้บุญ, ทีความถืออย่างไรเปนการดีนั้น, ไม่เหนมีใครจะคิดถือเลย, เทศน์มหาชาตินั้นเสียเงินเป็นอันมาก, เหมือนเอาพระมาร้องลคอนเล่น, ถ้าพระองค์ไหนเทศน์ทำนองดี ๆ, ว่ามัทรีฤาชูชกก็ชอบกัน, ติดกัณฑ์เทศน์มากขึ้นดั่งนี้ ๆ แล, ที่ทำให้สาศนาเสื่อมซุดลงทุกที…”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ทรงเชี่ยวชาญในวิชาอักษรศาสตร์ ภาษาบาลี ภาษาขอมโบราณ

สำหรับสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) หรือท่านวัดโสมนัศ เป็นเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร เป็นผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมและเคร่งครัดในพระธรรมวินับ ส่วนพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) หรือท่านสาศนโสภณ อยู่ที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ได้รับการยกย่องว่าเชี่ยวชาญในหนังสือ ต่อมาภายหลังได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. 2436

ด้วยความที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์แต่งนิทานเรื่องนี้วิจารณ์อย่างรุนแรง ตรงไปตรงมา และระบุพระนามหรือนามผู้เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ทำให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ทำหนังสือกราบบังคมทูลถวายรัชกาลที่ 5 ขอให้ทรงชำระความ

จนกระทั่งมีการตั้งกรรมการสอบสวน เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ก็รับสารภาพว่าเป็นผู้ประพันธ์ ขอลุกะโทษ ผลที่สุดคือ “…ชี้แจงปฤกษาโทษแล้วให้พระยาภาษกรวงษสาบาลชำระตัวเสีย คาดโทษเอาเปนผิดไว้ชั้นหนึ่ง ลางทีเห็นจะเข็ดหลาบได้จะใช้ต่อไป…”

 


อ้างอิง :

นิยะดา เหล่าสุนทร. (พฤศจิกายน 2556). นิทานเรื่อง นายจิตร นายใจ : นิทานเสียดสีสภาพสังคม และบ้านเมืองในรัชกาลที่ 5. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่  35 : ฉบับที่ 1.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2564