ทำไมใช้ “เผยแผ่” เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับศาสนา ไม่ใช้ “เผยแพร่” ?

เผยแผ่กับเผยแพร่ เผยแผ่ เผยแพร่

เรามีหลักการใช้ภาษาอยู่ข้อหนึ่งที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมาตามที่ครูบาอาจารย์และผู้รู้ทางภาษาท่านแนะนำไว้ นั่นคือการใช้คำว่า “เผยแผ่” เมื่อเกี่ยวข้องกับศาสนา และละเว้นการใช้ “เผยแพร่”

ทำไมต้องสงวนคำหนึ่งแล้วละเว้นอีกคำ เผยแผ่กับเผยแพร่ใช้แทนกันไม่ได้หรือ ใครเริ่มหลักการนี้?

Advertisement

ที่พอจะสืบได้คือองค์กรที่ใช้ข้อปฏิบัติข้างต้นอย่างเคร่งครัด นั่นคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ดังจะเห็นว่า เอกสารที่ออกมาจากหน่วยงานเหล่านี้จะใช้ “เผยแผ่” แทน “เผยแพร่” เสมอ แม้ทั้ง 2 คำดูจะมีความหมายไม่ต่างกัน และ (เหมือน) ใช้แทนกันได้ในหลายกรณี

จิตรกรรม พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระพุทธเจ้า เผยแผ่ พระศาสนา เผยแผ่กับเผยแพร่
จิตรกรรมพระพุทธเจ้าโปรดพระราชบิดา จิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (ภาพจาก หนังสือ จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรมศิลปกร พ.ศ. 2557)

ความหมายของเผยแผ่กับเผยแพร่

เมื่อไปดูความหมายของทั้ง 2 คำ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายความหมายของ “เผยแผ่” ว่า ก. ทำให้ขยายออกไป, ขยายออกไป, เช่น เผยแผ่พระศาสนา

ส่วน “เผยแพร่” คือ ก. โฆษณาให้แพร่หลาย เช่น เผยแพร่ความรู้

จากความหมายข้างต้น เราก็ยังไม่เห็นคำตอบของเรื่องนี้อยู่ดี มีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่กันแน่?

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้อธิบายขยายความความแตกต่างในแง่การใช้งานของทั้ง 2 คำเพิ่มเติมเพื่อไขความกระจ่างเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

“เผยแผ่ เป็นการทำให้ขยายออกไปโดยไม่ทิ้งหลักเดิม ของเดิมเป็นอย่างไรก็ขยายออกไปตามนั้นทุกประการ เช่น แผ่เสื่อ แผ่สาด

ท่านผู้อ่านที่เคยแผ่เสื่อ ลองนึกภาพดู เมื่อแผ่เสื่อออกไป เสื่อผืนนั้นก็ขยายกว้างออกไป และที่ขยายออกไปก็เป็นเสื่อผืนนั้นนั่นเอง

เผยแพร่ เป็นการทำให้ขยายออกไปเหมือนกัน แต่ต้องทิ้งของเดิมไป ตัดขาดจากของเดิมไป เช่น การแพร่ของเชื้อโรค

เชื้อโรคที่ ‘แพร่’ จากสถานที่แห่งหนึ่งไปอีกที่หนึ่งเป็นเชื้อโรคคนละตัวกัน ไม่ใช่เชื้อโรคตัวเดียวกัน”

คนไข้ อหิวาตก โรคระบาด แพร่ เผยแผ่กับเผยแพร่
การรักษาพยาบาลคนไข้จากอหิวาตกโรคระบาด ไม่ทราบสถานที่ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ศิริราชพยาบาล)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจึงมักใช้ เผยแผ่ กล่าวคือ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมาอย่างไร พุทธสาวกก็นำคำสอนนั้นไป “เผยแผ่” ให้กว้างไกลออกไป ไม่เปลี่ยนแปลงพระธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ ไม่บิดเบือน ไม่ใส่ความคิดหรือความเห็นของตนสอดแทรกนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554

สำรวย นักการเรียน, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ความต่าง “เผยแผ่” กับ “เผยแพร่”. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2567. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2567