เผยแพร่ |
---|
คำว่า จริง ออกเสียงว่า จิง ไม่ออกเสียงควบกล้ำ จร แล้วทำไมต้องมี ร.เรือ
ในภาษาไทยมีคำควบกล้ำแท้และไม่แท้ คำควบกล้ำไม่แท้อย่างคำว่า จริง ที่ออกเสียงว่า จิง ดูจะพอสืบหามีที่มาที่ไปได้ว่า ทำไมคำนี้เป็นคำควบไม่แท้ ไม่ออกเสียงควบกล้ำ จร
ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว (4 ธันวาคม 2479 – 29 กรกฎาคม 2567) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทยหลายแขนง เคยอธิบายถึงคำว่า “จริง” ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2528 เอาไว้ดังนี้
คำ จริง ที่ต้องมีตัว ร นั้น เป็นการเขียนตามโบราณ คนแต่ก่อนเขาต้องการเขียนคำ จริง และ จึง ให้แตกต่างกัน จะได้ไม่สับสน หากไม่มี ร ก็แยกกันไม่ได้
ที่ว่าอย่างนี้เป็นการนึกเดา แต่เป็นการเดาหลังจากได้คลุกอยู่กับสมุดไทยโบราณมานับสิบปี คนแต่ก่อนเขาไม่ชอบเขียนรูปสระ อึ แต่นิยมเขียน อิ ให้ผู้อ่านอ่านเอาเองว่า คำไหนควรอ่านออกเสียง อึ หรือ อิ
อย่างเช่น เขียนว่า จิง ก็สามารถอ่านเป็น จริง ก็ได้ จึง ก็ได้ เพื่อแก้ปัญหานี้ ต่อมาก็เอา ร ใส่ให้ หมายรู้ว่า ตรงนี้เป็น จริง
เรื่องคำ จิง อ่านเป็น จึง ได้นี้ ผมมีตัวอย่างสมุดไทยอยู่มาก จะถ่ายสำเนายืนยันก็เอิกเกริกไปเปล่า ๆ ขอยกกลอนในเรื่องนิราศสุพรรณของนายมีให้เห็น ดังนี้ (ต้นฉบับเดิมเป็น จิง แต่ต่อมาได้สอบชำระเป็น จริง แต่กระนั้นผู้แต่งก็ใช้คำ ถึง รับฟ้องไว้อย่างชัดเจน)
มาถึงหน้าวัดเพลงวังเวงจิต นั่งพินิจศาลาที่อาศัย
มีตะพานลูกกรงลงบันได จึงจำได้แน่จิตไม่ผิดเพี้ยน
แต่ก่อนพระวัดนี้ท่านดีมาก ชื่อขรัวนาคช่างฉลาดข้างวาดเขียน
มีคนจำแบบอย่างมาวางเรียน จนช่างเขียนประเดี๋ยวนี้ก็ดีจริง
ทุกวันนี้ฝีมือเขาลือมาก แต่ฝีปากอับชื่อไม่ลือถึง
ไม่มีใครยอยกเหมือนตกบึง ต้องนอนขึงคิดอ่านสงสารตัว
ตอบเท่านี้ คงจะพอนะครับ
อ่านเพิ่มเติม :
- รำมะนามาจากภาษาอาหรับ? – ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว
- สืบค้นที่มาของคติ “เทวดาให้ทุกข์จุกกะหรี่” หมายถึงอะไรกันแน่
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2567