ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เครื่องดนตรีไทยอย่าง “รำมะนา” เป็นกลองหน้าเดียวที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้จักหรือเคยเห็น เพราะรำมะนาเป็นเครื่องดนตรีที่ค่อนข้างแพร่หลาย โดยเฉพาะในวงมโหรี ดังจะเห็นว่าใช้ประกอบการเล่นเพลงพื้นบ้านยอดนิยมอย่าง ลำตัด อยู่เสมอ

แต่เมื่อพิเคราะห์ไปที่ชื่อรำมะนา เราจะพบว่าเป็นชื่อที่ประหลาดพิลึก ดูไม่เหมือนคำไทย หรือแผลงมาจากภาษาอื่นอีกที
เรื่องนี้ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว อธิบายไว้ในหนังสือ ก้นครัวชีวิต (สนพ.พื้นภูมิเพชร) ที่รวบรวมงานเขียนด้านภาษา วัฒนธรรม สารคดี และวรรณกรรมของท่านที่เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์ “เพราะได้เห็นจึงได้คิด” ของนิตยสารเพชรนิวส์ โดยเสนอว่า รำมะนาไม่ใช่เครื่องดนตรีไทยแต่เดิม และมีที่มาของชื่อจากแขกเปอร์เซีย
อนึ่ง คนไทยรู้จักเครื่องดนตรีนี้มานานแล้ว เพราะนอกจากจะปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง พระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็กล่าวถึงรำมะนาด้วย ดังว่า
“เจ้าเงาะแสนกลคนคะนอง
หัดร้องนางนาคปากร่ายซอ
เอากระทายตีแทนรำมะนา
ทำให้ภรรยาน่าหัวร่อ
รจนานิ่งนั่งฟังเอียงคอ
เพราะนักหนาหนอเจียวพ่อคุณ”
ร็อบบะนา – รำมะนา
อ. ล้อม เล่าว่า “ชื่อ ฉิ่ง ฉาบ ปี่ แคน กลอง ฯลฯ เห็นชัดว่าชื่อเป็นอย่างไทย ๆ แต่ชื่อรำมะนามีถึงสามพยางค์ จนหลายคนอธิบายเล่น ๆ ว่า ชื่อนี้อาจเพี้ยนมาจากคำชวนเชิญ ‘มา รำ มา’ ก็ได้
ผมเองมีมติว่า บรรดาสิ่งของเครื่องใช้ที่คนไทยเรียกขานกันนั้น หากเป็นคำพยางค์เดียว ยิ่งมีรูปวรรณยุกต์กำกับด้วยแล้ว ก็มั่นใจได้ว่า สิ่งของเครื่องใช้นั้น ต้องเป็นของไทยมาแต่เดิมอย่างแน่นอน
แต่หากสิ่งใดมีชื่อเรียกหลายพยางค์ ก็น่าจะเป็นเรื่องของสังคมไทยรับมาใช้ ซึ่งถือเป็นเรื่องหยิบยืมกัน เป็นปรกติของชนชาติที่ติดต่อสัมพันธ์กัน”
อ. ล้อม ได้อ้างอิงข้อเขียนของ คุณอุดม อรุณรัตน์ ในวารสาร “วัฒนธรรมไทย” ฉบับเดือนมิถุนายน-กันยายน พ.ศ. 2533 ที่อธิบายเกี่ยวกับรำมะนาว่า ภาษาอาหรับเรียกเครื่องดนตรีเดียวกันนี้ว่า “ดอยละห์” คือเป็นกลองหน้าเดียวเหมือนรำมะนา ส่วนเหตุผลที่ไทยเราเรียกเป็นอีกชื่อ มาจากการเลียนเสียงสวดของพวกซูฟี ซึ่งเป็นพวกเปอร์เซีย (อิหร่าน) ที่มาอยู่ในไทยครั้งอดีต
ซูฟี (Sufism) เป็นอิสลามกลุ่มหนึ่งที่ดำเนินชีวิตตามคำสอนทางศาสนาโดยเน้นเรื่องมารยาท การขัดเกลาจิตใจให้สะอาด ไม่โอ้อวด ลำพองตน หรือการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์เพื่อพระเจ้าของพวกเขา (อัลลอฮ์) แนวทางของกลุ่มนี้มีทั้งการเข้าสมาธิ สวดภาวนา ตลอดจนการเต้นรำ
“การสวดนั้น เขาใช้กลองดอยละห์ที่เป็นจังหวะ และจะซ้ำคำอาหรับว่า ‘ร็อบบะนา ๆๆๆ’ ซึ่งแปลว่า พระผู้อภิบาลของเรา เมื่อคนไทยเห็นเขาตีจังหวะ และออกเสียงซ้ำ ๆ ก็เลยเรียกกลองดอยละห์นั้นว่า ‘รำมะนา’ ตามความถนัดในภาษาไทย” อ. ล้อมกล่าว
กล่าวคือ “รำมะนา” แผลงมาจากคำอาหรับที่เอ่ยออกเสียงโดยแขกเปอร์เซียนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- รัฐบาลจอมพล ป. ส่งเสริม หรือย่ำยีดนตรีไทย
- ดนตรีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างไร? รู้ได้จากบันทึกชาวต่างชาติ
- “อังกะลุง” เครื่องดนตรีโบราณอินโดนีเซีย สู่ “มรดกโลก” ทางภูมิปัญญาโดย UNESCO
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2567