“เบญจกัลยาณี” ความงามพร้อม 5 ประการของสตรีในคัมภีร์พุทธศาสนา

จิตรกรรม ฉากเกี้ยวพาราสี เบญจกัลยาณี
ภาพประกอบบทความ - ฉากเกี้ยวพาราสีในจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4

“เบญจกัลยาณี” คือสตรีผู้มีศุภลักษณ์ หรือลักษณะอันงามพร้อม 5 ประการ มาจากคำว่า “เบญจ” หรือ ปญฺจ ในภาษาบาลี แปลว่า ห้า กับ “กัลยาณี” แปลว่า หญิงงาม

หากจินตนาการอย่างผิวเผิน ลักษณะ 5 ประการอาจชวนนึกถึงความงามด้านต่าง ๆ อย่าง รูปร่าง หน้าตา กิริยามารยาท การศึกษา และชาติตระกูล แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น

ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้นิยามของคำ เบญจกัลยาณี ไว้ว่า “มีลักษณะงาม 5 ประการ คือ 1. ผมงาม 2. เนื้องาม (คือ เหงือกและริมฝีปากแดงงาม) 3. ฟันงาม 4. ผิวงาม 5. วัยงาม (คือ งามสมวัย), เรียกหญิงที่มีลักษณะเช่นนั้น ว่า หญิงเบญจกัลยาณี”

Advertisement
เจ้านายสตรี เบญจกัลยาณี
ภาพประกอบบทความ – เจ้านายสตรี “พระภรรยาเจ้า” ของพระเจ้าแผ่นดิน จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 1 ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงลักษณะของเบญจกัลยาณีโดยอ้างจาก อรรถกถาธรรมบท เรื่องนางวิสาขามหาอุบาสิกา สรุปลักษณะของเบญจกัลยาณีไว้ดังนี้

  1. ผมงาม มีผมยาวเกล้ารัดไว้ที่ท้ายทอยเบื้องหลัง ดั่งกำหางนกยูง เมื่อปล่อยปลายผมตกไปตามลำตัว ปลายผมจะเป็นวงวกช้อนงอนขึ้นเล็กน้อย (ผู้หญิงสมัยพุทธกาลคงนิยมดัดปลายงอน)
  2. เนื้องาม เนื้อหุ้มฟันที่เราเรียกกันว่าเหงือกนั้น มีสีแดงเหมือนลูกพลับสด เรียบสนิทติดแนบแน่นอยู่กับฟัน
  3. กระดูกงาม กระดูกที่ว่าคือฟันที่ขาวเป็นเงาลึกสม่ำเสมอ เรียบสนิทไม่ชิดไม่ห่าง
  4. ผิวงาม แม้นเป็นคนผิวดำ ก็ดำสนิทเป็นมันเหมือนบัวเขียว หากเป็นคนผิวขาว ผิวก็ขาวนวลเหมือนสีกลีบดอกกรรณิการ์
  5. วัยงาม ต่อให้มีลูก 10 คน ก็ดูเหมือนมีเพียงคนเดียวเท่านั้น ความหมายคือถึงจะมีอายุก็ยังกระชุ่มกระชวยเหมือนยังสาว

สมัยพุทธกาล นางวิสาขาถูกยกให้เป็นผู้เป็นเบญจกัลยาณี อาจด้วยเพราะนางเป็นลูกสาวเศรษฐี ได้อยู่ดีกินดี กินอิ่มนอนหลับเต็มที่ เมื่อประกอบกับความใจบุญ ใฝ่ธรรมะ จึงงามทั้งกายและใจ จนมีอายุยืนถึง 120 ปี

นางวิสาขามีบุตรชาย 10 คน บุตรหญิง 10 คน บุตรทั้งหลายมีบุตรชาย-หญิงอีกคนละ 10 ตลอดชีวิตของนางมีบุตรหลานถึง 8,420 คน จะเดินทางไปที่ไหนก็มีทายาทห้อมล้อมเป็นหมู่ แต่น่าอัศจรรย์ที่ผู้คนดูไม่ออกเลยว่าคนไหนคือนางวิสาขา เพราะแลไปเห็นเป็นหนุ่มสาวเสมอเหมือนกันหมด

นางวิสาขา เบญจกัลยาณี รับ พระพุทธเจ้า
นางวิสาขา (ซ้าย) ขณะออกไปต้อนรับพระพุทธเจ้า จิตรกรรมที่วัดโพธิ์ (ภาพโดย Anandajoti Bhikkhu ใน flickr สิทธิการใช้งาน CC BY 2.0)

อีกฉบับที่กล่าวถึงเบญจกัลยาณีคือ อรรถกถาชาดก สรุปได้ว่า

  1. ผิวงาม มีผิวกายงามเปล่งปลั่งดั่งผลประยงค์สุกหรือดั่งสีทองคำธรรมชาติ โดยมิต้องใช้เครื่องประเทืองผิว
  2. เนื้องาม มีฝ่ามือ ฝ่าเท้า และริมฝีปากเป็นสีแดงดุจทาด้วยน้ำครั่ง หรือดั่งสีแก้วประพาฬแดง หรือดั่งผ้ากัมพลแดง
  3. เล็บงาม เล็บมือและเล็บเท้าทั้ง 20 นิ้วที่ยังไม่พ้นเนื้อออกมามีสีแดงดุจน้ำครั่ง ส่วนที่พ้นเนื้อออกมาแล้วมีสีขาวเหมือนสีสังข์และสีนมสด
  4. ฟันงาม ฟันทั้ง 32 ซี่ขาวสะอาดและเรียบชิดสนิทเป็นอันดี ดุจดังแก้วที่นายช่างได้เจียระไนแล้วจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ
  5. วัยงาม แม้จะมีอายุมากแล้วก็ยังมีผิวพรรณผุดผ่อง ไม่มีริ้วรอย ผมดำสนิทเหมือนหญิงสาวแรกรุ่น

นอกจากนี้ ยังมี พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่ได้นิยามความหมายเบญจกัลยาณีในทางการแพทย์ คือเป็นหญิงที่มีคุณลักษณะของการเป็นแม่นมที่ดี มีน้ำนมเหมาะแก่การเลี้ยงทารก แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มที่ 1 หญิงที่มีกลิ่นตัวหอมคล้ายกลิ่นดอกกล้วยไม้ หญิงกลุ่มนี้มักมีไหล่ผาย สะเอวรัด หลังราบ ตัวดำและเล็ก แก้มใส มือเท้าเรียว เต้านมเหมือนดอกบัวแรกแย้ม ผิวเนื้อแดง เสียงเหมือนเสียงสังข์ น้ำนมรสหวานมัน
  2. กลุ่มที่ 2 หญิงที่มีกลิ่นตัวเหมือนดอกบัว เสียงเหมือนเสียงแตร ไหล่ผาย ตะโพกรัด แก้มพอง นิ้วมือนิ้วเท้าเรียบ เต้านมเหมือนดอกบัวบาน ผิวเนื้อเหลือง น้ำนมข้น มีรสหวาน
  3. กลุ่มที่ 3 หญิงที่ไม่มีกลิ่นตัว เอวกลม ขนตางอน จมูกสูง เต้านมกลม หัวนมงอน น้ำนมรสหวานมันเล็กน้อย
  4. กลุ่มที่ 4 หญิงที่มีกลิ่นตัวหอมเผ็ด เสียงเหมือนเสียงจักจั่น ปากเหมือนปากเอื้อน ตาเหมือนตาทราย ผมแข็งชัน ไหล่ผาย ตะโพกผาย หน้าผากสวย ท้องเหมือนกาบกล้วย นมเป็นพวงใหญ่ น้ำนมขาว รสมันเข้มเล็กน้อย

แม้ลักษณะเหล่านี้จะมีหลายส่วนที่ดูเกินจริงไปบ้าง แต่กล่าวได้ว่านี่คือสิ่งสะท้อนความปรารถนา โลกทัศน์ และอุดมคติของคนโบราณที่มีต่อความงามของผู้หญิง ณ ยุคสมัยที่มันถูกบัญญัติขึ้นมาก็ว่าได้

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

แสงจันทร์ แสนสุภา, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. เบญจกัลยาณี (20 กุมภาพันธ์ 2556). (ออนไลน์)

พรทิพย์ เดชทิพย์ประภาพ, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. เบญจกัลยาณี (20 กุมภาพันธ์ 2551). (ออนไลน์)

งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ลักษณะของเบญจกัลยาณี. 17 พฤศจิกายน 2554. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2567