ทำไมเรียก “พริกไทย” แล้วพริกอื่น ๆ ไม่ไทยหรือ?

พริกไทย พริกไทยสด พริกไทยอ่อน
พริกไทยอ่อนหรือพริกไทยสด (ภาพจาก Pixabay)

ทำไมเรียกพริกไทยว่า “พริกไทย” แล้วพริกเทศ หรือพริกชนิดอื่น ๆ อย่างพริกขี้หนู พริกหนุ่ม พริกจินดา ฯลฯ ไม่ไทยหรือ? ค้นหาต้นกำเนิดที่แท้จริงของพริกไทยกับพริกเทศ

เชื่อว่าแต่เดิมเราเรียกพริกไทยว่า “พริก” เฉย ๆ ก่อนการมาถึงของพืชตระกูลพริกที่เรารู้จักในปัจจุบัน ทำให้ครัวไทยมีวัตถุดิบให้รสชาติ (ความรู้สึก) เผ็ดร้อนในอาหาร 2 อย่างหลัก ๆ และเกิดการจำแนกคำเรียกเป็น 2 ชื่อ ได้แก่ พริกไทยและพริกเทศ หรือพริกสด

Advertisement
พริกไทย
พริกไทย (ภาพจาก Pixabay)

“พริกไทย” ของใครบ้าง?

แม้เราจะเรียกว่า “พริกไทย” แต่พืชชนิดนี้เป็นสมุนไพรพื้นเมืองประจำถิ่นอุษาคเนย์ หรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม คนไทยใช้พริกไทยปรุงอาหารและเป็นยารักษาโรคมาแต่โบราณ อย่างน้อยก็ราว 3,000 ปีมาแล้ว พบหลักฐานได้ตามแหล่งโบราณคดีหลายแหล่งในไทย

ถิ่นกำเนิดของพริกไทยลากยาวตั้งแต่แถบอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ถึงหมู่เกาะโมลุกกะ (หมู่เกาะเครื่องเทศ) รวมถึงดินแดนชายฝั่งทะเลของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พืชชนิดนี้เป็นไม้เถาหรือไม้กึ่งพุ่ม เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีอากาศร้อนและความชื้นสูง แต่ควรมีร่มเงาเล็กน้อย ออกผลเป็นช่อหรือเป็นรวง

กล่าวได้ว่า พริกไทยเป็นพืชท้องถิ่น แต่เป็นท้องถิ่นระดับภูมิภาค ไม่ได้เจาะจงแค่บ้านเรา

ต้น ก้าน พริกไทย พริกไทยกับพริกเทศ
รายละเอียดก้าน รวงอ่อน และเมล็ดพริกไทย (ภาพโดย Biodiversity Heritage Library ใน Flickr)

สิ่งหนึ่งที่บางคนไม่ทราบคือพริกไทยดำกับพริกไทยขาวมาจากพริกไทยเหมือนกัน ไม่ใช่ต่างสายพันธุ์ โดย “พริกไทยดำ” คือพริกไทยที่ผลโตเต็มที่แต่ยังไม่สุก เก็บจากต้นแล้วนำไปตากแดดจนผิวเปลี่ยนเป็นสีดำ “พริกไทยขาว” คือพริกไทยที่สุกจากต้น แล้วนำมาล้างเปลือกนอกออกจนขาวสะอาด ก่อนนำไปตากแดดจนแห้ง ส่วนพริกไทยอ่อน คือพริกไทยสดที่เก็บมาทั้งช่อเพื่อปรุงอาหาร บ้างรับประทานสด ๆ กับน้ำพริกปลาย่าง

สรรพคุณทางสมุนไพรของพริกไทยคือช่วยขับลม ขับเสมหะ แก้ท้องอืด หรืออาหารไม่ย่อย ในทางยาจะนิยมพริกไทยดำมากกว่าพริกไทยขาว แต่พริกไทยทั้ง 2 ประเภทล้วนมีคุณสมบัติในการช่วยแต่งกลิ่นและช่วยถนอมอาหารประเภทเนื้อได้

ชาวล้านนาโบราณมีความเชื่อว่า หากคนถูกผีสิงให้เอาพริกไทย 4-5 เม็ด มาเคี้ยวแล้วพ่นใส่หน้าคนที่ถูกผีสิง วิธีนี้จะทำให้ผีแสบตาและกลัวตาบอด มันจึงยอมออกจากร่างของคนนั้น ส่วนคนที่ถูกผีสิงจะไม่มีอาการแสบตาแต่อย่างใด

กลับมาสู่คำถามตั้งต้นว่า เมื่อพริกไทย (pepper) เป็นพืชท้องถิ่น แล้วพริกอื่น ๆ (chilli) มาจากไหน?

ทั้งหมดตั้งต้นจากการค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัส…

“พริก” พืชท้องถิ่นอเมริกา

หลังการค้นพบ “โลกใหม่” หรือทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) พืชพรรณหลายชนิดถูกนำขึ้นเรือมายังทวีปยุโรป เมื่อราว พ.ศ. 2035 ตรงกับสมัยแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา

ช่วงนั้นเองที่พืชท้องถิ่นอเมริกาเริ่มแพร่หลายออกสู่โลกกว้างผ่านการค้าทางทะเลของชาติตะวันตก และกลายเป็นวัตถุดิบคู่ครัวของชาติต่าง ๆ รวมถึงไทย จนบางครั้งเราก็หลงลืมไปว่า มะละกอ มะเขือเทศ ข้าวโพด พริก ฯลฯ ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา

แหล่งกำเนิดที่แท้จริงของพริกอยู่ในทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง มีหลักฐานว่ามีการกินพริกเมื่อราว 7,000 ปีที่แล้ว ในวัฒนธรรมของชาวแอซเท็ก (Aztec) ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน คำว่า chilli หรือพริกในภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาของชาวแอซเท็ก

ปีเตอร์ มาร์ทิล (Peter Martyl) หนึ่งในลูกเรือของโคลัมบัสเป็นผู้เก็บพริกจากอเมริกากลับไปปลูกที่สเปน ปรากฏว่าพริกเจริญงอกงามได้ดีในยุโรป และได้รับความสนใจจากชนชาติอื่น ๆ ที่ได้ลิ้มลองความเผ็ดร้อนของมัน พ่อค้าและนักเดินเรือจึงพาพริกไปสู่ดินแดนต่าง ๆ ชาวสเปนและโปรตุเกสนำพริกไปปลูกและขยายพันธุ์ในอินเดีย ก่อนจะพาเข้ามาสู่อุษาคเนย์ราว ๆ ช่วงหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2112) ถึงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร (ครองราชย์ พ.ศ. 2133-2148)

จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาไม่เคยเสวยพริกแน่นอน ยิ่งพ่อขุนรามคำแหงยิ่งแล้วไปกันใหญ่

พริก พริกเทศ พริกไทยกับพริกเทศ
พริกเทศ (ภาพโดย Pete Linforth จาก Pixabay)

เมื่อผู้คนติดใจความเผ็ดของพริกและความต้องการบริโภคอาหารเผ็ดในไทยและชาติเอเชียเพิ่มมากขึ้น การปลูกพริกจึงขยายตัวต่อเนื่อง จนโลกตะวันออกกลายเป็นแหล่งผลิตพริกแห่งสำคัญของโลก

พริกไทยจึงได้สร้อยนามจาก “พริก” คำเดียวเป็น “พริกไทย” เพื่อบ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นพืชพื้นถิ่นไปในท้ายที่สุด

พริกไทยกับพริกเทศ

ร่องรอยที่ยืนยันว่าครัวไทยมีการใช้ทั้งพริกไทยกับพริกเทศ (พริกสด) แน่ ๆ แล้วตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์คือ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ดังว่า

◉ ตับเหล็กลวกหล่อนต้ม   เจือน้ำส้มโรยพริกไทย

โอชาจะหาไหน   ไม่มีเทียบเปรียบมือนาง

◉ หมูแหนมแหลมเลิศรส   พร้อมพริกสดใบทองหลาง

พิศห่อเห็นรางชาง   ห่างห่อหวนป่วนใจโหย

อย่างไรก็ตาม นอกจากพริกไทยและพริกเทศแล้ว เรายังมีพืชสมนุนไพรให้ความเผ็ดอีกหลายชนิด เช่น ดีปลี กานพลู มะแขว่น เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2551). อาหารไทย มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : นาตาแฮก.

กฤช เหลือลมัย, waymagazine. เผ็ดร้อนแห่งผองเรา. 16 มกราคม 2560. จาก https://waymagazine.org/krit_01/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2567