พบสาวเกาหลีแห่งอาณาจักรชิลลาอาจเคยกิน “มันฝรั่ง” ก่อนโคลัมบัสพบอเมริกา?

ภูเขา ต้นไม้ ธรรมชาติ
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาดทิวทัศน์ป่าเขาลำเนาไพรในเกาหลี วาดโดย Kim Su-gyu

อาณาจักรชิลลา (Silla Kingdom) เป็นอาณาจักรโบราณตั้งอยู่บนคาบสมุทรเกาหลี มีอายุอยู่ในช่วงปีที่ 57 ก่อนคริสตกาล จนถึง ค.ศ. 935 ถือเป็นอาณาจักรโบราณที่อายุยืนเกือบพันปี ทำให้อิทธิพลทางวัฒนธรรมของอาณาจักรโบราณแห่งนี้ยังคงหลงเหลือมาถึงเกาหลีในยุคปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน แม้ “อาณาจักรชิลลา” จะมีช่วงเวลาที่ปกครองคาบสมุทรเกาหลีเป็นเวลานาน แต่หลักฐานเกี่ยวกับพิธีศพหรือโครงกระดูกที่สมบูรณ์ของผู้อื่นในยุคดังกล่าว มักไม่มีหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยผลจากคุณลักษณะจำเพาะของสภาพดินในเกาหลี ทั้งนี้จากคำกล่าวของ ดง ฮุน ชิน (Dong Hoon Shin) นักมานุษยวิทยาชีวภาพ จากวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาแห่งชาติกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ (Live Science)

จนกระทั่งเมื่อปี 2013 นักวิจัยได้ขุดพบโครงกระดูกร่วมสมัยกับอาณาจักชิลลา เป็นของหญิงอายุ 30 ปลายๆ สภาพเกือบสมบูรณ์ที่สุสานแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองเคียงจู (Gyeongju) เมืองหลวงของอาณาจักร จากการศึกษาพบว่าเธอเป็นมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดตามแนวทางของศาสนาพุทธที่มีอิทธิพลอย่างมากในอาณาจักรสมัยนั้น

แต่การที่งานวิจัยของนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวระบุว่า หญิงรายนี้บริโภคพืชชนิด C3 โดยยกตัวอย่างว่าประกอบด้วย “ข้าวสาลี, ข้าว และมันฝรั่ง” มากกว่าพืชชนิด C4 เช่น ข้าวโพด หรือข้าวฟ่าง อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปว่า หญิงผู้มีชีวิตเมื่อนับพันปีที่แล้วเคยกินมันฝรั่งตั้งแต่ก่อนที่โคลัมบัสจะเดินทางไปพบกับทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1492 (พ.ศ. 2035)!!!

(การจัดแบ่งชนิดพืชเป็น C3 หรือ C4 เป็นเพียงการจำแนกชนิดพืชด้วยผลที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชชนิดต่างเท่านั้น ซึ่งพืช C3 มักพบมากในเขตหนาว ส่วน C4 จะพบมากในเขตร้อน)

แต่มันฝรั่งถือเป็นพืชประจำถิ่นแถบเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ เริ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์โดยชนพื้นเมืองราว 1,800 ปีก่อน เมื่อชาวยุโรปเข้าไปยังทวีปอเมริกาใต้ในปลายศตวรรษที่ 15 มันฝรั่งจึงถูกนำมายังยุโรปในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 16 จากนั้นจึงได้กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของโลก

ด้วยเหตุนี้ โอกาสที่สาวเกาหลีจากอาณาจักรชิลลาจะเคยกินมันฝรั่งถือว่ามีน้อยมากๆ (แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย) ซึ่งจริงๆแล้ว นักวิจัยคงไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่า ร่องรอยที่พบจากไอโซโทปเสถียรมาจากพืชชนิดใดแน่ จึงได้แต่ระบุประเภทไปอย่างกว้างๆ แต่บังเอิญยกตัวอย่างพืชที่ไม่น่าจะพบในคาบสมุทรเกาหลีไปด้วย จึงอาจทำให้ผู้อ่านบางคนเข้าใจผิดได้ หากมิได้พิจารณาดูให้ดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Bio-Anthropological Studies on Human Skeletons from the 6th Century Tomb of Ancient Silla Kingdom in South Korea”. PLOS ONE <http://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371%2Fjournal.pone.0156632#sec017>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2560