“วารุณี” หรือสุราเทวี เทพีแห่งสุรา ชายาพระวรุณ

ประติมากรรม วารุณีเทวี สุราเทวี

ทัศนะต่อ “สุรา” หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายของผู้คนแปรเปลี่ยนไปตามกาลสมัย แต่ในอดีต สังคมฮินดูเคยยกย่องสุราถึงขนาดมีเทวีประจำสิ่งมึนเมานี้ นั่นคือเทพี “วารุณี” หรือสุราเทวี

ประติมากรรม วารุณีเทวี สุราเทวี
ประติมากรรมวารุณีเทวี รัฐโอริสสา อินเดีย (ภาพโดย Prateek Pattanaik จาก National Museum New Delhi)

“วารุณี” เทพีแห่งสุรา

ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เล่าไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับ 27 ม.ค. – 2 ก.พ. 2560) ว่า มนุษย์ค้นพบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากของหมักดองก่อน เมื่อดื่มกินแล้วได้ความรู้สึกแปลกประหลาดจากภาวะมึนเมา คล้ายติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติบางอย่างได้ เกิดเป็นเรื่องเล่าว่านี่เป็นสภาวะที่พวกเขาสามารถเข้าถึงเทพเจ้าหรือผีบรรพชน สุราในสมัยโบราณจึงกลายเป็นเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์

ในศาสนาผีซึ่งเป็นศาสนาแรกเริ่มของมนุษย์แทบทุกวัฒนธรรมบนโลกไม่เคยมีปัญหากับเครื่องดื่มมึนเมา ทั้งเรียกได้ว่าเป็นของที่ขาดไม่ได้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ยกตัวอย่างร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในบ้านเราทุกวันนี้ เช่น เครื่องเซ่นผี ที่มักประกอบด้วยของ 3 อย่าง ได้แก่ สัตว์ (โดยมากมักเป็นไก่) ข้าว และขาดไม่ได้ “สุรา”

ศาสนาผีทั่วโลกล้วนใช้เหล้าเป็นส่วนสำคัญในการเซ่นสรวง ฝรั่งจึงเรียกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า “สปิริต” (Spirits) คือมันมีจิตวิญญาณอยู่ด้วย

ในศาสนาฮินดู ยุคพระเวท พราหมณ์จะเสพ “น้ำโสม” (Soma) และคั้นถวายเทพเจ้า วิเคราะห์กันว่า น้ำโสมที่ว่าทำจากพืชเมา อาจจะเป็นหญ้าหรือเห็ดบางชนิด แต่ข้อสรุปที่ค่อนข้างแน่ชัดคือมันมีฤทธิ์ทำให้เมาแน่ ๆ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะอธิบายมุมมองของคนสมัยโบราณต่อสุราว่าไม่ได้มองเป็นสิ่งน่ารังเกียจสถานเดียวมาแต่แรก ทั้งยังถือเป็นน้ำ “อมฤต” ด้วย แม้ทุกวันนี้ท่าทีของคนฮินดูต่อเครื่องดื่มมึนเมาจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม ยิ่งไม่ต้องพูดถึงศาสนาพุทธที่ให้การละเว้นจากการดื่มสุราเป็นหนึ่งในศีลพื้นฐาน 5 ข้อเลยทีเดียว

ในอดีต นอกจากน้ำโสมแล้วคนฮินดูยังทำสุราประเภทอื่น ๆ ทั้งแบบกลั่นและหมัก ที่สำคัญคือมีเทวีประจำสุราคือ “วารุณี” หรือสุราเทวี โดยชื่อวารุณีนั้นแปลตรงตัวว่า ชายาของพระวรุณ (พระพิรุณ) เทพแห่งน้ำในศาสนาฮินดู

พระวรุณ พระพิรุณ
พระวรุณ หรือพระพิรุณ (ภาพจาก British Museum)

ตามเทวตำนาน วารุณีเทวีเกิดจากเหตุการณ์การกวนเกษียรสมุทรทะเลน้ำนมเพื่อสร้างน้ำอมฤตของเทพและอสูร พระนางอุบัติขึ้นพร้อมพระหัตถ์ถือโถสุรา เป็นลำดับที่ 11 ถัดจากพระลักษมี (ชายาพระวิษณุ) ก่อนจะสยุมพรหรือเลือกคู่กับพระวรุณ วารุณีเทวียังเป็นเทพีผู้อุปถัมภ์การพยากรณ์ ทั้งถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในคณะ 64 โยคินี ในศาสนาฮินดูอีกด้วย

กวนเกษียรสมุทร ทะเลน้ำนม
การกวนเกษียรสมุทรทะเลน้ำนม (ภาพจาก Wikimedia Commons)

จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า วารุณีเทวีมักปรากฏอยู่ร่วมกับท้าวกุเวรและพระลักษมี ซึ่ง ศ. ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี ตีความว่า เป็นเพราะทั้ง 3 พระองค์ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขขั้นพื้นฐานของคนอินเดียโบราณ นั่นคือ เงินทอง (ท้าวกุเวร) โชคลาภ (พระลักษมี) และการดื่มกิน (พระวารุณี)

เมื่อศาสนาฮินดูเปลี่ยนคติให้การดื่มสุรากลายเป็นบาป การบริโภคสุราในอินเดียจึงเป็นไปอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ แต่ยังคงใช้เหล้าอยู่ในพิธีกรรมในฐานะเครื่องบูชาเทพเจ้า พร้อมกับภาพลักษณ์ของสุราเทวีที่ค่อย ๆ เลือนหายไปหลบเร้นอยู่กับศาสนพิธีเป็นหลัก

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2567