อาร์ทีมิส เทพีเพศพรหมจรรย์และการให้กำเนิด (ขัดกันไหม?) มี “สิบเต้า” จริงหรือ?

อาร์ทีมิส เทพี เทพปกรณัมกรีก
ภาพเทพีอาร์ทีมิส (ไดอานา) แห่งอีเฟซุส โดย Joseph Werner ศิลปินชาวสวิสในยุคศตวรรษที่ 17 (ปัจจุบันภาพจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก)

อาร์ทีมิส เทพีเพศพรหมจรรย์และการให้กำเนิด (ขัดกันไหม?) มี “สิบเต้า” จริงหรือ?

อาร์ทีมิส เป็นเทพเจ้าหญิงใน “เทพปกรณัมกรีก” (หรือ “ไดอานา” ในเทพปกรณัมโรมัน) ฝาแฝดของเทพอพอลโล ซึ่งเป็นบุตรแห่งซุสและไททันชื่อว่าเลโต เธอได้รับการนับถือในฐานะเทพีแห่งดวงจันทร์ และการล่าสัตว์ นอกจากนี้ เธอยังเป็นเทพีแห่งการถือเพศพรหมจรรย์และการให้กำเนิด ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนจะไม่เข้ากันยังไงชอบกล

เหตุที่เป็นเช่นนั้น คงเป็นเพราะก่อนที่นางจะมาเป็นเทพี ท้องถิ่นต่างๆ ล้วนมีเทพีแห่งผืนป่า การล่าสัตว์ หรืออะไรต่อมิอะไร ก่อนที่ความเชื่อในเทพีอาร์ทีมิสแบบกรีกจะแผ่กระจายไปถึงท้องถิ่นนั้นๆ และหลอมรวมความเชื่อเดิมเข้าไปกับความเชื่อใหม่

Advertisement

ลักษณะเช่นนี้ทำให้คุณสมบัติของเทพและเทพีแต่ละองค์ของกรีกมีความหลากหลายมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบบความเชื่อแบบพหุเทวนิยม เช่นเดียวกับเทพฮินดูในอินเดีย (แต่ถ้าเป็นระบบความเชื่อแบบเอกเทวนิยม การนำเสนอเทพในความเชื่อนั้นๆ ผิดแผกไปจากวิถีปกติถือเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากความเชื่อที่ถูกต้องมีได้เพียงหนึ่งเดียว)

รูปปั้นเทพีอาร์ทีมิสในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (By Michael Button from Norwich UK, England (Copenhagen views May 2013) [CC BY 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/2.0)], via Wikimedia Commons)
รูปปั้นเทพีอาร์ทีมิส ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (By Michael Button from Norwich UK, England)
เทพีอาร์ทีมิส ใน “เทพปกรณัมกรีก” ที่เรามักเห็นบ่อยๆ จะอยู่ในรูปเด็กสาวสวมผ้าคลุมสั้นเหนือเข่าดูทะมัดทะแมง บางครั้งก็จะถือธนูและสะพายกระบอกธนู แต่ อาร์ทีมิส ยังมี “ปาง” ที่ต่างไปจากรูปลักษณ์ปกติ นั่นคือเทพีอาร์ทีมิสแห่งอีเฟซุส เมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียไมเนอร์ในยุคคริสต์ศตวรรษแรก (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศตุรกี)

อาร์ทีมิสแห่งอีเฟซุส ปรากฏในท่ายืนตรงขาชิดเหมือนถูกมัดไว้ สวมเครื่องทรงศีรษะแบบเมโซโปเตเมีย และยังมี “นม” จำนวนมากนับสิบเต้า แสดงให้เห็นว่า ในอีเฟซุส เทพีองค์นี้ถูกเน้นย้ำถึงความสำคัญในด้าน “การเจริญพันธุ์” ยิ่งกว่า “การรักษาพรหมจรรย์”

By Murray, A. S. (Alexander Stuart), 1841-1904 [No restrictions], via Wikimedia Commons
อาร์ทีมิสแห่งอีเฟซุส By Murray, A. S. (Alexander Stuart), 1841-1904
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีนักวิชาการหลายรายออกมาโต้แย้งว่า สิ่งที่ห้อยย้อยเป็นพวงๆ บริเวณตั้งแต่หน้าอกลงมาของเทพีอาร์ทีมิสแห่งอีเฟซุส แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ “นม” แต่น่าจะเป็น “อัณฑะวัว” ที่ผู้คนนำมาบูชาให้กับเธอมากกว่า บ้างก็ว่าน่าจะเป็น “ไข่ผึ้ง” ด้วยชาวกรีกเชื่อกันว่า ผึ้งสามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้โดยไม่อาศัยการร่วมเพศ จึงสอดคล้องกับความเชื่อในเรื่องพรหมจรรย์ของเทพีอาร์ทีมิสด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าความเห็นเรื่องวัตถุที่ห้อยย้อยจากหน้าอกของเทพีอาร์ทีมิสจะยังไม่ต้องตรงกันว่าเป็นสิ่งใดแน่ แต่สัญลักษณ์ทั้งสามประการที่ถูกอ้างถึงต่างก็สื่อถึงการเจริญพันธุ์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตของผู้คนในยุคโบราณทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2559