“ไททัน” ในปกรณัมกรีก “พ่อไม่ชอบลูก-ลูกโค่นพ่อ” วนไป!

ไททัน เทพไททัน ใน สงคราม เทพโอลิมเปียน ปกรณัมกรีก
เทพไททันในสงครามกับเหล่าเทพโอลิมเปียน, วาดโดย Jacob Jordaens ราวปี 1636-1638 (Wikimedia Commons)

ไททัน (Titans) เทพยักษ์ร่างมโหฬารแห่ง ปกรณัมกรีก ผู้ปกครองสรวงสวรรค์ ณ เขาโอลิมปัส ก่อนยุคของเหล่าเทพโอลิมเปียนที่เราคุ้นชื่ออย่าง ซุส (Zeus) และอื่น ๆ “ไททัน” ไม่ใช่ชื่อเทพองค์ใดองค์หนึ่ง พวกเขามีด้วยกันถึง 12 องค์ จำนวนเดียวกับ 12 เทพโอลิมเปียนยุคถัดมา ไททันยังถือได้ว่าเป็น “ปฐมเทวะ” หรือเทพเจ้ารุ่นแรก ๆ ในยุคปฐมกาลตำนานกรีก เป็นทายาทของ “สวรรค์” และ “พิภพ” อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็เป็นเทพเจ้าที่มีชะตากรรมอันน่ารันทดไม่น้อย เหตุใดจึงกล่าวเช่นนั้น? ไปติดตามเรื่องราวของเทพยุคบรรพกาลเหล่านี้กัน…

ชาวกรีกโบราณไม่ได้เชื่อว่าทวยเทพสร้างจักรวาล พวกเขาเชื่อว่าเทพเจ้าถือกำเนิดมาจากจักรวาล ก่อนการอุบัติของเทพทั้งหลาย สรวงสวรรค์และผืนพิภพดำรงอยู่ก่อนแล้ว โดย สวรรค์-ท้องฟ้า คือ อูรานอส หรือยูเรนัส (Uranus) ส่วนผืนพิภพคือ ไกอา (Gaea) หรือ “พระแม่ธรณี” ทั้งคู่ให้กำเนิดทายาทซึ่งต่อมาจะกลายเป็นทวยเทพที่ปกครองโลกและจักรวาลรุ่นแรก นั่นคือ เหล่าไททัน 

แต่หากเรื่องราวทุกอย่างราบเรียบ บัลลังก์ของเทพอูรานอสถูกส่งต่อให้เหล่าไททันแบบ “รุ่นสู่รุ่น” ปกรณัมกรีก คงจืดชืดและไม่ยืนยงจนถูกเล่าขานข้ามยุคข้ามสมัยเช่นนี้เป็นแน่

การจองจำในทาทารัส กับยุคแห่ง “ไททัน”

หลังพระแม่ธรณีไกอาให้กำเนิดเหล่าไททัน อันประกอบด้วยโอรส 6 องค์ และธิดา 6 องค์ พวกเขามีร่างกายใหญ่มหึมาและกำลังวังชาอันมหาศาล สร้างความหวาดหวั่นให้บิดาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสถานะของอูรานอสคือราชาเหนือเทพทั้งมวล สถานะของพระองค์สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด และสำคัญยิ่งกว่าสวัสดิภาพของเหล่าบุตร-ธิดาของพระองค์ด้วย เทพไททันทั้ง 12 จึงถูกอูรานอส “เขวี้ยง” จากยอดเขาโอลิมปัสลงไปยังขุมนรก “ทาทารัส” ที่ดำมืดและลึกสุดหยั่ง สถานที่จองจำลูก ๆ ที่อูรานอสคิด (ไปเอง) ว่าเป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์ของพระองค์

ที่ทาทารัส ไททันถูกจองจำร่วมกับ “พี่ ๆ” ของพวกเขา… 12 ไททันไม่ใช่ทายาทรุ่นแรกที่ถูกขังลืมในขุมนรกแห่งนี้ เพราะยังมี เฮคาทอนเคียร์ (Hecatoncheires) หรือเฮคาทอนเคเรส อสุรกาย 50 หัว 100 มือ 3 ตน และ ไซคลอปส์ (Cyclopes) ยักษ์ตาเดียว อีก 3 ตน เหล่านี้ล้วนเป็นลูก ๆ ของอูรานอสกับไกอาทั้งสิ้น แต่พวกเขามีรูปกายอัปลักษณ์น่ากลัวผิดไปจากทวยเทพที่ควรจะสง่างามจึงถูกผลักไสมายังที่แห่งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากไม่นับขนาดตัวอันมโหฬารของเหล่าไททัน พวกเขาคือเทพที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุดแล้ว

ชื่อเสียงเรียงนามของ ไททัน ทั้ง 12 ประกอบด้วย เทพชาย ได้แก่ โอเชียนัส (Oceanus) โคเออัส (Coeus) ไครอัส (Crius) ไฮเพอเรียน (Hyperion) ไออาเพธัส (Iapetus) และโครนัส (Cronus) กับเหล่าเทพี ได้แก่ ธีอา (Theia) เรอา (Rhea) เธมิส (Themis) เนโมซิน (Mnemosyne) ฟีบี (Phoebe) และเทธิส (Tethys)

อันที่จริงพระแม่ธรณีไกอาไม่พอพระทัยพระสวามีอย่างยิ่งที่กระทำการอันเลวร้ายกับเหล่าบุตรและธิดาทุก ๆ รุ่นของพระนาง แต่ไม่อาจห้ามปรามได้ พระนางจึงคิดวางแผนให้เหล่าลูก ๆ ก่อการโค่นล้มอูรานอสเสีย เพื่อปลดปล่อยพวกเขาทั้งหมดให้เป็นอิสระจากการกุมขังนี้ 

พระนางเสด็จมายังขุมรกทาทารัสแล้วหว่านล้อมลูก ๆ พร้อมยืนยันว่าจะสนับสนุนและช่วยเหลือพวกเขา แต่ลูกทั้ง 3 “สปีชีส์” ไม่เอาด้วยกับแผนการของนาง แม้พวกเขาจะโกรธแค้นในสิ่งที่อูรานอสกระทำ แต่ยังหวั่นเกรงพลังอำนาจของบิดาอยู่ 

ในห้วงเวลาแห่งความสิ้นหวังของพระนางไกอา โครนัส บุตรคนเล็กในกลุ่ม 12 ไททัน คือผู้เดียวที่ยอมรับข้อเสนอของมารดา เขาขอลองต่อกรกับอูรานอสดูสักตั้ง ความกล้าของโครนัสสร้างความประทับใจแก่เทพมารดาอย่างยิ่ง นางมอบ “เคียว” ให้ลูกชายองค์เล็กผู้องอาจ เคียวนี้ยังกลายเป็นศาสตราวุธคู่กายเทพโครนัสในเวลาต่อมาด้วย

เมื่อสองมารดา-บุตร ตกลงแผนการโค่นล้มอูรานอสเสร็จสรรพ พระนางไกอานำโครนัสมาซ่อนตัวอยู่ในเทววิมานบนยอดเขาโอลิมปัสและเฝ้ารอจนห้วงราตรีมาบรรจบ มหาเทพอูรานอสเสด็จมายังที่บรรทมเพื่อร่วมหลับนอนกับพระนาง โครนัสซึ่งเร้นกายอยู่จึงโผเข้าหาบิดาหวังปิดบัญชีแค้นทันที เกิดการต่อสู้ที่สะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วสรวงสวรรค์ ด้วยพละกำลังของไททันกับเคียววิเศษ โครนัสประสบชัยชนะในศึกนี้ แถมฟัน “อวัยวะเพศ” ของบิดาจนขาดร่วงหล่นลงสู่มหาสมุทร ด้วยความเคียดแค้นและชิงชัง อูรานอสทิ้งคำสาปแช่งแก่โครนัสไว้ว่า เขาจะต้องถูกบุตรชายโค่นล้มอำนาจเช่นเดียวกัน แล้วอูรานอสก็จากไป

หลังยึดราชบัลลังก์และขับไล่บิดาสำเร็จ เทพไททันโครนอสเถลิงราชย์เป็นเทวราชาแห่งโอลิมปัส พระองค์ปลดปล่อยพี่-น้องไททันจากขุมนรกทาทารัส พร้อมอภิเษกสมรสกับเทพีเรอา พี่สาวของตน แล้วเริ่มยุคสมัยแห่งการปกครองโลก สวรรค์ และจักรวาล ของเหล่าไททัน 

พระแม่ธรณีไกอามาขอให้โครนัสปลดปล่อยลูก ๆ อสุรกายของพระนางจากทาทารัสด้วย แต่ถูกโครนัสปฏิเสธ เพราะหวาดกลัวว่าจะถูกพี่ ๆ ชิงราชบัลลังก์ ด้วยเหตุนี้ พระแม่ธรณีไกอาจึงผูกใจเจ็บและเฝ้ารอหาวิธีปลดปล่อยโอรสสองรุ่นแรกของพระนางอยู่อย่างเงียบ ๆ ตลอดมา

ศึกไททัน

กงล้อแห่งโชคชะตาเข้าข้างพระแม่ธรณีไกอา คำสาปแช่งของอูรานอสไม่เคยหายไปจากความคิดของมหาเทพโครนัส พระองค์หวาดระแวงลูก ๆ ทุกองค์ที่เกิดจากเทพีเรอา ทายาทองค์แล้วองค์เล่าที่เทพีเรอาให้กำเนิดถูกโครนัสกลืนลงท้องทันที โดยพระนางไม่อาจขัดขืนอำนาจของพระสวามี มหาเทพโครนัสรู้ดีว่าขุมนรกทาทารัสไม่ใช่สถานจองจำที่แน่นหนาพอจะปิดกั้นลูก ๆ ไปตลอดกาล เพราะพระองค์เองก็เคยอยู่ที่นั่นก่อนโค่นล้มบิดา เทพและเทพีองค์น้อย 5 องค์จึงถูกกลืนลงท้องและจองจำอยู่ในร่างกายอันมหึมาของโครนัสแทน

เมื่อให้กำเนิดโอรสองค์ที่ 6 เทพีเรอาตัดสินใจหาวิธีช่วยให้โอรสองค์น้อยรอดพ้นความโหดเหี้ยมของโครนัส พระนางนำหินก้อนใหญ่ห่อผ้าหวังหลอกล่อให้โครนัสเข้าใจว่านั่นคือโอรสแรกเกิดของพระองค์ หินก้อนนั้นจึงถูกกลืนลงไปโดยที่มหาเทพไม่รู้เลยว่าโอรสองค์น้อยตัวจริงถูกนำไปไว้ในการดูแลของเหล่านางไม้-นางพราย ที่ช่วยกันเลี้ยงดูในพื้นที่ห่างไกลหูตาของพระองค์

เรอา กับ โครนัส, วาดโดย Karl Friedrich Schinkel (ภาพจาก Wikimedia Commons)

พระกุมารมีนามว่า “ซุส” พระองค์ถูกเหล่านางไม้เลี้ยงดูจนเติบใหญ่เป็นเทพหนุ่มพลังแก่กล้า เรื่องราวของซุสอยู่ในการรับรู้ของพระแม่ธรณีไกอาตลอดมา เมื่อพระนางเห็นว่าหลานชายเติบใหญ่จึงเริ่มแผนการโค่นบัลลังก์มหาเทพแห่งโอลิมปัสอีกครั้ง โดยเข้ามาอธิบายเรื่องราวทั้งหมด พร้อมเสนอให้ซุสโค่นบัลลังก์บิดาของตนและช่วยเหลือพี่ ๆ ที่อยู่ในท้องของโครนัสด้วย

ซุสจึงวางแผนกับเหล่านางไม้ ช่วยกันปรุงยาที่มีฤทธิ์ทำให้บิดาสำรอกพี่ ๆ ในท้องออกมา เทพีเรอาร่วมช่วยเหลือด้วยการนำยานั้นไปถวายให้โครนัสด้วยตนเอง ขั้นตอนทั้งหมดสำเร็จลุล่วง โอรส-ธิดาทั้ง 5 ได้แก่ โพไซดอน (Poseidon) เฮเดส (Hades) เฮสเทีย (Hestia) ดีมิเตอร์ (Demeter) และเฮรา (Hera) รวมถึงหินก้อนนั้นถูกปล่อยออกมา 

มหาเทพโครนัสผู้อ่อนเพลียหลังการ “สำรอก” ครั้งใหญ่ ถูกโอรสองค์เล็กบุกเข้ามาต่อสู้แบบไม่ทันตั้งตัว เทพไททันจึงพ่ายแพ้แก่ซุส โครนัสหลบหนีไปรวบรวมกำลังเหล่าพี่ ๆ และหลาน ๆ ไททันทั้งหลาย เพื่อกลับมาทำสงครามกับซุสและพวก เกิดเป็นมหาสงครามระหว่างเทพโอลิมเปียนยุคใหม่กับเหล่าเทพไททัน

ฝ่ายไททันนำทัพโดย แอตลาส (Atlas) อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ไททันทั้งหมดที่เข้าร่วมในสงครามนี้ ยังมีบางส่วนที่ไม่อยากมีส่วนร่วมในสงครามประหัตประหารของหมู่ญาติ ได้แก่ เทพีไททันทั้งหลาย เทพโอเชียนัส และไททันฝาแฝด โพรเมธิอุส กับ เอพิเมธีอุส กระนั้น ฝ่ายไททันกุมความได้เปรียบในสงครามช่วงแรก ๆ ซุสจึงพลิกเกมด้วยการชักจูงให้โพรเมธิอุสมาร่วมกับฝ่ายเทพโอลิมเปียนรุ่นใหม่ รวมถึงปลดปล่อยยักษ์ไซคลอปส์และอสุรกายเฮคาทอนเคียร์มาช่วยรบ

ไซคลอปส์ที่ผูกใจเจ็บน้องชายของตนจึงสร้างอาวุธให้หลาน ๆ เพื่อเสริมพลังในสงครามใหญ่นี้ ได้แก่ สายฟ้าของซุส ตรีศูรของโพไซดอน และหมวกล่องหนที่เฮเดสสวมระหว่างแอบลอบไปทำลายอาวุธของเหล่าไททัน ส่วนอสุรกายเฮคาทอนเคียร์คอยซุ่มโจมตีพวกไททันจากบนเขาสูงและทุ่มก้อนหินลงมาเรื่อย ๆ จนเหล่าไททันแตกตื่นและพ่ายแพ้ในสงครามไปในที่สุด

หลังมหาสงครามของเหล่าทวยเทพครั้งนั้น ไททันที่มีส่วนในสงครามนี้รวมถึงโครนัสถูกลงโทษด้วยการถูกส่งไปคุมขังในขุมนรกทาทารัส (อีกแล้ว) ส่วนแอตลาส ซึ่งมีร่างกายใหญ่มหึมาที่สุด ถูกลงโทษให้ไป “แบกโลก” ตลอดกาล นับเป็นการเริ่มต้นยุคที่ ซุส คือมหาเทวราชาแห่งโอลิมปัสอย่างแท้จริง และจบยุคสมัยของเทพไททันอย่างสมบูรณ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เอดิธ แฮมิลฮัน; แปลโดย นพมาส แววหงส์. (2564). ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพและวีรบุรุษกรีก-โรมัน-นอร์ส. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

Marian Vermeulen, The Collector (Apr 12, 2020) : Greek Titans: Who Were The 12 Titans In Greek Mythology? <https://www.thecollector.com/greek-titans/>

GreekMythology.com (Retrieved Mar 2, 2023) : Titans :: The Original Greek Gods. <https://www.greekmythology.com/Titans/titans.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2566