สำนวน “เจ้าชู้ประตูดิน” มีที่มาจากไหน?

ฉาก เกี้ยวพาราสี ใน จิตรกรรมฝาผนัง ภายใน อุโบสถ วัดวัง พัทลุง
ฉากเกี้ยวพาราสีในจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4

“เจ้าชู้ประตูดิน” คำนี้มีที่มาจากไหน? เกี่ยวอะไรกับ “ประตูดิน”?

“ประตูดิน” เป็นคำปากชาวบ้านเรียกประตูวัง ซึ่งทางเดินเข้าออกตรงประตูนี้แต่เดิมคงจะเป็นทางเดิน ไม่มีอะไรปูพื้น เมื่อสมัยอยุธยาเป็นราชธานีเป็นประตูชั้นนอก ชื่อ ประตูบวรนารีมหาภพชนม์ ดังปรากฏในจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงภูมิสถานในอยุธยาว่า

“ด้านอุดร แต่ป้อมมาถึงปตูบวรนารีมหาภพ ชนม์คือปตูดิน 1”

ประตูนี้ตรงกับประตูชั้นในชื่อ อุดมนารี

ระหว่างประตูสองประตูนี้มีตลาดขายของสดทั้งเช้าและเย็น เพื่อขายแก่ชาววัง ดังปรากฏในจดหมายเหตุฯ ว่า

“ถนนนี้เลี้ยวไปหัวสิงห์หน้าพระฉนวนใหญ่ มีกำแพงคั่น มีปตูอุดมนารียออกไปตลาดขายของสดเช้าเยนตรงในปตูดินเข้ามา”

มีวังที่ไหนจะต้องมีประตูดินที่นั่น (เพราะว่าคนจะต้องเข้าออก และคงจะเป็นทางดินอย่างว่า) ไม่ใช่มีแต่วังหลวง วังหน้าก็มี จดหมายเหตุกล่าวไว้ว่า

“มีตลาดขายของสดเช้าเยนอยู่ในย่านวัดฝาง 1 ย่านปตูดินวังจันทน์มีตลาดขายของสดเช้าเยน 1”

เรียกว่า มีประตูดินที่ไหนก็ต้องมีตลาดสดที่นั่น เพราะคนในวังก็ต้องกินเหมือนกับคนนอกวัง

ในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์เรานี่ก็มีประตูดินหมือนกัน ในหนังสือ “ทำเนียบนามภาค 1” บอกว่าประตูดินคือ ประตูอนงค์ลีลา แต่จากปากคำของคนเก่าๆ ในวัง ซึ่งเรียกสืบกันมาว่า ประตูศรีสุดาวงศ์ เป็นประตูวังชั้นใน ซึ่งตรงกับประตูชั้นนอกที่ชื่อ “ประตูช่องกุด” น้ำหนักแห่งความถูกต้องดูจะเป็นประตูนี้มากกว่าเพราะเป็นทางออกไปตลาด (สด) โรงโม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทำการของกรมการค้าภายใน

อย่างไรก็ตาม พอสรุปความได้ว่า ประตูดิน เป็นทางออกของพวกวิเสท (คนทำครัว) และนางในออกมาจ่ายตลาด

นางลาวทอง เมียขุนแผน เมื่อพ้นโทษออกจากวังก็ออกประตูนี้

“จะกล่าวถึงสมเด็จพระพันวษา   ตรัสเรียกลาวทองมาขมีขมัน
อ้ายพลายงามอาสามันกล้าครัน   แล้วทูลขอพ่อมันพ้นจากคุก

มึงทรมานมากว่าสิบปี   กูเห็นมึงนี้ไม่สุข
จะโปรดยกโทษให้พ้นทุกข์   อย่าปักสดึงกรึงกรุกเร่งออกไป

ลาวทองได้ฟังรับสั่งโปรด   ปราโมทย์ยินดีจะมีไหน
ถวายบังคมลามาทันใด   ออกไปกราบลาหม่อมป้าโต

เพื่อนฝูงร้องไปจะได้ลาภ   ค่อยกระซิบกระซาบนางมิโหว่
นางสีนางพรมแม่ส้มโอ   เพื่อนฝูงอักโขจะลาไป

แล้วลาเจ้าขรัวนายกรายเข้าห้อง   หวีหัวกระจกส่องน้ำมันใส่
ทั้งกระแจจันทน์ปรุงจรุงใจ   หวังจะให้ชื่นชมอารมณ์ชิด

นุ่งยกดอกกลมห่มม่วงอ่อน   เทพพนมห่มซ้อนดูวิจิตร
ก้มแลดูกายไม่วายคิด   ใส่จริตเยื้องย่างสำอางงาม

จัดแจงหีบหมากเครื่องนากทอง   ถาดรองขันน้ำทำอย่างห้าม
ใส่เครื่องประดับวับแวมวาม   ออกประตูข้างข้ามประตูดิน

ก็เมื่อมีผู้หญิงแล้ว ไฉนเล่าจะไร้ผู้ชาย และหนำซ้ำเป็นชาววังเสียด้วย ไปถึงไหนก็หอมถึงนั่น นั่งตรงไหนกลิ่นก็ติดตรงนั้นสุนทรภู่ก็ยังว่า

“พวกสาวสาวชาววังรังกะตุ๋ย
ยังหอมฉุยฉูดฉาดไม่ผาดโผน”

เพราะเช่นนั้นที่หน้าประตูดินจึงยั้วเยี้ยไปด้วยบรรดาหนุ่มเจ้าชู้ และก็คงเป็นประเภทเจ้าชู้ไก่แจ้กรีดไปกรายมา เพราะหนุ่มชาวบ้านกับสาวชาววังนั้นศักดิ์ศรีมันไกลกันนัก แต่ก็เอาเถอะไม่ได้กินดมกลิ่นก็ยังดี เลยเป็นที่มาของสำนวน เจ้าชู้ประตูดิน

บทบาทพวก “เจ้าชู้ประตูดิน” นั้นเป็นอย่างไร วิเคราะห์เอาได้จากเพลงลิเกแต่ก่อนซึ่งมีร้องกันอยู่เสมอ

“ชาติเจ้าชู้ประตูดิน   หมูหมาเกี้ยวสิ้นไม่เลือกหน้า…”

เป็นบทร้องแก้เกี้ยวตัวนาง ซึ่งเป็นเพียงคำขึ้นต้น ส่วนจะลงอย่างไรแล้วแต่สถานการณ์ของเรื่อง ถ้าสถานการณ์เบาหน่อยก็จะลง “จงหลีกไปให้พ้นคนจะนินทา” หรือ “จงดมแต่กลิ่นไปเถิดพ่อจนกว่าจะมรณา” แต่ถ้าสถานการณ์หนักก็จะด่าสาดไปเลย

“อันนาคีมีฤทธิ์   ย่อมไม่ภิรมย์สมสนิทกับงูป่า
อีกพญาไกรสร   ย่อมไม่สมจรกับหมูหมา
เราเชื้อชาติราชหงษ์   ไม่ต้องสมพงษ์กับกา”

(ต้องขอแทรกอธิบายตรงนี้สักนิดว่า กลอนลิเกนั้นจะร้องยืดยาวไปอย่างไรก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องร้อง 2 คำ จึงจะครบ 1 บท เช่น “ยามบุญมากาไก่กลายเป็นหงษ์ ยามบุญลงหงษ์เป็นกาน่าฉงน คนเราจะหมดงามก็เพราะความจน” อย่างนี้เป็นบทหนึ่ง ตามภาษาพูดเรียก “ขึ้นคำ ลงคำ” ไม่ใช่ร้องคำเดียวอย่างที่หนังสือลิเกบางเล่มอธิบาย)

ในขุนช้างขุนแผน พระพันวษาก็ด่าขุนนางชั่วๆ หนักอย่างนี้เหมือนกัน

“อ้ายชาติหมากาลีเห็นขี้เสือ
วิ่งแหกแฝกเฝือไม่แลเหลียว
ดีแต่จะเย่อหยิ่งนั้นสิ่งเดียว
ลอยหางลากเกี้ยวประตูดิน

ดังนั้น คำด่า “เจ้าชู้ประตูดิน” มีเค้ามาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว เพราะเสภาขุนช้างขุนแผนแต่งในสมัยรัชกาลที่ 2

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2560