ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ช่วยยืนยันว่า Golden Boy ประติมากรรมสำริดที่ไทยได้คืนจาก The MET เป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของช่างแห่งลุ่มน้ำมูล ที่ราบสูงโคราช หรือ “อีสานใต้” คือเทคนิคการสร้างอันโดดเด่น โดยเฉพาะการหล่อโลหะ “สำริด”
เพราะดินแดน “อีสานใต้” มีร่องรอยของชุมชนโบราณอายุนับพัน ๆ ปี รวมถึงการพบโบราณวัตถุที่เป็นประติมากรรม “สำริด” จำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ
ประติมากรรมสำริดในอีสานใต้หลายชิ้นมีขนาดใหญ่ สะท้อนเทคนิคชั้นสูงในการสร้าง ทั้งพระพุทธรูปและเทวรูปสำริดจากเมืองฝ้าย กับปราสาทปลายบัด และพระกรุประโคนชัย จากเขาปลายบัด 2 จ. บุรีรัมย์ ประติมากรรมสำริดรูปบุคคลขนาดใหญ่ จากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จ. ศรีสะเกษ ขณะที่ดินแดนลุ่มทะเลสาบเขมรแทบไม่พบประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่เลย
นี่คือสิ่งบ่งชี้ว่า อีสานใต้เป็นแหล่งแร่โลหะ เหล็ก สำริด (ทองแดงกับดีบุก) ทำให้เทคโนโลยีด้านโลหการของช่างในที่ราบสูงโคราชเจริญรุดหน้ากว่าช่างในลุ่มทะเลสาบเขมรที่ถนัดงานหินเป็นหลัก
มิสเตอร์ จอห์น กาย (Mr. John Guy) ภัณฑารักษ์แผนกศิลปะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้แทนของ The MET ในพิธีมอบ Golden Boy และประติมากรรมสตรีพนมมือแก่ทางการไทย ให้ข้อมูลว่า The MET ใช้ข้อมูลดังกล่าวพิสูจน์ว่า เหตุใดประติมากรรมสำริด กะไหล่ทอง ซึ่งหล่อด้วยเทคโนโลยีโลหการชั้นสูง จึงเป็น “สมบัติชาติ” ของไทย แทนที่จะเป็นกัมพูชา
จอห์น กาย ให้ความเห็นว่า แม้กัมพูชาจะมีประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่อย่าง “นารายณ์บรรทมสินธุ์” (พระวิษณุอนันตศายิน) ที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา แต่ความโดดเด่นและประณีตถือว่าด้อยกว่า Golden Boy และประติมากรรมสำริดของปราสาทสระกำแพงใหญ่
ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอาวุโสด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา กล่าวไว้ในถ่ายทอดสดเรื่อง “พัฒนาการของบ้านเมืองทางลุ่มน้ำมูลฝั่งใต้” ในเพจ สยามเทศะ โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ สรุปความได้ว่า ดินแดนต้นแม่น้ำมูล (ที่ราบสูงโคราช) รับวัฒนธรรมทวารวดีจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีความเก่าแก่พอ ๆ กับวัฒนธรรมเจนละ ที่เป็นต้นแบบของวัฒนธรรมเขมร โดยทวารวดีและเจนละต่างก็รับวัฒนธรรมจากอินเดียทั้งคู่ แต่ทวารวดีเน้นหนักไปทางพุทธศาสนา ส่วนเจนละเน้นลัทธิฮินดู
ฉะนั้น พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะแถบเมืองพิมาย เมืองเสมา จึงไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 เมื่อกัมพูชาเกิดเป็นราชอาณาจักร มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนคร ต้นแม่น้ำมูลก็ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของเมืองพระนคร แต่มีรัฐอิสระนอก “กัมพูชาเทศะ” ชื่อ ศรีจนาศะ ซึ่งเชื่อว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา จ. นครราชสีมา หลักฐานคือจารึกบ่ออีกา ที่เมืองเสมา มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดี ผู้ร่วมสนทนากับ อ. ศรีศักร ให้ความเห็นว่า การพบประติมากรรมสำริด (ขนาดใหญ่) ในกัมพูชาเพียงชิ้นเดียว คือ นารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก รายละเอียดต่าง ๆ ยังสะท้อนด้วยว่า ความชำนาญในการใช้สำริดไม่เท่าตระกูลช่างในอีสานใต้
ทำให้เห็นความถนัดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของคน 2 กลุ่ม คือ ลุ่มน้ำมูลถนัดงานหล่อโลหะสำริด (สร้าง Golden Boy) ส่วนลุ่มทะเลสาบเขมรถนัดงานหิน
อีกลักษณะเด่นของประติมากรรมสำริดในภาคอีสานคือ ส่วนใหญ่จะเป็นประติมากรรมเนื่องในศาสนาพุทธมหายาน ไม่ใช่เทวรูปฮินดู ความเชื่อหลักชนชั้นปกครองในเมืองพระนคร ซึ่งก็จะย้อนกลับไปที่ข้อสนับสนุนของ อ. ศรีศักร ว่า ที่ราบสูงโคราชเคยอยู่นอกกัมพูชาเทศะ หรือนอกเขตพระราชอำนาจกษัตริย์แห่งเมืองพระนครที่นับถือฮินดู
อย่างไรก็ตาม ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 อาณาจักรพระนครขยายตัวต่อเนื่องเข้ามาในลุ่มน้ำมูล ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เราจึงเห็นการ “ทับซ้อน” ของวัฒนธรรมจากลุ่มทะเลสาบเขมร ครอบทับวัฒนธรรมทวารวดีเก่าในที่ราบสูงโคราชอีกที และปราสาทหินที่ “ผุด” ขึ้นมามากมายในสมัยราชวงศ์มหิธรปุระ ที่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่ามีฐานอำนาจเดิมอยู่ใน “อีสานใต้” หรือที่ราบสูงโคราชนี่เอง
อ่านเพิ่มเติม :
- น่าสงสัย!? ประติมากรรม “โกลเด้นบอย” เก่าแก่กว่ายุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
- ประติมากรรมสำริด “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” จังหวัดศรีสะเกษ คู่แฝด โกลเด้นบอย?
- “อีสานใต้” เบ้าหลอมทางวัฒนธรรม “ทวารวดี-เขมรโบราณ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567