พระราชพิธีพืชมงคล ทำไมใช้ “วัว” ทำนาย ทั้งที่ใช้ “ควาย” ทำนา

จิตรกรรม พิธีแรกนา พระราชพิธีพืชมงคล ใน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
จิตรกรรมพิธีแรกนาขวัญในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

สงสัยกันไหม? ใน พระราชพิธีพืชมงคล หรือพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เหตุใดใช้ พระโค หรือ “วัว” เป็นผู้ทำนาย ทั้งที่สังคมไทยแต่โบราณกาลใช้ “ควาย” ทำนามาตลอด

ในเมื่อควายเกี่ยวข้องกับการทำนาโดยตรง ทำไมไม่ให้สิทธิควายในพิธีสำคัญของวัฒนธรรมเกษตรบ้านเรา เรื่องนี้อธิบายได้จากรากฐานทางความเชื่อที่ประกอบกันเป็นพระราชพิธีพืชมงคล

อนึ่ง พระราชพิธีนี้เป็นประเพณีสำคัญของไทยมาแต่โบราณ จัดทำขึ้นเพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการทำเกษตร อาชีพหลักของคนในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า พืชพันธุ์ธัญญาหารจะเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์

รากฐานของพระราชพิธีพืชมงคลมาจากความเชื่อในพุทธศาสนา ผสมผสานกับพราหมณ์-ฮินดู และความเชื่อเรื่องผี รากเหง้าทางความคิดอันเก่าแก่ในสังคมไทย ข้อสังเกตคือ ใน พิธีแรกนา หรือ ทำนาตาแฮก ที่ชาวบ้านทำกันเอง จะใช้ควายกันเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้วัวอย่างในพระราชพิธี

กล่าวได้ว่า เหตุผลหลัก ๆ ที่ วัว เป็นพระเอกในพระราชพิธีพืชมงคล เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา-ศาสนาฮินดู อธิบายไว้ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12-18 สิงหาคม 2559 ว่า คนฮินดูยกย่องวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนควายไม่ได้รับสถานภาพพิเศษใด ๆ ในสังคม

การที่วัวอยู่ใน พระราชพิธีพืชมงคล แทนที่จะเป็นควาย “อาจเพราะวัวตัว ‘ขาวๆ’ (ต้องขาวด้วยนะครับ) เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์หรือวัฒนธรรมฮินดู แม้พระราชพิธีนี้จะมีรากเหง้าของเราเองคือศาสนาผี (ความเชื่อเรื่องขวัญ) แต่การใช้วัวไถนาเป็นการสร้างภาพความเป็นศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย ซึ่งทำให้พิธีพื้นเมืองของเราดูแกรนด์ขึ้นมา เหมาะจะเป็นพระราชพิธีหรือพิธีหลวง”

พระโคแรกนาขวัญ ทุ่งพระเมรุ สนามหลวง
“พระโค พิธีแรกนา” ณ ทุ่งพระเมรุ หรือสนามหลวง สมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจากเพจ : National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

ควายยังถูกมองจากคนฮินดูเชื้อสายอารยัน (แขกขาว) ว่า เหมือนพวก “ฑราวิฑ” หรือชนพื้นเมืองผิวดำของอินเดีย คัมภีร์พระเวทในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงแทบไม่ให้ความสำคัญใด ๆ กับควาย 

อ. คมกฤช ให้ความเห็นเพิ่มว่า อาจเป็นเพราะควายเป็นสัตว์ในที่ลุ่ม พบมากในเขตศูนย์สูตรที่มีน้ำมาก คือในอินเดียภาคตะวันตกและภาคใต้ ชาวอารยันที่อยู่ทางเหนือจึงไม่คุ้นเคยกับควาย

นอกจากนี้ ควายยังเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย อย่างในตำนานพระแม่ทุรคาทรงสิงห์เสด็จไปปราบอสูรควายชื่อ “มหิษาสูร” ทำให้พระนางได้ชื่อว่า “มหิษาสุรมรทินี” พระแม่ผู้ปราบอสูรควาย หรืออย่าง พระยม เทพแห่งความตายและชีวิตในปรโลก ก็ทรงควายเป็นพาหนะ ควายในคติฮินดูจึงมักจะวนเวียนอยู่กับความไม่เป็นมงคล

อย่างไรก็ตาม บางส่วนในสังคมอินเดียให้ความสำคัญกับควายว่าเป็น “สัตว์บูชายัญที่สำคัญที่สุด” ความเชื่อนี้ปรากฏอยู่ในกลุ่มศาสนาผีตามท้องถิ่น อยู่ในรูปศาสนา “เจ้าแม่” หรือนิกายศักติ พวกเขาจะใช้ควายบูชายัญเจ้าแม่ โดยเฉพาะปางที่ดุร้าย เช่น เจ้าแม่ทุรคา เจ้าแม่กาลี และเจ้าแม่พื้นบ้านอื่น ๆ 

ผู้คนในอุษาคเนย์ก็ฆ่าควายบูชาผีเช่นกัน โดยพบในลาวใต้ ภาคเหนือของไทย และพม่า ซึ่งมีผีนัตเป็นเจ้าแม่หัวควาย หรืออินเดียเองก็มี “เทพควาย” ที่นับถือกันในหมู่ชาวบ้าน ชื่อ มหโสพา (Mhasoba) โดยนับถือโดยทั่วไปในรัฐมหาราษฎร์

ควาย จึงผูกพันกับชาวบ้าน คนรากหญ้า แต่ไร้ศักดิ์ศรี ไม่ศักดิ์สิทธิ์ในมุมมองชนชั้นนำ ซึ่งมองวัวคู่ความกับสูงส่ง แถม “โคนนทิ” ยังเป็นพาหนะของพระอิศวรมหาเทพด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2567